ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

“สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น นับตั้งแต่ข้าพเจ้าส่งรายงายฉบับที่แล้ว (วันที่ 29 กรกฎาคม) และสถานะข้องรัฐบาลชุดใหม่ก็ยังไม่มั่นคง ขณะนี้เกิดการเรียกร้องมากมายจนรัฐบาลต้องหันมาใส่ใจเรื่องนี้โดยเฉพาะ วังปารุสกวัน ที่ทำการของรัฐบาล มีรถถังและรถหุ้มเกราะติดปืนกลเฝ้ารักษาการณ์อยู่ ซึ่งติดตั้งไฟส่องสว่างจำนวนมากในตอนกลางคืนควบคู่ไปด้วย

ความไม่ลงรอยกันภายในคณะรัฐบาลทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับคณะกรรมการราษฎร ซึ่งถูกสภาผู้แทนราษฎรกล่าวหาว่าต้องการใช้อำนาจชี้นำ การวิวาทดังกล่าวเพิ่งเด่นชัดมากขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ เมื่อสัปดาห์ก่อน หนังสือพิมพ์มีชื่อฉบับหนึ่งของสยามถูกสั่งปิดเป็นเวลา 10 วัน (จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม) เนื่องจากตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึง ‘อันตราย 3 ประการ’ (อ้างอิงจากรายงานฉบับที่ 1) เมื่อวานี้ เอกสารราชการฉบับหนึ่งแจ้งว่า หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนั้นได้รับคำสั่งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เปิดได้ หลังจากที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงยอมรับว่า บทความดังกล่าว ‘เขียนด้วยจิตวิญญาณของความรักชาติ ฉะนั้น จึงมิได้มีเจตนาและมิได้เป็นอันตราย’ ต่อความสงบสุขและระเบียบของบ้านเมือง

พระบรมวงศานุวงศ์ ดังที่ข้าพเจ้าเกริ่นไว้ในรายงานฉบับที่แล้ว (รายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932) การต่อต้านพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ยุติลงอย่างสิ้นเชิง การต่อต้านนี้จบลงอย่างคาดไม่ถึง โดยหนังสือพิมพ์ต้นเรื่องตีพิมพ์บทความชิ้นหนึ่งเพื่อขออภัยโทษ (อ้างอิงรายงานฉบับที่ 2 วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475) เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่แท้จริงของชาวสยาม                 

กองทัพ พันเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ศิษย์เก่าโรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส ถูกบังคับให้รับตำแหน่งผู้ช่วยทูตคนที่หนึ่งประจำกรุงวอชิงตัน และให้ออกเดินทางเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา คาดกันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่น่าจะเป็นพลเรือเอก พระยาราชวังสัน ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากกรุงเจนีวา หลังจากปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนในองค์การสันนิบาตชาติ

ชาวจีน พวกเขาเป็นผู้ทำใบปลิวคอมมิวนิสต์ที่แจกจ่ายในวันที่ 1 สิงหาคม (ดูรายงานฉบับที่ 3 วันที่ 13 กรกฎาคม 2475) ข้าพเจ้าไม่ขอเน้นเรื่องนี้ เพราะดูเป็นเรื่องไม่สำคัญนัก เนื่องจากวันที่ 1 สิงหาคม เป็นวันก่อการประท้วงของคอมมิวนิสต์ทั่วโลกอยู่แล้ว และใบปลิวที่แจกจ่ายก็เป็นใบปลิวทั่วไปที่ไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์เฉพาะของสยามแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมา มีการขู่นัดหยุดงาน ซึ่งผู้คนพูดถึงกันอย่างหนาหู ทั้งในหมู่พนักงานไปรษณีย์โทรเลข พนักงานรถไฟ และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ในบรรดาคนงานลากรถซึ่งมีระเบียบวินัยและมีการจัดระบบ และแน่นอน ทุกคนล้วนเป็นคนจีน หลังจากที่มีการประท้วงบางส่วนเป็นเวลาหลายวัน (ขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ)  เมื่อวานนี้ มีการนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานลากรถในบางกอกจำนวน 3,000 คน พวกเขาลากรถมาจอดเรียงรายรอบๆ พระราชวัง ซึ่งเป็นที่ทำการของรัฐบาล หลังจากเจรจากันอย่างเคร่งเครียด รัฐบาลจึงกดดันเจ้าของกิจการรถลาก ซึ่งสามารถเจรจาด้วยง่ายกว่าเจรจากับคนงานลากรถ 3,000 คน  ในที่สุด จึงได้ลดราคาค่าเช่ารถ ทำให้การสัญจรไปมา ‘ราบรื่น’ ตลอดหลายวันหลังจากนั้นตามคำพูดของนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษคนหนึ่ง แต่เช้าวันนี้กลับเข้าสู่สภาพตัดขัดเช่นเดิม เมื่อ ‘ผู้ใช้แรงงาน’ (พันโทอองรี รูซ์ใช้คำว่า proletariat) ได้รับผลประโยชน์ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การประท้วงครั้งนี้จะมีกลุ่มแรงงานอื่นๆเข้าร่วมด้วยในเวลาไม่นาน อย่างที่ข้าพเจ้าเคยบอก เรายืนยันได้ว่ามีชาวจีนอยู่เกือบทุกหนทุกแห่ง ในไม่ช้า พวกเขาก็จะก่อการประท้วงครั้งต่อไปอีก

บทสรุป สถานการณ์ต่างๆยังคงเป็นเหมือนรายละเอียดในรายงานฉบับที่ 29 กรกฎาคม สถานการณ์ยังคงไม่มั่นคงเช่นเดิม”

--------

ความเห็นของผู้เขียน: ใบปลิวคอมมิวนิสต์เดือนกรกฎาคม 2475 อาจจะไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์เฉพาะของสยามตามที่พันโท อองรี รูซ์ให้ความเห็น แต่ใบปลิวอีกสองเดือนต่อมา มีข้อความที่เฉพาะเจาะจงกับสถานการณ์ของสยาม ดังที่ผู้เขียนได้พบข้อความในใบปลิวจากงSiam becomes Thailand: A Story of Intrigue ของ Judith A. Stowe มีข้อความดังนี้:               

“….ใบปลิวแจกในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยามและฝ่ายเยาวชนในคืนวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2475 เป็นข้อความที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย อังกฤษ และจีน โดยข้อความในใบปลิวเริ่มต้นว่า ‘ชาวนา คนงาน และประชาชนผู้ถูกกดขี่ทั้งปวงแห่งสยาม’ รัฐบาลทรราชของประชาธิปกถูกโค่นล้มในคืนเดียวและถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลใหม่นี้เป็นรัฐบาลของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนหรือ ?’  และข้อความในใบปลิวยังได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้ก่อการ (คณะราษฎร) หลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ใบปลิวปิดท้ายว่า 'ลุกขึ้นเถิด ชาวสยาม ! คณะราษฎร นักปฏิวัติจอมปลอมไม่เคยทำประโยชน์อะไรให้เราเลย ชาวรัสเซียเป็นเพียงกลุ่มเดียวในโลกทุกวันนี้ที่มีอิสรภาพและความสุขอย่างแท้จริง เพราะพวกเขาได้กำจัดพระเจ้าซาร์ พวกเจ้าและนักปฏิวัติจอมปลอม และได้ยึดประเทศของพวกเขาไปไว้ในมือของพวกเขาเอง ชาวสยาม ขอให้เราเดินตามรอยพี่น้องของเราในรัสเซีย รวมพลังในการต่อสู้กับกษัตริย์ พวกเจ้า และคณะราษฎร นักปฏิวัติจอมปลอมและจักรวรรดินิยม  และสถาปนารัฐบาลโซเวียตแห่งสยามเพื่อให้เราสามารถมีเอกราชและเสรีภาพอย่างแท้จริง” 

-----------------

ต่อมาเป็นรายงานวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2475

“เป็นเวลา 2 สัปดาห์มาแล้วที่ไม่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น จริงอยู่ที่ว่าอุณหภูมิทางการเมืองขณะนี้ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวเท่าใดนัก หนังสือพิมพ์ก็ทำได้แค่ลงข่าวการตัดสินใจต่างๆของรัฐบาลชุดใหม่โดยไม่มีคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ

ในรายงานสรุปข่าวจากหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงเพียงแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ กรมทหารที่ 6 ซึ่งทหาร 200 นาย ปฏิเสธที่จะกินอาหารเช้า ดูเหมือนว่าข้อเท็จจริงในลักษณะนี้ไม่เคยถูกบันทึกมาก่อนเลยในระบอบการปกครองแบบเก่า แน่นอนว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้สำคัญอะไร แต่อย่างไรก็ควรต้องบันทึกไว้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับกองทัพถือเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน

พระมหากษัตริย์ การตัดสินใจต่างๆของรัฐบาลชุดใหม่มักอ้างว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบแล้ว’ อย่างระมัดระวัง  แต่ดูเหมือนสิ่งต่างๆระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลไม่ได้ดำเนินไปด้วยดีเสมอไป  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่คนหนึ่งบอกข้าพเจ้าเมื่อเร็วๆนี้ว่า เกรงจะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาล เรื่องนั้นแน่นอนเหมือนที่ข้าพเจ้าบอกไว้ก่อนหน้านี้ แม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระทัยสนับสนุนระบอบการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ  แต่ไม่มีวันที่พระองค์จะพระราชทานอภัยโทษให้ผู้ก่อการปฏิวัติ และจะพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่เก็บพวกเขาไว้ นี่ไม่ใช่ประเด็นปัญหาทางการเมือง แต่เป็นปัญหาที่ตัวบุคคลและ ‘หน้าตา’ ที่จะต้องกู้คืนมาให้ได้

พระบรมวงศานุวงศ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตรับสั่งให้นำรถเพียง 3 คันจากรถทั้งหมดของพระองค์ในบางกอกไปมาเลเซีย ขณะนี้ พระองค์เสด็จประพาสชวา และดูเหมือนว่าจะเลื่อนการเสด็จยุโรปอย่างไม่มีกำหนด

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) ซึ่งถูกหนังสือพิมพ์โจมตีอย่างรุนแรง ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว (อ้างอิง รายงานฉบับที่ 29A วันที่ 11 สิงหาคม 2475) ทั้งไม่ถูกควบคุมตัวในวัง และร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำที่สโมสรโรตารี่อย่างเสรีเมื่อไม่กี่วันก่อน”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย.   ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 120-121, 127-128).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อนุทิน” เซ็นประกาศคืนชายหาดเลพัง ปิดตำนานกว่า20ปี หลังกรมที่ดินต่อสู้ยืดเยื้อกับผู้บุกรุก พร้อมคืนพื้นที่สาธารณะให้ชาวภูเก็ต

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่บริเวณชายหาดเลพัง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เปิดกิจกรรม “มหาดไทย มอบความสุข คืนชายหาดเลพัง ให้ชาวภูเก็ต”

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 22: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'โฆษกรัฐบาล' รับถูกทาบทามไปทำงานอื่น ย้ำนายกฯยังไม่ส่งสัญญาณเปลี่ยนตัว

นายชัย​ วัชรงค์​ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเปลี่ยนตัวโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ ว่า​ ตนไม่ขอออกความเห็น เนื่องจากยังไม่ได้มีการสื่อสารอะไรมาถึงตน

'รมต.พิชิต' มั่นใจไม่ใช่คนผิด รับชีวิตมีอุบัติเหตุกันได้ พร้อมขอโอกาสพิสูจน์ตัวเอง

นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า วันนี้ตนปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นวันแรก ซึ่งจากการประชุมครม.วันนี้ ได้มีมติมอบหมายงานสำคัญให้กับตนคือ เป็นผู้ตรวจร่างมติคณะรัฐมนตรี

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 9)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'ธนกร' เชื่อครม.ใหม่เดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนทันที ปัญหาประเทศรอไม่ได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนเชื่อว่า รัฐมนตรีทุกคนมีศักยภาพและประสบการณ์ในการทำงาน