'ไม่พอ' จึงไม่ 'พอเพียง'

เป็นอีกครั้งที่ผู้คนถกเถียงกันเรื่องคำว่า "พอเพียง"

การพูด การแสดงความเห็น หรือแม้แต่การแสดงตลกบนเวที หากรู้ว่าต้องถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ในโลกยุคนี้ สิ่งแรกที่จะต้องมีคือความชัดเจนในเนื้อหา

การเล่าเรื่องอย่างเข้าใจในบริบทของสังคม  

ตามมาด้วยความชัดเจนด้านทัศนคติ 

หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ จะนำมาซึ่งการถกเถียงและบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งอย่างกว้างขวางของผู้คนในสังคมได้

ในโลกยุคที่โซเชียลเป็นปัจจัยที่ ๕ นี้ แม้มีความหลากหลายในแทบทุกเรื่อง แต่หลักๆ แล้ว จุดอ่อนคือการฟัง  การอ่าน และจุดแข็งคือการด่า

ฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตาม จะพูด จะเขียน จะแสดงความเห็น หรือจะแสดงความบันเทิง สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ ความไม่ชัดเจน จนนำไปสู่การตีความที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

กรณี "โน้ส-อุดม" เป็นอีกครั้งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และบางกรณีถึงขั้นชิงชัง

หากบุคคลสาธารณะมีธงตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่พูดคือสิ่งที่ต้องการสื่ออย่างไม่ผิดเพี้ยน ก็เป็นเรื่องพอเข้าใจได้ เพราะปัจจุบันเกิดขึ้นบ่อยครั้งในวงการเมือง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

จนสามารถชี้ได้ว่า ใครไม่ต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใครสนับสนุน

ใครต้องการให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ใครมีความจงรักภักดี

ใครไม่สนใจปัญหาคอร์รัปชัน ใครต่อต้านนักการเมืองโกง

จะว่าไปแล้ว กรณีเดี่ยวสเปเชียล ซูเปอร์ ซอฟต์  พาวเวอร์ ของ โน้ส อุดม ไม่มีอะไรผิดคาด หรือน่าแปลกใจอะไร แต่อย่างใด

เพราะหากฟังตั้งแต่ต้นจนจบ มีชุดความคิดไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มการเมือง ที่อ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่

จึงเป็นเจตนาที่จะให้ผลมันออกมาเป็นเช่นนี้ด้วยซ้ำ

การพูดถึง "โน้ส อุดม" จึงอย่าไปคาดหวังเรื่องความเข้าใจใน ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

หรือแม้กระทั่งความเข้าใจเรื่องคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่

ฉะนั้นการพูดคำว่า "พอเพียง" แม้ฝ่ายสนับสนุนจะอ้างว่าเป็นแค่การแสดง จะอะไรกันนักกันหนา แต่ทั้งคนพูดและคนสนับสนุนก็รู้ดีว่า มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนจำนวนมาก

เพราะการเลี่ยงบาลีไม่พูดตรงๆ เนื่องจากเกรงจะเป็นคดีความ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อความขัดแย้งจนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

หลายประเด็นที่ "โน้ส อุดม" พูด เป็นการจงใจ ที่จะสร้างความคลุมเครือ

อ้างว่าพูดเรื่องตัวเอง แต่เจตนากระทบกระเทียบผู้อื่น

อ้างบริบทในอดีต มาตัดสินปัจจุบัน

คนฟังที่มีแนวความคิดโน้มเอียงไปทางชิงชังรากเหง้าตัวเอง จึงซึมซับได้ง่าย พอๆ กับการกดไลก์กดแชร์โดยไม่สนใจว่าสิ่งนั้นคือข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่

แค่ถูกใจก็เพียงพอแล้ว

เมื่อ "โน้ส อุดม" ไม่ใช่คนกลาง ที่จะมาพูดเรื่อง "พอเพียง" ให้สังคมโดยรวมเข้าใจได้ ก็มีความจำเป็นต้องทำเรื่องนี้

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ นับเป็นพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญที่สุด เพราะประเทศไทยกำลังอยู่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง

 “...ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า  การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัยจริง อาจจะล้าสมัยคนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน  เรียกว่าเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้…”

 “...การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...”

 “...เมื่อปี ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๔๑ ก็ ๒๔ ปีใช่ไหม วันนั้นได้พูดว่า  เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน  พอมีพอกินก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีใหญ่…”

 “…สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน  มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน  จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้ว่าบางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข  ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ  สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง หรือระบบพอเพียง …”

“...แต่ว่าพอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ คำว่าพอ ก็เพียงพอเพียงนี้ก็พอ  ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย...”

 “...มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า  พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข  พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”

 “… ความพอเพียงนี้ก็แปลว่าความพอประมาณ และความมีเหตุผล…”

วิถีเศรษฐกิจพอเพียงอาจอยู่ในวิถีการใช้ชีวิตของใครหลายคน ฉะนั้นจึงเข้าใจได้ไม่ยาก

แต่สำหรับคนไม่เคยมีวิถีพอเพียงในชีวิตอาจเข้าใจไปอีกแบบ

บางคนคิดแค่อยากหนีแรงกดดันที่ถาโถมมารอบตัวจากสังคมเมือง ไปใช้ชีวิตในชนบท

อาจตั้งความฝันว่าไปปลูกผักกินเอง เลี้ยงไก่กินไข่ ไม่ต้องวุ่นวายกับโลกภายนอกมากนัก

จำนวนไม่น้อยทำไม่ได้ เพราะไม่ถนัด ต้องทำงานหนักกว่าที่คิด สุดท้ายกลับเข้าเมืองไปนอนห้องแอร์ กินข้าวในห้าง

แต่อีกจำนวนหนึ่งทำได้สำเร็จ  และค้นพบว่าตัวเองใช้วิถีพอเพียงอย่างไม่ตั้งใจ และเมื่อไปศึกษาหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็สามารถนำไปต่อยอด ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น

"โน้ส อุดม" คงจะเคยเดินหลงอยู่ในเส้นบางๆ นี้แล้วสรุปเอาว่า การที่ตัวเองไม่พอ ก็เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตพอเพียงได้

แล้วไปขยายความต่อว่า "พอเพียง" เป็นแค่การเห่อ ดัดจริต ไม่มีใครทำได้จริง

ฉะนั้นอย่าไปด่าทอ "โน้ส อุดม"

เพราะเป็นบุคคลที่น่าสงสาร

ควรช่วยกันชักนำให้เดินสู่วิถีพอเพียงอย่างถูกต้องมากกว่า

คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรอกครับ

เพราะสุนัขยังฝึกได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประจักษ์ 'นักโทษคดีโกง'

ทำเป็นเล่นไป….. "เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม" อาจได้รักษาการเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไปสักระยะก็เป็นได้

ผู้อยู่เบื้องลึก

ก็ไม่รู้สินะ... "ชัยธวัช ตุลาธน" เป็นคนน่าเบื่อ ให้สัมภาษณ์ทีไร จับทางได้หมดแล้ว

'บุ้ง'ตายใครรับผิดชอบ

มีการตั้งคำถามกันเยอะพอควรแล้วครับ ใคร...ต้องรับผิดชอบต่อการตายของ "บุ้ง ทะลุวัง" และ "บุ้ง" เสียชีวิตเพราะใคร

วันวานบกพร่องโดยสุจริต

เห็นว่าตื่นเต้นดีใจกันยกใหญ่ เครือข่ายแดงอีสานรอพบ "นักโทษชายทักษิณ" ที่จะไปเหยียบแผ่นดินอีสานครั้งแรกในรอบ ๑๘ ปี วันที่ ๒๕ พฤษภาคมนี้

ความตายกับการเมือง

เห็นความเคลื่อนไหวในโซเชียลบางส่วนแล้วไม่สบายใจ ความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สิ่งที่ไม่ควรเกิดคือ การเยาะเย้ย ถากถาง สมน้ำหน้า

ข่าวดีในรอบปี!

วานนี้ (๑๓ พฤษภาคม) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์พระ ๒ รูป