จุดเปลี่ยนผ่านอุตฯยานยนต์

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเริ่มเห็นทิศทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น และเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ทั้งเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย และด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ ทำให้การพัฒนาหนึ่งอุตสาหกรรมยังสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกหนึ่งอุตสาหกรรมได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจต่างๆ

ขณะเดียวกัน ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์เองก็จำเป็นต้องปรับตัว เนื่องด้วยทิศทางของกลุ่มอุตสาหกรรมจะต้องก้าวเข้าสู่อนาคตมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมนั้นทำให้กลุ่มยานยนต์มีโอกาสที่จะปรับการผลิตเข้าไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ได้

และภายใต้นโยบาย ONE FTI ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ดังนั้น ส.อ.ท.จึงมีแนวทางการจัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของยานยนต์สมัยใหม่กว่า 14 กลุ่มอุตสาหกรรม

ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ซึ่งคาดกันว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งซัพพลายเชนต้องปรับตัว โดยส่วนหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ประเด็นสำคัญคือ นอกเหนือจากที่ธุรกิจต้องหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจแล้ว ภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในทุกมิติ ทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต การพัฒนามาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้สินค้าเครื่องมือแพทย์ในประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมกับรองรับอุตสาหกรรมอื่นๆ และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้

โดย 'ยุพิน บุญศิริจันทร์' ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ด้วยบริบทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ประสบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงมีการออกมาตรการที่ชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2573 (ค.ศ.2030) จะมีการขายยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้ลดลง โดยเฉพาะในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ Cluster of FTI Future Mobility-ONE จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย ภายใต้แนวคิด “Strong global production hub with industry transformation” โดยมีข้อเสนอ อาทิ การรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ เตรียมพร้อมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

และที่สำคัญ CFM-ONE ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ระบบราง หรือเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถปรับเปลี่ยนหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เดิมผลิตชิ้นส่วนเพื่อโรงงานผลิตยานยนต์เท่านั้น มาเป็นกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และต่อยอดสู่การผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีความสามารถในแง่การผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้

ด้าน 'สุพจน์ สุขพิศาล' เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านในเชิงต้นทุน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มประกอบธุรกิจที่มีความหลากหลาย เช่น การเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากขึ้น โดยผลิตสินค้าที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน โดยผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอื่น ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น

นี่อาจจะเป็นความโชคดีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่สามารถจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ในอนาคตอันใกล้.

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.

ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า

ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม

เคลียร์ปมสถานีอยุธยา

เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีดเทรนไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พบว่าปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญาคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งปัจจุบันยังมีอีก 2

แจกเงินหวังคะแนน

เก็บตกการประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ตอนแรกก็รอลุ้นโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่ช่วงเช้า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า จะให้ที่ประชุมอนุมัติในวันนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นรอเก้อ เพราะ ครม.ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหาบางประการ

เทรนด์Pet Parentบูมไม่หยุด

คงต้องยอมรับว่า Pet Parent ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น

ปี 67 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหืดจับ!!

ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research