ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research โดยสายงานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้ออกบทวิเคราะห์ “อสังหาฯ ไทยปี 2567 หดตัวหนัก บ้านใหม่เสี่ยงเหลือค้างสูงสุดในรอบ 8 ปี หวังมาตรการใหม่ช่วยพยุง” โดยระบุว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวนี้ได้แก่ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ที่สูงถึง 90% ของจีดีพี
การปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในระดับสูง และการสะสมของสินค้าคงค้าง (inventory) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมถึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงการระดับราคาสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การอิ่มตัวในตลาดสินค้าระดับนี้ในอนาคต
ทั้งนี้จากการคาดการณ์ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจะลดลง 15% หรือประมาณ 3.2 แสนหน่วย ซึ่งเป็นยอดที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะลดลง 8% และในภาคตะวันออกลดลงถึง 11% สาเหตุหลักมาจากการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงเข้มงวด ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2567 มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียมที่มียอดเปิดตัวลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2566 โครงการแนวราบก็มีการชะลอการเปิดตัวด้วยเช่นกัน แต่ลดลงในอัตราที่น้อยกว่า ที่ 3% ตลาดบ้านเดี่ยวมีการเติบโตถึง 60% ในเขตปริมณฑล ขณะที่โครงการทาวน์เฮาส์กลับพบว่ามียอดเปิดตัวลดลงถึง 24% เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มระดับกลาง-ล่างลดลงอย่างชัดเจน!!
KKP Research ระบุว่า ทิศทางการพัฒนาโครงการและความต้องการในปี 2567 นั้น ตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในระดับราคา 5-10 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ในขณะที่บ้านเดี่ยวระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาท เริ่มมีสัญญาณการอิ่มตัว และสินค้าคงค้างของบ้านในระดับนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันทาวน์เฮาส์กลุ่มระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่สูง
ส่วนทิศทางในปี 2568 นั้น KKP Research มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 0.50-0.75% จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางและล่างที่ได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนสูงในช่วงก่อนหน้า และการปรับตัวของภาคบริการที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในปี 2568 จะช่วยสร้างรายได้และกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับภาคบริการในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยว
ขณะที่ การพัฒนาบ้านเดี่ยวในราคาสูงกว่า 20 ล้านบาท อาจเผชิญภาวะอิ่มตัว แต่โครงการบ้านเดี่ยวในราคากลาง ราว 7-15 ล้านบาท จะยังคงเป็นตลาดที่น่าลงทุน ส่วนทาวน์เฮาส์กลุ่มระดับราคากลาง-ล่างยังคงต้องเฝ้าระวัง จากปัญหารายได้ยังปรับไม่ทันกับราคาทาวน์เฮาส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาระหนี้ของกลุ่มผู้ซื้อบ้านราคานี้ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนบ้านแฝดยังสามารถพัฒนาได้ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้น
สอดคล้องกับบทวิเคราะห์จาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ที่มองว่าตลาดที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งด้านอุปสงค์ที่ยังถูกกดดันจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ จนทำให้ Rejection rate อยู่ในระดับสูง รวมถึงด้านอุปทานที่ผู้ประกอบการพยายามรักษาอัตรากำไร ท่ามกลางภาวะต้นทุนการพัฒนาโครงการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันด้านหน่วยเหลือขายสะสม ขณะที่คอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทจะมีโอกาสมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลางและชั้นนอก
ดังนั้น แนวทางการปรับกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการเพื่อแข่งขันดึงดูดกำลังซื้อที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด คือ ให้ความช่วยเหลือผู้ซื้อในการขอสินเชื่อ เช่น ให้ความรู้ คำปรึกษา และวางแผนการเปิดโครงการราคาต่ำอย่างระมัดระวังมากขึ้น เช่น ชะลอการเปิดโครงการในพื้นที่เสี่ยง และเปิดโครงการในทำเลที่มีศักยภาพ ตลอดจนบริหารจัดการต้นทุน และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝุ่นคลุ้ง ควันโขมง
ฤดูหนาว ฤดูฝุ่นเวียนมาอีกครั้ง โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มักจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่นิ่ง ลมอ่อน และอุณหภูมิลดต่ำลง
เศรษฐกิจปี68เติบโตไม่ง่าย ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
สำนักวิจัยหลากหลายสำนัก ฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 นี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน และการเติบโตที่เป็นไปได้มากที่สุดก็อยู่ระดับ 2.7-2.9% ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐบาลมีการวางแผนเอาไว้ว่าจะผลักดันจีดีพีไทยปีนี้โตถึง 3%
ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ
ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’
อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ