ของฝาก 'อุ๊งอิ๊ง-ธรรมนัส'

ทักษิณต้องเคยดูหนังฝรั่งแน่

คงได้ยินตอนตำรวจจับผู้ร้าย ที่เขาบอกผู้ร้ายว่า

"คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่พูด เพราะสิ่งที่คุณพูด จะถูกใช้ปรักปรำคุณในศาลได้"

แล้ววานซืน ใครไม่รู้?!

ให้สัมภาษณ์ที่ "อาคารชินวัตร ๓" แทนลูกสาวเจื้อยแจ้ว ต่อคำถามที่ว่า...ที่ให้สัมภาษณ์นี่ ไม่กลัวเจอข้อหา "ครอบงำพรรคหรือ?"

ก็ตอบโพล่งไปทันทีว่า....

"ไม่มี "ครอบงำ" มีแต่ "ครอบครอง" เพราะ (นายกฯ) เป็นลูกสาวของผม”

อาเมน!

เรื่องโผ ครม.อุ๊งอิ๊ง ที่คาดว่า ไม่ต้องเบ่ง ก็ไหลออกมาเอง ที่ไหนได้ เจอกุมารแฝด "บิ๊กป้อม-ธรรมนัส" ขวางมดลูก

"ตายทั้งกลม" ขึ้นมาละก็ พ่อทักษิณเก๊กซิมตายห่ะ!

ตอนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสร็จใหม่ๆ ท่าน "มีชัย  ฤชุพันธุ์" บอกเป็นรัฐธรรมนูญ "ฉบับปราบโกง"

คนก็ไม่เก็ต จะปราบโกงได้ยังไง?

ตอนนี้...เก็ตแล้วจ้า โดยเฉพาะ สามวงเล็บในมาตรา ๑๖๐ ว่าด้วยคุณสมบัติคนเป็นรัฐมนตรี คือ

 (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

 (๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และ

 (๖) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘

 นี้แหละ เป็นนวัตกรรมรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ปราบโกงได้ ชนิดประสิทธิเม!

ส่งผลให้ "รายชื่อ ครม." อุ๊งอิ๊ง รวมทั้งตัวอุ๊งอิ๊งเอง หนาวแดด แค่เอกซเรย์ เข้าเครื่องสแกน ยังไม่พอ

ต้องเข้าเครื่อง MRI ตรวจกันถึง "ทุกรูขุมขน"

ไม่เพียง "มันคือแป้ง" เจอด่านมาตรฐานจริยธรรม

นายกฯ แพทองธาร ก็น่าจะหมด "เวลาสวรรค์" แล้วตอนนี้

"โจทก์เก่า" ข้อสอบรั่ว, กรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ กำลังเป็น "บิลกรรม" ค้างชำระ

"ครม.แพทองธาร" ติดด่านจริยธรรมซะแล้ว ที่พูดกันมากตอนนี้ ก็ประเด็น "ร.อ.ธรรมนัส" นั่นแหละ

คงจำกันได้ เมื่อปี ๖๓ เพื่อไทยฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัสเรื่องยาเสพติด และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้านคุณสมบัติ

แต่ไม่ได้ให้ศาลวินิจฉัย (๔) และ (๕) ตามมาตรา ๑๖๐ ที่ว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรม

เพื่อเป็น "การศึกษาแนวทาง" ใครจะรอด-ไม่รอด ผมจะยก "คดีเก่า" ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้

และที่ "กฤษฎีกา" เคยให้คำหารือในเรื่องเดียวกันนี้ไว้เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน มาให้ศึกษากัน

เริ่มจากคดีธรรมนัส ปี ๒๕๖๔ "วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา" เคยเสนอเป็นข่าวไว้ ดังนี้

5 พ.ค.64. - ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 51 คน

ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82

ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่?

จากกรณีเคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุด

ว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า คำพิพากษา ย่อมหมายถึงคำพิพากษาของรัฐนั้น ไม่หมายถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

แม้ข้อเท็จจริงผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ก่อนรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

จึงไม่ถือเป็นคำพิพากษาของศาลไทย

ไม่ขาดคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็น ส.ส. หรือ รัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

#วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา #TPchannel

ดูตามนี้ ร.อ.ธรรมนัส ไม่น่ามีปัญหา!

อย่างที่บอก ๕๑ สส.ไม่ได้ให้ศาลฯ วินิจฉัยด้านจริยธรรมตาม (๔) และ (๕) ตามมาตรา ๑๖๐ ว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรม

ทีนี้ ย้อนไป ๔๒ ปี คือเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕

ยุคนั้น ยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ และในรัฐธรรมนูญที่ใช้ ไม่มี "มาตรฐานจริยธรรม" บัญญัติไว้เป็นกฎหมาย

ประเด็น "ทำผิดนอกประเทศ" เป็นปัญหาด้านคุณสมบัติผู้สมัคร สส.เกิดขึ้น

"มหาดไทย" ทำหนังสือไปถึง "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" ให้ตีความ มาตรา ๙๖ (๕) รัฐธรรมนูญปี ๒๕๒๑ ที่ใช้ขณะนั้น

คำถามที่ "มหาดไทย" ส่งไปหารือกฤษฎีกามีความว่า

มท.เห็นว่าการถูกจำคุกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตามมาตรา ๙๖ (๕) น่าจะหมายถึงการถูกจำคุกในประเทศไทย

และรวมถึง "การถูกจำคุกในต่างประเทศ" ด้วย เพราะ

๑.เจตนารมณ์กฎหมายที่กำหนดห้ามบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก ตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไปเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

มูลเหตุ น่ามาจากบุคคลที่เคยถูกจำคุกนั้น ความรู้สึกของคนในสังคมทั่วไป ไม่ยอมรับนับถือ

โดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็น สส.จะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีพร้อมในทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง

แตกต่างกับผู้ที่กระทำผิดโดยประมาท ผู้กระทำผิด ไม่มีเจตนากระทำผิด

หรือความผิดลหุโทษ เป็นความผิดเล็กน้อย มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน

ดังนั้น การที่บุคคลใด เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก

 กฎหมายจึงต้องให้พ้นโทษเกินกว่า ๕ ปี เพื่อให้โอกาสประชาชนได้ติดตามพฤติการณ์ และเพื่อให้ผู้นั้น ได้ปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตน

๒.หากตีความให้การจำคุกตามมาตรา ๙๖ (๕) หมายถึงการจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียว

ย่อมจะเป็นผลทำให้ผู้ที่เคยถูกจำคุกในต่างประเทศมาแล้วใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเป็นประโยชน์

จะทำให้สภาพบังคับตามข้อ ๑. ไม่บังเกิดผลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ลักษณะความผิดบางประเภท

ผู้กระทำผิดได้กระทำลงในต่างประเทศ เป็นความผิดที่บัญญัติเป็นความผิดไว้เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย

เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ฐานลักทรัพย์ ฐานปล้นทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับ "ยาเสพติดให้โทษ" เป็นต้น

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา ยังได้ให้อำนาจศาลไทยในการพิจารณาอรรถคดี

และลงโทษผู้กระทำผิดที่ได้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรในลักษณะความผิดบางประเภทอีกด้วย

ซึ่งพิจารณาได้จาก มาตรา ๗-๑๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้ง สส. ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำคุกในต่างประเทศ ตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป

โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง ๕ ปี ในวันเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำลงโดยประมาทแล้ว

หาก มท.จะวางแนวทางปฏิบัติแก่จังหวัด ไม่ให้รับสมัครบุคคลดังกล่าว โดยถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๙๖ (๕) ของรัฐธรรมนูญ จะถูกต้องหรือไม่ ประการใด?

 จึง "ขอหารือ" สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

และกฤษฎีกาที่ "นายอมร จันทรสมบูรณ์" เป็นเลขาฯ ขณะนั้น ลงนาม ระบุว่า

คณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕ พิจารณาปัญหาดังกล่าว

ฟังผู้แทน "กรมการปกครอง" ชี้แจงแล้ว มีความเห็นว่า

บทบัญญัติดังกล่าว มิได้ระบุว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกของศาลในประเทศใด

และบุคคลดังกล่าว เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม

ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม

 และขัดกับเหตุผลในกรณี เช่น ความผิดอย่างเดียวกัน มีโทษอย่างเดียวกัน ถ้าทำผิดในประเทศ ต้องห้าม ถ้าทำผิดในต่างประเทศ ไม่ต้องห้าม

ฉะนั้น บุคคลใด เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง ๕ ปีในวันเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการถูกจำคุกในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ ก็ต้องถือว่า เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามเจตนารมณ์แห่งมาตรา ๙๖ (๕) ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้ง สส.

ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก ไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศ ตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป

โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง ๕ ปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว

ก็ย่อมถือได้ว่า บุคคลนั้น เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๕) ของรัฐธรรมนูญ

................................

ครับ...ขอย้ำประเด็น "ทำผิดนอกประเทศ" ต้องยึดตามคำตีความศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ที่น่าคิดคือ ประเด็น "จริยธรรม" รัฐธรรมนูญปี ๒๕๒๑ ไม่มี แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มี

และไม่จำกัดกรอบเวลาของการผิดจริยธรรม เช่น กรณีนายพิชิต เรื่องถุงขนมเกิดปี ๒๕๕๑

มีผลให้คนตั้งเป็นรัฐมนตรี ผิด "มาตรฐานจริยธรรม" ในอีก ๑๖ ปีต่อมา!

"ความซื่อสัตย์สุจริต" จากอดีตยันปัจจุบันของ สส.และรัฐมนตรี ต้องเป็นที่ประจักษ์

"ดาวมฤตยู" กระซิบให้ผมเตือนนายกฯ อุ๊งอิ๊ง!

-เปลว สีเงิน

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

 

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'Grab rider ต้วง'

ดู "นาฬิกากรรม" แล้ว ก็อยากบอกว่า.... ช่วงนี้ ใครมีธุระอะไร ก็ไปทำซะให้เสร็จ ยังพอมีเวลา