ไม่เอา 'กิตติรัตน์'

ใครจะมา...

วันนี้แล้วครับ (๔ พฤศจิกายน) ธนาคารแห่งประเทศไทย จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดเป็นประวัติการณ์

ใครจะมานั่งเป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ) คนใหม่แทนที่ "ดร.ปรเมธี วิมลศิริ"

กระทรวงการคลัง ซึ่งก็คือรัฐบาล หรือฝ่ายการเมือง เสนอชื่อ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" อดีตรองนายกรัฐมนตรี  และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อีก ๒ ชื่อที่เสนอจากแบงก์ชาติ

"กุลิศ สมบัติศิริ" อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน

"สุรพล นิติไกรพจน์" นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ และมีเกียรติ เพราะเป็นตำแหน่งที่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยพระมหากษัตริย์

ฉะนั้นจะเลือกกันแบบส่งเดชไม่ได้

คณะกรรมการคัดเลือก ชื่อเต็มคือ คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ลงนามแต่งตั้งคือ "พิชัย ชุณหวชิร" รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน มีทั้งสิ้น ๗ คน

๑.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

๒.นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

๓.นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

๔.นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

๕.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

๖.นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

๗.นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

หากมองในมุมการเมืองมีเป้าหมายแทรกแซงแบงก์ชาติ ก็นับว่ามีข้อกังวลตั้งแต่ยกแรก

เพราะการเมืองสั่งได้

ฉะนั้นความไม่สบายใจเรื่องที่ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" คือหนึ่งในเบี้ยบนกระดานของคนที่ครอบงำรัฐบาล จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

หาก "กิตติรัตน์" ได้รับเลือกเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หายนะจะเกิดขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย

เพราะทั้งรัฐบาลระบอบทักษิณ และตัว "กิตติรัตน์" เอง ต่างก็มีแนวคิดแทรกแซงแบงก์ชาติมาแต่ไหนแต่ไร

ที่จริงก็ประหลาดใจอยู่เล็กน้อย ที่ "เศรษฐา ทวีสิน" เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า            

"...คุณกิตติรัตน์ คงไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว..."

ตำแหน่งอะไร?

เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน)

ลักษณะต้องห้ามการเป็นบอร์ดแบงก์ชาติ

เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมือง สังเกตคำว่า "ของ" 

เหมือนกรณีที่ "มาดามแพ" ตั้ง "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" มาช่วยงาน ในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่รับเงินเดือนราชการ 

รับเงินเดือนระบอบทักษิณหรือเปล่าไม่รู้!

แต่ก็เป็นการเปิดตำแหน่งเพื่อนำคนมาทำงานการเมือง

"กิตติรัตน์" เองก็พ้นตำแหน่งไปพร้อมกับ "เศรษฐา" เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง

ทำงานการเมืองโดยไม่นับเป็นตำแหน่งทางการเมือง เพราะเลี่ยงบาลี ใช้ตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

ไปดู "ดร.ปรเมธี" กันหน่อยว่าก่อนมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติในรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนั้น มาอย่างไร

ประสบการณ์การทำงาน ๕ ปีย้อนหลัง

๒๕๖๓ กรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการอำนวยการ สำนักงานธนานุเคราะห์

๒๕๖๑-๒๕๖๓                 ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

๒๕๕๘-๒๕๖๑                 เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดูแล้วมีเสื้อพรรคการเมืองแปะอยู่ที่หน้าผากหรือเปล่าครับ

แล้วเทียบกับ "กิตติรัตน์"

เห็นภาพชัดเจนใช่มั้ยครับ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง ขณะนั้นนายกฯ ยังชื่อเศรษฐา ส่วน "กิตติรัตน์" ก็เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ได้กาหัวแบงก์ชาติ เพราะไม่ดำเนินนโยบายให้ตรงกับความต้องการของรัฐบาล

 “...ในเมื่อแบงก์ชาติมีหน้าที่กำกับดูแลแบงก์พาณิชย์ ก็ต้องไปกำกับ ไม่เช่นนั้นก็ถือว่าผิด เพราะวันนี้ถือว่าได้เตือนไว้แล้ว...”

เห็นความยิ่งใหญ่ของ "กิตติรัตน์" หรือยังครับ

หน้าที่ของบอร์ดแบงก์ชาติ คือควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดําเนินการของแบงก์ชาติ อำนาจค่อนข้างมาก

ชี้เป็นชี้ตายแนวทางของแบงก์ชาติได้

กำหนดตัวบุคคลผู้จะเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติได้

ฉะนั้นหากรัฐบาลเพื่อไทยสามารถคุมแบงก์ชาติได้เบ็ดเสร็จ หายนะจะยิ่งกว่ารัฐบาลทักษิณกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์รวมกัน

อนาคต "มาดามแพ" อาจต้องไปเลี้ยงลูกต่างประเทศ

สวนทางกับ "ทักษิณ" อ้างกลับไทยเพื่อเลี้ยงหลาน

แต่กลับสร้างความวิบัติให้ลูกสาว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงเวลาของ 'บุญทรง'

"กูพูดไม่ได้" คนที่พูดประโยคนี้ออกจากคุกแล้วครับ และจะพ้นโทษ ๒๑ เมษายน ๒๕๗๑

ก็เลี้ยงหลานไง!

อย่าเพิ่งเบื่อ กับการเขียนถึง MOU 44 ซ้ำแล้วซ้ำอีกนะครับ เพราะผลกระทบจะมากกว่าการเสียเขาพระวิหาร

ถึงคิว 'แพทองธาร'

งานงอก! เริ่มต้นจากข้อเขียนของ "คำนูณ สิทธิสมาน" เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ มาตรา ๑๗๘