เลื่อนอีกแล้วครับ...
คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่เคาะชื่อ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
เลื่อนไปว่ากันอีกครั้ง ๑๑ พฤศจิกายน
ให้เหตุผลว่า ต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วน เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
เป็นเรื่องดีครับ ต้องถี่ถ้วน เพราะหากได้คนที่ฝ่ายการเมืองสั่งซ้ายหันขวาหันได้ แบงก์ชาติก็จะกลายเป็นแบงก์ชินไปทันที
หากเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต คณะกรรมการคัดเลือกฯ เองก็ต้องรับผิดชอบด้วย จะเลือกแล้วก็แล้วกันคงไม่ได้
มีข่าวว่ากระทรวงการคลังจะเปลี่ยนตัว จาก "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เป็น "พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์"
ถ้าเป็นจริงก็สาธุครับ!
"พงษ์ภาณุ" เป็นใคร?
ประวัติคร่าวๆ มีความห่างจากการเมืองมากกว่า "กิตติรัตน์" ชนิดกลับหลังหัน ๓๖๐ องศา
เมื่อปี ๒๕๔๔ คณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีคำสั่งโยกย้าย จากอธิบดีกรมสรรพสามิตไปเป็น "รองปลัดกระทรวงการคลัง"
วิจารณ์กันให้แซ่ดครับ คำสั่งโยกย้ายดังกล่าว เป็นผลมาจากการยึดทรัพย์ ๔.๖ หมื่นล้านบาทของ "ทักษิณ ชินวัตร" ขณะที่ "พงษ์ภาณุ" ยังนั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง
เป็นการชำระบัญชีแค้น!
ประวัติการทำงานของ "พงษ์ภาณุ" ถือว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน
ปี ๒๕๕๘ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง
เป็นกรรมการบริษัท ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ประธานกรรมการบริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด
กรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
กรรมการบริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ปี ๒๕๖๑ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธานกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย และเป็นกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
แต่ก็ลาออกจากตำแหน่ง ขณะยังเหลืออายุราชการอีก ๑๐ เดือน ไปร่วมงานกับกลุ่มไทยเบฟฯ
"...เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน จึงคิดว่าก็ต้องสร้างมาตรฐานนี้ไว้ ก็ต้องเลือกว่าจะทำเอกชนหรืออยากจะทำราชการ ไม่ใช่ทำทั้ง ๒ อย่าง..."
นี่คือเหตุผลการลาออกของ "พงษ์ภาณุ"
ทัศนคติแบบนี้กับ ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เมื่อเทียบกับ "กิตติรัตน์" แล้วถือว่าผ่าน
แต่...จะเปลี่ยนตัวจริงหรือไม่ หรือแค่สับขาหลอก ไปลุ้นกันวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน อีกทีครับ
เห็น "สหายอ้วน" นั่งยันนอนยันเป็นครั้งที่ร้อยว่า "เกาะกูด" เป็นของไทย ล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางเป็นของกัมพูชาไปได้
ก็เห็นด้วยครับ
มันเป็นไปตามนั้น
ย้อนอดีตกันสักนิด
การจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาทางบกได้นำมาใช้กับการกำหนดเขตทางทะเล ตามสนธิสัญญาฟรังโก-สยาม ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ที่ให้เกาะกูดอยู่ในเขตแดนไทย
แต่กัมพูชาถือว่าเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา คือ เส้นแนวเล็งจากหลักเขตแดนที่ ๙๓ ผ่านยอดสูงสุดของเกาะกูดตรงออกไปในทะเล
ซึ่งกินพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area: JDA) ที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่
และล้ำเส้นเขตแดนของไทยเข้ามาด้วย
จึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน
กัมพูชาตั้งใจให้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่แรกแล้ว
ขณะที่ไทยต้องวิ่งตามแก้ปัญหาเขตแดนที่กัมพูชาเป็นคนเปิดเกม
การเจรจาปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๒-๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ ณ กรุงพนมเปญ โดยแสดงท่าทีทางกฎหมายและแนวคิดในการกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเล
ต่อมาได้หยุดชะงักลง เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในของกัมพูชา
เจรจาครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๓๗ ผลการดำเนินการยังไม่ได้ข้อยุติ มาจนถึงปัจจุบัน
การพัฒนาร่วมในบริเวณพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อน โดยกำหนดให้มีการดำเนินงานด้านเทคนิคในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดอาณาเขตทางทะเล เพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเต็มประสิทธิภาพร่วมกัน ไทยและกัมพูชา ได้ร่วมพิจารณาแต่งตั้ง "คณะกรรมการเทคนิคไทย-กัมพูชา"
จัดประชุมครั้งแรกขึ้น เมื่อ ๖-๗ ธ.ค. ๔๔ โดยกำหนดเขตทางทะเลต่อจากหลักเขตที่ ๙๓ บ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา
การเจรจาครั้งหนึ่ง "ทักษิณ" เดินทางไปกัมพูชาด้วยตัวเอง
นั่นคือ...เดือนสิงหาคม ๒๕๔๙ ก่อนการรัฐประหาร "ทักษิณ" ไปเจรจาเพื่อแสวงประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ในการสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
ข้อเสนอที่วางบนโต๊ะคือ แบ่งพื้นที่ทับซ้อนเป็น ๓ เขต
พื้นที่ตรงกลางใช้สัดส่วน ๕๐:๕๐ กัมพูชายอมรับข้อเสนอดังกล่าว
ส่วนเขตด้านซ้ายและด้านขวากัมพูชาเสนอสัดส่วน ๙๐:๑๐ ขณะที่ไทยเสนอ ๖๐:๔๐
ครั้งนั้นไม่สำเร็จ
มาถึงรัฐบาลแพทองธาร ดูจะเร่งรีบเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับกัมพูชา ครั้งนี้อาจจะต่างออกไป
ปัจจุบัน "ทักษิณ" กับ "ฮุน เซน" มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกว่าในอดีตมากนัก
ภาพในวันที่ "ทักษิณ" กลับบ้านจันทร์ส่องหล้าก็อธิบายเรื่องนี้ได้แจ่มชัดแล้ว
ยืนยันตาม "สหายอ้วน" อีกครั้งครับ...
วันนี้เกาะกูดเป็นของไทย
การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก่อนที่จะรู้ว่าพื้นที่ที่ถูกระบุว่า "ทับซ้อน" เป็นของใคร อาจเป็นหลักฐานมัดให้ไทยเสียเปรียบในอนาคต
ระวังขั้นตอนการเจรจาเพื่อตกลงในเรื่องเขตแดนและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา อาจถูกแทรกแซงจากอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ ที่มีท่าทีหรืออยู่เบื้องหลังการให้การสนับสนุนฝ่ายกัมพูชา เหมือนกรณีปราสาทพระวิหาร
มหาอำนาจต้องการแสวงประโยชน์ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวไม่แพ้ไทยและกัมพูชา
เพราะมหาอำนาจหากินไปทั่วโลก
มาเลเซียเสียเกาะปูเลา บาตู ปูเต๊ะ ให้สิงคโปร์ ทั้งที่มาเลเซียเป็นผู้สืบทอดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่เคยเป็นของรัฐสุลต่านยะโฮร์
แต่ศาลโลกตัดสินให้เป็นของสิงคโปร์ อ้างหลักฐานสิงคโปร์ได้เป็นผู้ดูแลประภาคารฮอร์สเบิร์กซึ่งตั้งอยู่บนเกาะนี้มาเป็นเวลากว่า ๑๓๐ ปี
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ เพิ่งกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1960 นี่เอง
มาเลเซียเจ็บช้ำน้ำใจมากเพราะโยงไปถึงอังกฤษเจ้าอาณานิคมที่ยืนข้างสิงคโปร์
ย้ำอีกครั้ง วันนี้เกาะกูดเป็นของไทย
วันข้างหน้าก็ต้องเป็นของไทย
หากวันหนึ่งมีนักการเมืองไทยเสียเหลี่ยมกัมพูชา ทำให้เกาะกูดพ้นจากการครอบครองของไทย ต้องสาปแช่ง ๗ ชั่วโคตร
อย่าได้เกิดเป็นคนอีก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ช่วยนักโทษหนีคุก
"เฒ่าโจ" ช่างร้ายกาจมาก... ข่าวต่างประเทศที่อื้อฉาวที่สุด ณ วินาทีนี้ คงหนีไม่พ้น "โจ ไบเดน" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามอภัยโทษให้ "ฮันเตอร์ ไบเดน" ก่อนการฟังคำพิพากษา คดีซื้อปืนผิดกฎหมาย และเลี่ยงภาษี ช่วงกลางเดือนนี้
ถึงเวลาของ 'บุญทรง'
"กูพูดไม่ได้" คนที่พูดประโยคนี้ออกจากคุกแล้วครับ และจะพ้นโทษ ๒๑ เมษายน ๒๕๗๑
เสียค่าโง่ให้กัมพูชา
ดีครับ... เอา MOU 44 เข้าไปถกในสภาฯ
ก็เลี้ยงหลานไง!
อย่าเพิ่งเบื่อ กับการเขียนถึง MOU 44 ซ้ำแล้วซ้ำอีกนะครับ เพราะผลกระทบจะมากกว่าการเสียเขาพระวิหาร
'เพ็ญแข'อธิบาย'ส้ม'
ถึงกับ...ลิ้นพัน! "คุณเพ็ญแข" หาลงทาง กลายเป็นทัวร์ลงซะงั้น
ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่
ลุกเป็นไฟในโซเชียลครับ... กับคำพูดของ "จักรภพ เพ็ญแข"