หรือการขยายตัวของ NATO คือการต้อนรัสเซียเข้ามุม?

การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจสั่งทหารเข้าบุกยูเครนครั้งนี้มีความเห็นจากด้านที่เข้าใจวิธีคิดวิเคราะห์ของผู้มีอำนาจในรัสเซียว่าเป็นความผิดของ NATO เองที่ขยายสมาชิกมาประชิดติดรัสเซียจนทำให้ปูตินต้องเปิดศึก

รัสเซียอ้างมาตลอดว่าองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ North Atlantic Treaty Organization นั้นควรจะสลายตัวไปตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปเมื่อปี 1991 แล้ว

เพราะ NATO ถูกตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1949 (เพียง 4 ปีหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2) เพื่อสกัดอิทธิพลของสหภาพโซเวียต

แต่แทนที่จะลดบทบาทของตัวเองหรือหันมาคบหากับรัสเซียเพื่อช่วยกันเสริมสร้างสันติภาพในยุโรป ผู้นำสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกกลับรวมหัวกันผนึกกำลังเพื่อขยายนาโตให้เข้าไปครอบคลุมยุโรปตะวันออก

เหมือนต้อนรัสเซียให้เข้ามุม

NATO ได้เพิ่มสมาชิกใหม่ 8 ครั้ง นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1949 เพื่อรวมสมาชิก 12 ประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้งนาโต

นั่นคือ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

นั่นคือช่วงของ "สงครามเย็น" ที่แบ่งโลกเป็น 2 ขั้วระหว่างรัฐทุนนิยมของยุโรป ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และรัฐคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต

เป็นจังหวะที่โปรตุเกสภายใต้การนำของ Antonio Salazar ให้เข้าร่วม NATO

และเปิดทางให้รัฐบาลต่อต้านคอมมิวนิสต์ของกรีซและตุรกีเข้าร่วม NATO ในปี 1952

กรีซระงับสมาชิกภาพความเป็นนาโตในปี 1974 เนื่องจากการรุกรานไซปรัสของตุรกี แต่ก็ย้อนกลับเข้าร่วมในปี 1980 ด้วยความร่วมมือของตุรกีเอง

อนุสัญญากรุงบอนน์-ปารีสยุติการยึดครองเยอรมันตะวันตกของฝ่ายพันธมิตร และบางส่วนได้ให้สัตยาบันโดยมีเงื่อนไขว่าเยอรมันตะวันตกเข้าร่วมกับนาโต ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1955

แม้แรกๆ จะค่อนข้างถูกโดดเดี่ยว แต่สเปนภายใต้การนำของฟรานซิสโก ฟรังโก ก็ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน และผูกพันตามข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศตามปกติกับกลุ่มประเทศนาโต

หลังจากเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย สเปนก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ในยุโรปเป็นปกติ รวมถึงการเข้าร่วมกับ NATO ซึ่งทำได้ในปี 1982

การลงประชามติในปี 1986 ได้ยืนยันการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในการเข้าร่วมนาโต

หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง เยอรมันตะวันออกกับตะวันตกรวมชาติก็เกิดคำถามใหญ่ว่านาโตจะขยายสมาชิกไปทางตะวันออกหรือไม่อย่างไร

สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นแกนสำคัญของกลุ่ม Warsaw Pact ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อยันกับ NATO ล่มสลายในปี 1991 (กำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 1989)

มีคำถามว่า NATO ยังจำเป็นต้องมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะศัตรูหมายเลข 1 คือสหภาพโซเวียตแตกกระจายหรือเพียงรัสเซียเท่านั้น

การถกแถลงเป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นในทุกวงการของโลกตะวันตกว่าควรจะลดบทบาทของ NATO หรือควรจะฉวยโอกาสนี้ขยายอิทธิพลของโลกตะวันตกเข้าไปสู่ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ฝ่ายที่เห็นว่าควรจะต้องขยาย NATO แทนที่จะหดตัวได้ชัยชนะในการกำหนดทิศทาง

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ปูตินอ้างว่ายุโรปตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐฯ พยายามจะขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกเพื่อจะทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศที่อ่อนแอและหมดสภาพในที่สุด

ในปีที่สหภาพโซเวียตล่มสลายนั้น ปูตินเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยราชการลับ KGB ของรัสเซียที่เมืองเดรสเดน

ปูตินพูดให้ประชาชนได้ยินบ่อยๆ ว่าวันที่เขาได้รับรู้ข่าวการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้นเป็นวันแห่งความผิดหวังที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

และ "ความแค้น" ครั้งนั้นยังฝังลึกอยู่ในความคิดของเขาจนได้เป็นผู้นำสูงสุด...อันเป็นจังหวะที่ทำให้เขาตัดสินใจบุกยูเครนเพื่อ "ทวงคืน" ศักดิ์ศรีของ "จักรวรรดิโซเวียต" อันยิ่งใหญ่ในอดีต

ยูเครนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง "หอกข้างแคร่" ของการขยายอิทธิพลของนาโตที่จะมาคุกคามรัสเซีย

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นาโตก็ขยับตัวขยายสมาชิกภาพไปทางตะวันออกต่อ

ปี 1999 โปแลนด์, ฮังการีและสาธารณรัฐเช็กเข้าร่วมนาโต

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบรรดาสมาชิกนาโตเอง

รัสเซียวันนั้นแสดงจุดยืนต่อต้านอย่างแรง แต่ก็ไร้ผล

ต่อมาอีก 7 ประเทศในยุโรปกลางและตะวันออก คือ บัลกาเรีย, เอสโตเนีย, ลัทเวีย, ลิทัวเนีย, โรมาเนีย, สโลวาเกียและสโลวาเนียก็เข้าร่วมนาโต

ตามมาด้วยมอนเตเนโกรและมาซิโดเนียเหนือ

ปีที่แล้วนี่เอง นาโตก็ตั้งแท่นจะเชิญอีก 3 ประเทศ คือ บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา, จอร์เจียและยูเครน

ยูเครนกลายเป็นประเด็นใหญ่สำหรับรัสเซีย เพราะเมื่อปี 2014 รัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครน

และ 2 แคว้นทางตะวันออกของยูเครนที่ประกาศขอแยกตัวออกจากยูเครนก็แสดงความสนิทสนมกับรัสเซียเป็นพิเศษ

ปูตินพูดถึงยูเครนทีใดก็จะตอกย้ำประวัติศาสตร์ที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียตลอด ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์, การเมืองหรือความมั่นคง

หากยูเครนเข้านาโต รัสเซียจะรู้สึกถูกคุกคามทันที เพราะนั่นแปลว่าทหารและอาวุธร้ายแรงของนาโตสามารถมาจ่อคอหอยของรัสเซียทันที

ขณะนี้ยังมีการพูดกันว่าสวีเดน, ฟินแลนด์และเซอร์เบียอาจจะกำลังพิจารณาขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตด้วย

ปูตินออกมาเตือนหลังจากส่งทหารบุกยูเครนแล้วว่า ถ้าฟินแลนด์และสวีเดนเข้านาโต ยุโรปจะเข้าสู่สภาวะไร้เสถียรภาพ

ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ยกเว้นจะบอกว่านี่คือการขู่รอบใหม่จากปูตินว่า...หากฟินแลนด์และสวีเดนไม่เชื่อก็ลองดู...ชะตากรรมจะเหมือนยูเครน!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป