สธ. เผยประสิทธิภาพวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันเสียชีวิต 98% ส่วนเข็ม 4 ยังไม่พบผู้เสียชีวิต

21 มี.ค. 2565 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 14 วันอยู่ที่ 23,540 ราย โดยผู้ป่วยรุนแรงที่มีปอดอักเสบอยู่ที่ 1,464 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 514 ราย เสียชีวิตรายงานวันนี้ 88 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยปอดอักเสบไต่ลำดับต่อเนื่องมาจาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์เช่นกัน รวมทั้งตัวเลขเสียชีวิต เป็นที่ทราบกันดีว่า จำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจะมีระยะเวลาตามหลังจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นที่คาดไว้ และอยู่ในระดับที่รับมือได้ในกราฟเส้นสีเขียว

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ 88 ราย เป็นชายและหญิงอย่างละ 44 ราย โดยมีปอดอักเสบรุนแรง 74 ราย ไม่ระบุปอดอักเสบ 14 ราย โดยกลุ่ม 608 อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังสูงถึง 94% หรือ 83 ราย ซึ่งสิ่งที่ต้องย้ำคือในตัวเลข 88 ราย ปรากฎว่าไม่ได้รับวัคซีนถึง 46 ราย หรือ 52% ทั้งที่ในประเทศไทยได้วัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 80% เข็มที่ 2 ก็ใกล้ๆกัน ซึ่งที่ยังไม่ได้ฉีดก็น่าจะประมาณ 20% แต่คนที่เสียชีวิตสูงถึง 50กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งน่าเสียดายที่ขาดโอกาสได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิผล จึงต้องขอให้มาฉีดวัคซีนกัน ส่วนการฉีดวัคซีนไม่ครบ หรือรับ 1 เข็ม มี 7 ราย หรือ 8% จากผู้เสียชีวิตวันนี้ 88 ราย

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้เสียชีวิตข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 มี.ค.65 จำนวน 2,464 ราย พบเป็นผู้สูงอายุเฉลี่ย 73 ปี แต่ยังมีคนอายุน้อยเช่นกัน น้อยสุดคือ 3 เดือน อายุมากที่สุด 107 ปี โดยมีผู้เสียชีวิตที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ด้วยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่สำคัญต้องเน้นย้ำ สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีโรคประจำตัวมีถึง 2,135 ราย โดยโรคที่เจอมากสุด คือ ความดันโลหิตสูง รองลงมา เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคอ้วน ภาวะอุดกั้นปอดเรื้อรัง

“ผู้เสียชีวิตมีความเสี่ยงการรับเชื้ออย่างไรนั้น พบว่า สัมผัสผู้ติดเชื้อ แต่ชี้ไม่ได้ชัดเจนว่า ติดจากใคร เนื่องจากโอมิครอนติดเชื้อง่าย บางทีหาอาการยาก ได้แต่ประวัติว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จึงต้องมีมาตรการอื่นๆ อย่างการฉีดวัคซีนป้องกัน ดังนั้น ขอย้ำว่า ภาพรวมของผู้เสียชีวิต 57% ไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนฉีด 2 เข็มมีประมาณ 31% เพราะเวลาฉีดวัคซีนวงกว้าง บางท่านมีโรคประจำตัว มีเหตุอย่างอื่น วัคซีนก็ไม่ได้ป้องกันเต็ม 100% แต่ถือว่าใกล้เคียง และป้องกันการเสียชีวิตได้มาก" นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า กรณีปอดอักเสบกำลังรักษาในรพ. ระลอกเดือนม.ค.2565 วันที่ 14 มี.ค.-20 มี.ค. พบว่า กรุงเทพมี 193 รายที่ปออักเสบต้องนอนรพ. นอกนั้นจะต่ำกว่า 100 ราย ทั้งสมุทรปราการ 87 ราย นครราชสีมา 61 ราย และนครศรีธรรมราช 57 ราย อย่างไรก็ตาม อัตราการครองเตียงภาพรวมของประเทศอยู่ที่ 25.80% ซึ่งยังมีเตียงว่างอยู่อีกกว่า 75% จึงมีความพร้อมในการรองรับผู้ที่มีอาการหนักได้มากพอสมควร โดยกรุงเทพฯมีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 31.40% สมุทรปราการอัตราครองเตียง 44% เป็นต้น

นพ.เฉวตรสรร ยังกล่าวว่า สำหรับการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับคณะทำงานติดตามประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโรคโควิด และคณะทำงานวิชาการ โดยพบว่า ข้อมูลในจ.เชียงใหม่ จะพบว่า การระบาดช่วงแรกๆ ตั้งแต่ ต.ค.2564 อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุยังไม่มาก แต่ค่อยๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. โดยเดือน ก.พ.2565 คนสูงอายุเมื่อเทียบกับคนเสียชีวิตทั้งหมดสูงถึง 89.5%

อย่างไรก็ตาม ผลเบื้องต้นจากการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนโควิดที่จ.เชียงใหม่ เมื่อตั้งแต่เดือนม.ค.และก.พ.2565 ในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน ดังนี้ กรณีฉีดวัคซีน 2 เข็มในช่วงเดือน ม.ค. 65 และก.พ.65 ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้ กรณีฉีดวัคซีน 3 เข็ม ในเดือนม.ค. 65 ป้องกันติดเชื้อ 68% และเดือน ก.พ.ป้องกันได้ 45% กรณีฉีดวัคซีน 4 เข็ม เดือน ก.พ.ป้องกันได้ 82% แต่จุดสำคัญคือ ป้องกันการเสียชีวิต

ในส่วนตัวเลขการป้องกันการเสียชีวิต ดังนี้ กรณีฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในเดือน ม.ค. ป้องกันการเสียชีวิต 93% และเดือนก.พ. 85% กรณีฉีดวัคซีน 3 เข็ม ในเดือน ม.ค.ป้องกันการเสียชีวิตได้ 98% และเดือนก.พ. ได้ 98% กรณีฉีดวัคซีน 4 เข็ม ยังไม่มีผู้เสียชีวิตในผู้ที่ได้วัคซีน 4 เข็ม

นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขผลเบื้องต้นการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงระดับประเทศ ของเดือน ม.ค.2565 พบว่า การป้องกันการติดเชื้อหากฉีด 2 เข็ม ป้องกันได้ 4.1% ซึ่งต่ำมากเหมือนไม่ป้องกัน ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ 56% และ 4 เข็มป้องกันได้ 84.7% แต่หากป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต เมื่อฉีดวัคซีน 2 เข็ม 54.8% หากฉีด 3 เข็ม 88.1% แต่กรณีป้องกันการเสียชีวิตพบว่า 2 เข็ม ป้องกันได้สูงถึง 79.2% ส่วนหากฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 87%

"วัคซีนเข็ม 3 จึงป้องกันการเสียชีวิตได้มาก ประชาชนอาจมีข้อสงสัยลังเล หรือไม่แน่ใจว่า ควรแนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในผู้สูงอายุหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากมีการสื่อสารข้อมูลถูกต้องจะช่วยชีวิตคนได้ แต่หากข้อมูลไม่ถูกต้อง อาจทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงวัคซีน และมี 50-60% ของผู้เสียชีวิตที่พลาดโอกาสการรับวัคซีนตรงนี้" นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า

นอกจากนี้ เรื่องความเชื่อที่ว่า ผู้สูงอายุอยู่บ้าน ไม่ไปไหนคงไม่เสี่ยง แต่ความจริง ปัจจุบันติดต่อกันง่ายมาก การอยู่บ้านมีหลายคนเข้าออกตลอด คนที่อยู่บ้านย่อมติดเชื้อได้ อย่างการระบาดระลอกปัจจุบันประมาณ 80% ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 60% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 29% ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น รวมทั้งข้อสงสัยว่า ญาติอายุมากแล้วฉีดวัคซีนจะอันตรายหรือไม่ ความจริงคือ ไทยฉีดไปแล้วมากกว่า 120 ล้านโดส ยืนยันได้ว่าปลอดภัย ซึ่งหากฉีดแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ ก็มีระบบในการดูแลเช่นกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

เร่งทำงานหนัก 'ชลน่าน' ลงพื้นที่ปัตตานีพาหมอไปหาประชาชนฯ

หมอชลน่านลงปัตตานีเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จัดคลินิกคัดกรองความผิดปกติบนใบหน้าและมือเด็ก ช่วยเข้าถึงการผ่าตัดแก้ไขปัญหา

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

รัฐบาล อวดผลสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกที่ใน 8 จว.นำร่อง ลั่นลดความเหลื่อมล้ำ

โฆษกรัฐบาล อวด ความสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกที่ ใน 8 จังหวัด ระบุ นายกฯ มุ่งมั่นดำเนินการขยายผลให้บริการด้านการสาธารณสุขต่อเนื่อง

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด