'นพ.ธีระ' ยกผลวิจัยชี้ติดเชื้อซ้ำมีโอกาสป่วย-ตายมากกว่าปกติ!

หมอธีระยกผลวิจัยเมืองมะกันเตือนสติคนไทย บอกการติดเชื้อซ้ำจะมีโอกาสป่วยและตายมากขึ้น จึงต้องเตือนตัวเองยังคงการ์ดสูงไว้

22 มิ.ย.2565 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 652,215 คน ตายเพิ่ม 1,048 คน รวมแล้วติดไป 545,539,140 คน เสียชีวิตรวม 6,342,957 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส บราซิล อิตาลี และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 77.49 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 60.01

...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

..."การติดเชื้อซ้ำ จะมีโอกาสป่วยและตายมากขึ้น"... เป็นผลการวิจัยที่หมอและแวดวงวิชาการอยากรู้มานาน เพราะต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและติดตาม

Al-Aly Z และคณะจาก Washington University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาเรื่องผลของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ซ้ำ โดยเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มีการติดเชื้อโรคโควิด-19 ซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป จำนวน 38,926 คน กับกลุ่มที่ติดเชื้อครั้งแรกจำนวน 257,427 คน และกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อเลยจำนวน 5,396,855 คน และประเมินดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากนั้น ว่ามีอัตราการเสียชีวิต การเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงอัตราการเกิดความผิดปกติของอวัยวะหรือระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจและหลอดเลือด การแข็งตัวของเลือด ทางเดินอาหาร ไต เบาหวาน เหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย กระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และภาวะทางจิตเวช ซึ่งภาวะผิดปกติเหล่านี้จัดเป็นกลุ่มอาการที่เราทราบกันดีว่าคือ Long COVID หรือ Post acute COVID syndrome

ผลการศึกษาพบสาระสำคัญดังนี้

การติดเชื้อซ้ำจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ มากขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับการติดเชื้อครั้งเดียว

การติดเชื้อซ้ำจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับการติดเชื้อครั้งเดียว

การติดเชื้อซ้ำจะทำให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะและระบบต่างๆ มากขึ้นราว 1.5-2.5 เท่า เมื่อเทียบกับการติดเชื้อครั้งเดียว


ความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ข้างต้น จะคงอยู่ตลอดช่วงเวลา 6 เดือนที่ติดตามประเมินผล ยิ่งติดเชื้อซ้ำมากขึ้น ความเสี่ยงจะมากขึ้นตามลำดับ และที่สำคัญมากคือ การติดเชื้อซ้ำทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนมากี่เข็ม หรือไม่ฉีดวัคซีนก็ตาม

...ผลการศึกษานี้มีความสำคัญมาก เพราะชี้ให้เห็นว่า เราจำเป็นจะต้องหาทางป้องกันตัวให้ดี หากสถานการณ์ระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องและกระจายไปทั่ว คนที่ติดเชื้อมาก่อน ควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัว ไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ อย่าเหลิง อย่าลุ่มหลงมัวเมากับข่าวลวงว่าเคยติดเชื้อแล้วจะไม่ติดเชื้ออีก เพราะไม่เป็นความจริง ยิ่งในปัจจุบันไวรัส Omicron มีการกลายพันธุ์ไปหลากหลายและหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นกว่าเดิม การติดเชื้อซ้ำจะเกิดง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก

แม้มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ชี้ให้เห็นว่า Omicron นั้นติดเชื้อแล้วโอกาสเกิด Long COVID จะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาที่เคยระบาดเมื่อปีก่อนประมาณ 50-70% (หรือลดลงราว 2-3 เท่า) แต่อย่าลืมความจริงที่ว่า จำนวนคนที่ติดเชื้อ Omicron นั้นเยอะกว่าเดลตาราว 3.5 เท่า ดังนั้นจำนวนจริงของปัญหา Long COVID ที่จะเกิดขึ้นจาก Omicron จึงมีโอกาสสูงกว่าเดลตา ยิ่งหากผนวกกับความรู้ที่เราทราบกันดีว่าการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ใน Omicron มากกว่าเดลตาแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาได้มากขึ้นไปอีก ข่าวที่บอกว่า Omicron กระจอก ไม่ต้องกลัว Long COVID นั้น จึงไม่ควรหลงเชื่อ

สำหรับคนที่ยังอยู่รอดปลอดภัยมาจนซีซั่นนี้ได้ ขอให้มีกำลังใจ ดำเนินชีวิต ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน อย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ การใส่หน้ากากสำคัญมาก ยังไม่ใช่เวลาถอดทิ้งครับ ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง ควรใส่หน้ากากเสมอเวลาออกนอกบ้าน ให้คุ้นชิน เป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายเรา จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก

อ้างอิง
Al-Aly Z et al. Outcomes of SARS-CoV-2 Reinfection. Research Square. 17 June 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า

'วิรังรอง' อัปเดตข้อมูล ไล่บี้อธิการบดีจุฬาฯ เปิดผลสอบวิทยานิพนธ์ฉาว

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า อัปเดตการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ

อาจารย์หมอ วิเคราะห์การระบาดโควิด มาจาก โอมิครอน สายพันธุ์ JN.1 เป็นหลัก

แม้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยจะเป็นขาลง แต่จำนวนคนที่ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันยังมีจำนวนไม่น้อย จึงควรใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท