คลัสเตอร์ปาร์ตี้! บุคลากรแพทย์ติดโควิดนับสิบ แนะ 6 ข้อ ก่อนไปงานเลี้ยง

27 มิ.ย. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 272,841 คน ตายเพิ่ม 479 คน รวมแล้วติดไป 548,924,518 คน เสียชีวิตรวม 6,350,753 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อิตาลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย บราซิล และเม็กซิโก

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 68.44 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 68.68

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้ สธ. ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

…เปรียบเทียบการระบาดของ Omicron แต่ละสายพันธุ์

กราฟจาก Financial Times แสดงให้เราเห็นชัดเจนว่า Omicron แต่ละสายพันธุ์ตั้งแต่ BA.1, BA.2 จนมาถึง BA.4 และ BA.5 นั้นส่งผลให้เกิดการระบาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยไม่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจนว่าตัวใหม่จะเบากว่าตัวเก่า

หลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่นั้นมีสมรรถนะในการแพร่มากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมหลายเท่า เพราะดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การระบาดในแต่ละประเทศจะหนักหนาสาหัสแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เห็นชัดเจนดังนี้

หนึ่ง “การฉีดวัคซีนและเงื่อนเวลาของการระบาด”

หากมีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมสูง โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ระบาด ก็จะมีอัตราการป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตต่ำ

แต่หากฉีดวัคซีนครอบคลุมน้อย หรือฉีดมานานไม่ได้รับเข็มกระตุ้น แล้วเกิดการระบาดปะทุขึ้นในช่วงที่ระดับภูมิคุ้มกันในประชากรลดต่ำลง ก็จะพบอัตราป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

สอง “เสรีการใช้ชีวิตและพฤติกรรมป้องกันตัว”

แม้จะฉีดวัคซีนไปมากน้อยเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จะมีโอกาสติดเชื้อได้ ป่วยได้ และเป็น Long COVID ได้

ความเสี่ยงในการติดเชื้อ แพร่เชื้อ จนป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล จะยิ่งมากเป็นเงาตามตัว หากประเทศนั้นๆ เปิดเสรีการใช้ชีวิต โดยคนในสังคมไม่ได้ระมัดระวังป้องกันตัวอย่างดีพอ เช่น ไม่ใส่หน้ากากระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เฮฮาปาร์ตี้กันสุดเหวี่ยง ฯลฯ ก็จะพบว่าการระบาดในระลอกหลังก็จะทำให้ติดเชื้อ และป่วยมากขึ้นกว่าเดิมได้ แม้จะมีอัตราฉีดวัคซีนครอบคลุมสูงก็ตาม

…นี่คือบทเรียนที่เห็นชัดเจนจากลักษณะการระบาดของประเทศทั่วโลก และกลับมาสะท้อนให้คนไทยเราต้องระมัดระวังตัวให้ดี

เพราะสองปัจจัยข้างต้นคือตัวกำหนดชะตาการระบาดของเรา

สถานะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของเราในปัจจุบันนั้น มีประชากรได้เข็มกระตุ้น (เข็มสาม) ไปแล้วเพียง 42.4% นอกจากนี้หากดูกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่สูงอายุได้เข็มกระตุ้นไป 46.2% ในขณะที่เด็กเล็กอายุ 5-11 ปี เพิ่งได้ครบสองเข็มไปเพียง 39.2%

ส่วนสภาพสังคมทุกวันนี้ เราย่อมเห็นชัดเจนว่าเปิดเสรีการใช้ชีวิต เพื่อให้ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้มากคล้ายในอดีต

แต่ต้องเน้นย้ำว่าพฤติกรรมการป้องกันตัวนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง สถานการณ์ระบาดช่วงนี้เพิ่มขึ้นมากหากสังเกตคนรอบตัวที่ติดเชื้อ โดยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รายงานเข้าสู่ระบบ

“การใส่หน้ากาก”เสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะลดความเสี่ยง ย้ำอีกครั้งว่าจำเป็นมาก

นอกจากพบเคสเด็กที่ติดเชื้อจากสถานศึกษาแล้วนำมาแพร่แก่คนในครอบครัว ทั้งพ่อแม่ และผู้สูงอายุแล้ว คนวัยทำงานก็ติดเชื้อกันมากขึ้น ทั้งจากที่ทำงาน รวมถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปร่วมงานเลี้ยงฉลองในโอกาสต่างๆ

เมื่อคืนได้ทราบมาว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ไปงานปาร์ตี้เลี้ยงส่งเพื่อนร่วมงาน ติดกันไปเป็นสิบคน รวมนักศึกษาด้วย ก็ถือเป็นบทเรียนที่นำมาย้ำเตือนให้ระมัดระวังกันให้ดี เพราะหากติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ก็จะนำมาแพร่ให้แก่เพื่อนร่วมงาน รวมถึงคนที่เราไปพบปะหรือดูแลได้จำนวนมาก

ขอนำสิ่งที่ตนเองปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันเวลาต้องไปงานที่มีคนจำนวนมาก มาแชร์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม

1.ประเมินดูว่างานนี้จำเป็นต้องไปหรือไม่

2.หากต้องไป หรืออยากไปมาก ก็วางแผนให้ดีว่าจะทำอะไรบ้าง โดยดูรายละเอียดของงานที่จะไป หากเป็นไปได้ก็เลือกงานที่มีคนน้อย และมีมาตรการรักษาความสะอาดและตรวจคัดกรองก่อนเข้าร่วมงาน

3.จัดเวลาเผื่อ โดยไปกินอาหารมื้อนั้นให้เรียบร้อยที่บ้าน หรือที่ร้านโปร่งโล่งใกล้สถานที่ที่จัดงาน เพื่อจะได้เลี่ยงการกินดื่มที่ไม่จำเป็นระหว่างเข้าร่วมงานที่มีคนจำนวนมาก

4.ในงาน พบปะผู้คน พูดคุยทักทายได้ โดยใส่หน้ากากเสมอ พยายามเลี่ยงการสัมผัสตัวคนอื่น หากสัมผัสกันจับมือกันกอดกัน ก็ใส่หน้ากากและล้างมือทุกครั้ง

5.หากเป็นงานสัมมนายาวนานเป็นวัน ครอบคลุมการกินดื่มหลายมื้อ หากนำอาหารมาแยกกินได้ก็จะดี แต่หากกินดื่มรวมกัน ก็กินดื่มโดยใช้เวลาสั้นๆ ระหว่างกินดื่มจะไม่พูดคุย หากจะพูดคุยก็ใส่หน้ากากก่อนเสมอ ล้างมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังจับอุปกรณ์หรือภาชนะต่างๆ ของสาธารณะ

6.หลังกลับจากงาน คอยสังเกตอาการของตนเองว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ และติดตามข่าวคราวจากกลุ่มผู้ไปร่วมงานด้วยว่ามีปัญหาการเจ็บป่วยไม่สบายหลังจากไปร่วมงานหรือไม่ จะได้จัดการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

…เหล่านี้คือสิ่งที่ปฏิบัติอยู่ และทำได้หากคิดจะทำ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของตัวเราและการให้ความสำคัญ

ณ จุดนี้ ความใส่ใจด้านสุขภาพ การป้องกันตัวเอง จะเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของเราและคนใกล้ชิด เพื่อจะได้ปลอดภัยไปด้วยกัน

COVID-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม ที่สำคัญคือเรื่องภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

โควิดยังพุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 728 ราย ผู้สูงอายุดับ 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย