'นพ.ธีระ' ชี้เป็นความท้าทายในการอยู่กับโควิด19 ซึ่งย่างเข้าสู่ปีที่ 4

'หมอธีระ' ชี้เป็นความท้าทายของโควิด-19 ที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ย้ำใช้ชีวิตประจำวันโดยใส่ใจเรื่องสุขภาพ ในขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์ก็ต้องเร่งศึกษาวิจัย

16 ก.พ.2566 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 105,448 คน ตายเพิ่ม 611 คน รวมแล้วติดไป 677,995,525 คน เสียชีวิตรวม 6,784,958 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.72 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.92

...ความท้าทายของโรคโควิด-19 ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ที่เรารู้จักกับ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 แม้จะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้น จนตรวจสอบได้ว่าไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์ แตกหน่อต่อยอด เปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปอย่างไร จนส่งผลให้เกิดการระบาดทั่วโลก ระลอกแล้วระลอกเล่า แต่ยังคงมีคำถามที่ต้องการการศึกษาวิจัยอีกมาก เพื่อที่จะทำให้มนุษย์เราเข้าใจ และหาวิธีที่จะทำให้อยู่รอดปลอดภัย ลดความสูญเสียในระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น แม้ไวรัสนี้จะอยู่ในตระกูล Coronavirus เหมือน SARS และ MERS รวมถึงไวรัสโคโรน่าอื่นที่ทำให้เกิดไข้หวัด เช่น HCov-NL63 แต่ลักษณะการติดเชื้อของโควิด-19 นั้นทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ปอด ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากกว่าไวรัสอื่นในตระกูลเดียวกัน ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ตอนนี้ก็ยังตอบได้ไม่กระจ่างชัดนัก ถึงแม้จะมีสมมติฐานเรื่องกลไกการเข้าสู่เซลล์ที่อาจแตกต่างกัน

เรื่องสำคัญที่สุดอีกเรื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 ในระยะยาวคือ การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของไวรัสว่าจะมีการปรับเปลี่ยน กลายพันธุ์ไปทางไหน และ/หรือสมรรถนะของไวรัสว่าจะระบาดรุนแรงขึ้น มีโอกาสทำให้ป่วยมากขึ้น ตายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติระยะยาว ทุพพลภาพมากขึ้นหรือน้อยลง และจะมีช่วงเวลาเกิดขึ้นถี่บ่อยเพียงใด จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงข้างต้นได้อย่างแม่นยำ ทำให้ยากลำบากในการวางแผนจัดการควบคุม รวมถึงพัฒนาอาวุธอย่างวัคซีนเพื่อดักไว้ล่วงหน้าเหมือนโรคอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติตัว อย่างที่เน้นย้ำให้เราทราบทุกวัน ได้แก่ การใช้ชีวิตประจำวันโดยมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพ (health conciousness) มีสติ รู้ว่าที่ทำอยู่นั้นเสี่ยงหรือไม่ พยายามทำหรือปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้ลดความเสี่ยงลงไปกว่าในอดีต หากปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตร ก็จะช่วยให้ทั้งตัวเราและคนรอบข้างมีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยไปได้มากในระยะยาว

ช่วยกันปรับปรุงที่อยู่ ที่ทำงาน ที่เรียน ที่กิน ที่เที่ยว ให้มีการระบายอากาศดีกว่าเดิม ไม่สบาย ก็ควรแยกไปรักษาตัวให้หายดีเสียก่อน ถือเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทู่ซี้คิดว่าไม่เป็นไรจนอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยและสูญเสียของคนรอบข้าง ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างตะลอนนอกบ้าน จะลดเสี่ยงต่อโควิด-19 และ PM2.5 ลงไปได้มาก

อ้างอิง
Perlman S et al. Coronavirus research: knowledge gaps and research priorities. Nature Reviews Microbiology. 15 February 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า