ตร.ไซเบอร์ เตือนเพจที่พักปลอมระบาด แนะตรวจสอบก่อนโอน

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย เพจที่พักปลอมระบาดต่อเนื่อง มิจฉาชีพยังคงใช้ 2 แผนประทุษกรรม แนะนำให้ตรวจสอบก่อนโอนเงิน หรือจองผ่านผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ

12 มิ.ย.2566-พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) แจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพสร้างเพจ facebook ปลอม โดยลอกเลียนแบบเพจที่พักจริง แอบอ้างเป็นเจ้าของที่พัก หรือแอดมินเพจหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินค่ามัดจำก่อนเข้าพัก โดยได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ยังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่ามัดจำที่พักก่อนเดินทางเข้าพักจริงในช่วงวันหยุด หรือวันปกติทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ กาญจนบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น ซึ่งมิจฉาชีพยังคงใช้แผนประทุษกรรมหลัก 2 วิธี คือ แผนประทุษกรรมแรก คือ การสร้างเพจ facebook ที่พักปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจ facebook เดิมที่มีผู้ติดตามอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อเพจให้เหมือนกับเพจจริง คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้หลอกลวงผู้เสียหาย รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากและง่ายขึ้น

ส่วนแผนประทุษกรรมที่สอง คือ การใช้บัญชี facebook อวตารแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม หรือที่พักต่างๆ โพสต์ข้อความในลักษณะว่ามีที่พักหลุดจองราคาดี กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้น หรือบัญชีอวตารนั้นได้ หรือกรณีที่แย่ที่สุดเมื่อผู้เสียหายเดินทางไปถึงที่พักจริงแล้ว กลับได้รับแจ้งว่าไม่ได้มีการจองที่พักมาแต่อย่างใด

ทั้งนี้นับตังแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 5 มิ.ย.66 การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 จำนวนกว่า 102,288 เรื่อง หรือคิดเป็น 37.45% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,479 ล้านบาท

โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ในปัจจุบันการสำรองที่พัก หรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่ถูกมิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ขอให้ระมัดระวัง รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจ facebook ที่พักเหมือนที่พักจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป พบเจอในกลุ่มท่องเที่ยวต่างๆ หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 9 ข้อ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดาเพื่อมัดจำค่าที่พัก บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อของที่พัก หรือบัญชีบริษัท 2.ควรสำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking.com Agoda Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง 3.หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจ facebook ใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ 4.เพจ facebook จริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

5.โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่ 6.เพจ facebook จริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง 7.เพจปลอมมักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน 8.ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง 9.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไฟไหม้ห้องทำงาน รองผอ.รร.เมืองตลุงพิทยาสรรพ์  คาดอากาศร้อนทำเบรกเกอร์ช็อต

เกิดเหตุไฟไหม้ห้องรอง ผอ.โรงเรียนมัธยม อ.ประโคนชัย  จ.บุรีรัมย์ ลามไหม้ห้องวิชาการ  เสียหายทั้ง 2 ห้อง  ตรวจสอบพบเบรกเกอร์เครื่องปรับอากาศในห้องรอง ผอ. มีรอยไหม้ คาดไฟฟ้าลัดวงจร บวกกับอากาศที่ร้อนจัด

'บิ๊กต่าย' ยันไม่กระเหี้ยนกระหือรืออยากเป็นผบ.ตร. ไม่ติดใจถูกกล่าวหาหลอกนายกฯ

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ได้กล่าวพาดพิงจากประเด็นที่ลงนามคำสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนว่า

เหยื่อ 'แก๊งนักรบ' โผล่อีก! ผู้บังคับบัญชาพาพลทหารมอบตัวแล้ว

จากกรณีที่นายวิ่งและนางสาวกุลนันท์ ชาว อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพ่อและแม่ของ นายระพีพัฒน์ หรือแพต อายุ 16 ปี ได้นำคลิปหลักฐานขณะลูกชายถูกรุมทำร้ายร่างกาย