
27 มิ.ย.2566- พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีมีผู้ใช้ Facebook รายหนึ่ง ได้นำหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของตนไปตรวจสอบในระบบ หรือแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ พบว่าหมายเลขบัตรประชาชนของตนได้ถูกนำไปเปิดใช้บริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 30 หมายเลข โดยที่ตนไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการแต่อย่างใดนั้น ว่าในปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึง ตรวจสอบข้อมูล ขอเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตได้โดยสะดวก รวมไปถึงการเปิดใช้งานลงทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสนำข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ได้มาด้วยวิธีการต่างๆ มาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย
การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ นำบัตร หรือใบรับหรือใบแทนใบรับของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 15 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท, เอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม ป.อาญา มาตรา 188 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และปลอมและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อาญา มาตรา 264, 268 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” และฐานความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวต้องไปตรวจสอบกับผู้ให้บริการว่า ในการเปิดใช้งานหมายเลขโทรศัพท์มือถือต้องใช้เอกสารใดบ้าง ผู้ใดเป็นผู้ขอเปิดใช้บริการ มีการขอเปิดใช้ในลักษณะใด แบบรายเดือน หรือแบบเติมเงิน และผู้ใดเป็นผู้ชำระค่าบริการ ฝากไปยังเตือนประชาชนในการใช้งาน หรือเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพอาจฉวยโอกาสหลอกเอาข้อมูลเหล่านี้ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ และหากประชาชนท่านใดตรวจสอบพบในลักษณะดังกล่าว ให้รีบติดต่อกับผู้ให้บริการเพื่อทำการปิด หรือยกเลิกหมายเลขที่ไม่ได้ใช้งานทันที
ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันมิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ดังนี้
1.ไม่ควรให้บัตรประชาชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ใด และหลีกเลี่ยงการเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์
2.รับรองสำเนาบัตรประชาชนให้ถูกต้อง โดยต้องขีดคร่อมกำกับว่าใช้เพื่อธุรกรรม หรือวัตถุประสงค์ใด รวมถึงระบุวันเดือนปีที่รับรองสำเนาดังกล่าว
3.อย่าถ่ายภาพ หรือให้ข้อมูลหลังบัตรประชาชนให้ผู้ใดอย่างเด็ดขาด
4.ระวังการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล ในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ใดๆ ขอให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง
5.ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) ไม่ทราบเเหล่งที่มาและไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะที่เป็นการสำรวจข้อมูล กรอกแบบสอบถามต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ
6.ควรกรอกข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามกลับไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
7.หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ เพื่อป้องกันการดักจับข้อมูลส่วนบุคคล
8.ตรวจสอบการอัปเดตบนระบบปฏิบัติการ และตั้งค่าเบราว์เซอร์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนระวังสลิปปลอม!โจรใช้ ChatGPT ทำหลอก
เตือน ปชช. ระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ สร้างสลิปปลอมสมจริง แนะค้าขายเช็กยอดบัญชีเสมอ อย่าหลงกลมิจฉาชีพ
ล้วงคองูเห่า! ปลอมเฟซ ‘ผบ.ตร.’ สร้างโปรไฟล์ งาน ภารกิจเหมือนจริง ตีสนิทหลอกลงทุน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โพสต์แจ้งเตือนระบุว่า อย่าเชื่อ อย่ารับแอด กดรีพอร์ต 'บัญชีเฟซบุ๊กปลอม' แอบอ้าง เป็น ผบ.ตร.
เตือน ‘โจรออนไลน์’ สร้างบัญชีปลอม ‘ธนาคารออมสิน’ เปิดให้สินเชื่อระวังสูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล
ดีอี เตือน “โจรออนไลน์” สร้างบัญชีปลอม “ธนาคารออมสิน” เปิดให้สินเชื่อ ผ่าน TikTok หวั่นสูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล
เปิด 8 ข้อหลอกลวงยอดฮิต ‘มนต์รักออนไลน์’ ช่วงวันวาเลนไทน์
“อนุกูล”เตือนระวังมนต์รักออนไลน์“เทศกาลวันวาเลนไทน์” รวม 8 ข้อหลอกลวงยอดฮิตจากมิจฉาชีพ