ไม่ตรงปก! ตำรวจไซเบอร์เตือนเพจขายสินค้าออนไลน์ปลอมระบาดหนัก

11 ก.ค.2566 -พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่าได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่าในช่วงที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าและบริการออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น 1.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.ซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ(ได้ไม่ตรงปก) 3.ซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีคุณต่ำ 4.การใช้หลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขาย เป็นต้น

โดยมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสมองหาสินค้าที่ประชาชนสนใจเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานั้นๆ เริ่มจากการสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา แล้วตั้งชื่อเพจให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับเพจเฟซบุ๊กที่มีการซื้อขายสินค้าจริง ประกอบกับคัดลอกรูปภาพสินค้า เนื้อหา และโปรโมชัน จากเพจจริงมาใช้ให้เพจมีความเคลื่อนไหว สร้างความน่าเชื่อถือ มีการขายสินค้าในราคาถูกกว่าปกติ มีการการันตีสินค้า รีวิวสินค้าปลอมจากบัญชีเฟซบุ๊กอวตาร เมื่อหลอกลวงผู้เสียหายได้ทรัพย์สินเป็นจำนวนมากแล้ว ก็จะเปลี่ยนชื่อเพจเฟซบุ๊กหลอกลวงขายสินค้าไปเรื่อยๆ นอกจากนี้แล้วมิจฉาชีพยังได้ใช้วิธีการซื้อบัญชีเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้วมาใช้สร้างความน่าเชื่อถือหลอกลวงขายสินค้าให้แก่ประชาชนอีกด้วย ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น การหลอกลวงขายทุเรียนในช่วงฤดูกาลผลไม้, การหลอกลวงขายเครื่องปรับอากาศในช่วงสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM 2.5, หลอกลวงขายแผงโซลาร์เซลล์ในช่วงค่าไฟฟ้าสูงขึ้น, หลอกลวงเอาเงินค่ามัดจำที่พักในฤดูกาลท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 – 8 ก.ค. 66 มีประชาชนถูกหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการสูงสุดเป็นลำดับที่หนึ่ง กว่า 111,139 เรื่อง หรือคิดเป็น 38.11% ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีความเสียหายรวมกว่า 1,644 ล้านบาท

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มีคดีสำคัญหลายคดี สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายได้หลายราย และตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง

2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล

3.หากจะซื้อสินค้าผ่านเพจในเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมานานแล้ว และมีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน อย่างน้อยสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามได้

4.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่

5.ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น

6.ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ระวังการรีวิวปลอม ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่าเป็นอวตารหรือไม่

7.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller, chaladohn เป็นต้น

8.เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง

9.หากท่านไม่ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ควรปฏิเสธรับสินค้า และห้ามชำระเงิน หากไม่มั่นใจให้สอบถามบุคคลในบ้านให้ชัดเจน

10.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ

11.หากสินค้ามีปัญหาให้รวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ข้อความการสนทนา หลักฐานการชำระเงิน คำสั่งซื้อสินค้า แล้วติดต่อกับผู้ขายให้แก้ไขปัญหา ส่งสินค้าคืน หรือเคลมสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.ไซเบอร์ บุกค้นบ้าน ‘รองนายกท้องถิ่น’ โยงแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน

พล.ต.ต.วิรัช ชุติมิต ผบก.สอท.5 เดินทางมายังบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ ต.จันดี อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับการจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แก๊งใหญ่

'บิ๊กต่าย' ชี้ตำรวจไซเบอร์ยังต้องทำงานหนัก แม้ภาพรวมจับเว็บพนันได้เยอะขึ้น

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังไม่พอใจผลการปฏิบัติงานของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

รวบแก๊งหลอกลงทุนคริปโต ยึดทรัพย์ 125 ล้านบาท เตรียมเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย

พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1, พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผ

ตร.ไซเบอร์ ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเหยื่อโอนเงิน 115 ครั้ง สูญ 200 ล้านบาท

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 และ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว “ปฏิบัติการ SAVING GOOD MAN ตร.ไซเบอร์ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ตร.ไซเบอร์ บุกรวบเจ้ามือหวยลาวรายใหญ่ เงินสะพัดกว่า 10 ล้าน

พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พ.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล ผกก.1 บก.สอท.5 และกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน ได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้นที่บ้านหลังหนึ่งใน ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากสืบทราบมาว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่พักของ

'ตร.ไซเบอร์' ขยายผล 'แก๊งอายุน้อยร้อยล้าน' จับสาวดูแลเงินเว็บพนัน

พ.ต.อ.คมสัน มีภักดี ผกก.บก.สอท.4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 4 บก.สอท.4 ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดเชียงรายที่ ลงวันที่ 7 เมษายน 2567 เข้าทำการตรวจค้นหอพักแห่งหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย