กสม. ชี้ ตำรวจ สภ. ดอยสะเก็ด ละเมิดสิทธิ ไม่บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นจับกุม

กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. ดอยสะเก็ด ไม่บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหา แนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำกับดูแลและสนับสนุนอุปกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย

17พ.ค.2567 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรดอยสะเก็ด (สภ.ดอยสะเก็ด) จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด (ผู้ถูกร้อง) ซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของนาย อ. และภรรยา เพื่อค้นหายาเสพติด โดยไม่แสดงหมายค้นและหมายจับและไม่บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้น รวมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้เป็นหลักฐาน ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และมาตรา 33 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 ได้ให้การรับรองว่าบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย โดยจะถูกจับหรือคุมขังมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ รัฐจึงมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองและประกันสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา นอกจากนั้น บุคคลยังมีเสรีภาพในเคหสถาน การเข้าค้นเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครองจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด ได้ทำการล่อซื้อยาเสพติดจากนาย อ. ซึ่งนาย อ. ได้ขับรถจักรยานยนต์นำยาเสพติดมาส่งมอบให้แก่ผู้ล่อซื้อ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เฝ้าสังเกตการณ์และเห็นการกระทำดังกล่าว กรณีนี้จึงเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ อย่างไรก็ตามในขณะเข้าจับกุม นาย อ. ได้หลบหนีไป เจ้าหน้าที่จึงติดตามนาย อ. ไปที่บ้านพัก และได้พบกับภรรยาของนาย อ. เจ้าหน้าที่แสดงตนว่าเป็นตำรวจและมาเพื่อติดตามจับกุมรวมทั้งสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับนาย อ. โดยได้นำผู้ใหญ่บ้านในท้องที่มาเป็นพยานการตรวจค้นด้วย ซึ่งภรรยานาย อ. ได้ให้ความยินยอมและเป็นผู้นำตรวจค้นภายในบ้านด้วยตนเอง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ได้ข่มขู่หรือบังคับภรรยานาย อ. ให้ความยินยอมในการตรวจค้นแต่อย่างใด ภรรยานาย อ. ยังได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในบันทึกการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นไว้เป็นหลักฐานด้วย ดังนั้น การเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 (4) นอกจากนี้ เมื่อมีการตรวจค้นยังพบยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ซุกซ่อนอยู่บริเวณภายในบ้านพัก กรณีนี้เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจจับกุมภรรยานาย อ. โดยไม่ต้องมีหมายจับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ต่อมา ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย อ. ได้ติดต่อเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ที่ สภ.ดอยสะเก็ด โดยให้การยอมรับว่า ยาเสพติดที่มีการล่อซื้อ และที่มีการค้นพบภายในบ้านพักนั้นเป็นของตน ผู้ถูกร้องจึงมีอำนาจแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายแก่นาย อ. รวมทั้งควบคุมตัวเพื่อนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ดังนั้น แม้การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ดในการเข้าตรวจค้นบ้านและจับกุมตัวภรรยานาย อ. และการควบคุมตัวนาย อ.จะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพในเคหสถานก็ตาม แต่เป็นการกระทำไปโดยอาศัยเหตุตามกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับประเด็น การตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นภายในบ้านพักนาย อ. และพบยาเสพติด จึงมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 98 สามารถยึดทรัพย์สินหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ของภรรยานาย อ. เพื่อตรวจสอบข้อมูลการกระทำความผิดได้ อย่างไรก็ดี เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่เสร็จสิ้นแล้ว และไม่พบการกระทำความผิด ได้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่ภรรยานาย อ. โดยภรรยานาย อ. ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนาย อ. นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีไม่บันทึกภาพและเสียงในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัว หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา ข้อ 4 ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบันทึกภาพและเสียงในขณะตรวจค้น จับกุม และสอบสวนคดีอาญาไว้เพื่อเป็นหลักประกันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย และสามารถตรวจสอบได้ เว้นแต่มีเหตุอันที่ไม่อาจดำเนินการได้ ก็ให้บันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้ ประกอบกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22 บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำการจับและควบคุมบุคคลจะต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัว จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐาน

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านพักของนาย อ. ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะตรวจค้นและจับกุมภรรยานาย อ. มีเพียงการบันทึกภาพภรรยานาย อ. ชี้ยืนยันของกลางยาเสพติดที่ตรวจค้นเจอภายในบ้านพักเท่านั้น ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงการตรวจค้นให้ถูกต้องครบถ้วน จึงเป็นกระทำที่ไม่สอดคล้องตามกฎหมายและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จึงมีมติเห็นควรให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้อีก นอกจากนี้ ให้ ตร. สนับสนุนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการบันทึกภาพและเสียงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดทุกท้องที่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา โดยเร่งด่วนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รมว.ยธ.' แนะ 'รพ.ตำรวจ' โชว์โปร่งใส ส่งเวชระเบียน 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช.

'รมว.ยธ.' แนะ รพ.ตำรวจ ส่งเวชระเบียนรักษา 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช. สร้างความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล อ้างกรมราชทัณฑ์ให้ความร่วมมือตลอด

กสม. ประณาม 'ทักษิณ' ปราศรัยเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน ย้ำไทยอยู่ภายใต้ CERD

กสม.ซัด 'ทักษิณ' จ้อเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน อบรมคนมีอิทธิพลทางสังคมไม่ควรทำ หวั่นโดนขยายความรุนแรง ซ้ำรอยความสูญเสียในอดีต

กสม.แนะแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินปชช. ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ

กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

'ภูมิธรรม' มอบนโยบายตร.ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของปชช.

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการบริหารราชการแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้

นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้