'ดีเอสไอ' พบเส้นทางเงินคดีทุจริตหุ้น STARK ย้อนเข้าบริษัทตัวเอง 1 หมื่นล้านบาท

"ดีเอสไอ" พบเส้นทางการเงินคดีทุจริตหุ้น STARK ย้อนกลับเข้าบริษัทตนเอง 10,000 ล้านบาท ประสาน ปปง. ยึดทรัพย์ พร้อมขยายผลตรวจค้นและดำเนินคดีผู้ต้องหาเอี่ยวคดีลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเพิ่ม ส่วนคดีปั่นหุ้น MORE ออกหมายเรียก 29 ราย แจ้งข้อหา 10 ราย เร่งตรวจสอบเส้นทางการเงิน

8 ธ.ค.2566 - พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)​ รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกดีเอสไอ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม พล.ต.ต. พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และนายวิทยา นีติธรรม โฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าในการดำเนินการในคดีพิเศษ จำนวน 3 คดี ดังนี้

1. กรณี การทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778,000,000 ล้านบาท (คดีพิเศษที่ 57/2566)

คดีนี้มีผลกระทบต่อตลาดทุนเป็นอย่างมาก ดีเอสไอโดยกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เริ่มทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ เมื่อ 20 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีพ.ต.ต.ยุทธนา เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนเอง บัดนี้ ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ทางคดีมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 11 คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ในวันนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษไปยังพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้ว โดยอธิบดีดีเอสไอมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยมีเอกสารพยานหลักฐานทั้งสิ้นจำนวน 22 ลัง 140 แฟ้ม 52,968 แผ่น

นอกจากการดำเนินคดีอาญาดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังพบว่ามีการนำเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท โอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหาเพื่อไปชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้ สำนักงาน ปปง. พิจารณาดำเนินการติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 49 วรรคท้าย ต่อไป
2. กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดีเอสไอได้แยกดำเนินการเป็น 2 ช่วง รวม 10 คดี กล่าวคือ ช่วงที่ (1) คดีพิเศษที่ 59/2566 เป็นคดีเริ่มต้นของดีเอส​ไอ​กรณีมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ดีเอส​ไอ​สืบสวนสอบสวนกรณีมีกลุ่มนายทุน บริษัทดำเนินพิธีการศุลกากรหรือชิปปิ้ง ร่วมกันลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ด้วยการสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องด้วย กรณีตรวจพบตู้สินค้าเป็นสุกรแช่แข็งตกค้างในท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้ หนักประมาณ 4.5 ล้านกิโลกรัม ทางการสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาแล้ว จำนวน 2 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 แล้ว อันเป็นการดำเนินการเฉพาะส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ช่วงที่ (2) เป็นการดำเนินคดีกับเอกชนที่เป็นบริษัทที่ปรากฏหลักฐานว่านำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วยคดีพิเศษที่ 101-109/2566 ซึ่งมีการสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องทุกคดี พบหลักฐานน่าเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสุกรอีกจำนวน 2,385 ตู้ ปริมาณ 59,625 ตัน

​ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 ภายใต้คดีพิเศษที่ 103/2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นเป้าหมาย จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีการตรวจยึดสิ่งของมาเป็นพยานหลักฐาน รวมทั้งพบการกระทำผิดซึ่งหน้า 1 จุด เป็นบริษัทประกอบธุรกิจห้องเย็น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตรวจพบซากสุกร (หมูสามชั้น) จำนวน 7 ตัน ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐมได้ดำเนินการตรวจยึดซากสุกรดังกล่าวเพื่อส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสามควายเผือกดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ประกาศควบคุมโรคอหิวาตกโรคในสุกร (ห้ามไม่ให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ในเขตห้ามเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต) อันเป็นการป้องกันเหตุไม่ให้พี่น้องประชาชนต้องบริโภคหมูที่ไม่ถูกสุขลักษณะด้วย

​ทั้งนี้ดีเอสไอจะมีการขยายผลตรวจค้นและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุน ข้าราชการการเมือง และอดีตข้าราชการ การใช้มาตรการคุ้มครองพยานแก่พยานรายสำคัญ การดำเนินการโดยใช้กฎหมายฟอกเงินดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดฝ

3. กรณีหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ในระหว่างวันที่ 18 ก.ค. 2565 - 10 พ.ย 2565 (ช่วง pre - open) มีกลุ่มบุคคลรวม 32 ราย ร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 800,000,000 บาท(คดีพิเศษที่ 66/2566)

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานสอบสวนกองบัญชาการสอบสวนกลางที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในดีเอสไอช่วยเหลือในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ ตามมาตรา 33 แห่ง พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 โดยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา จำนวน 29 ราย และแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาแล้วจำนวน 10 ราย และอยู่ระหว่างเร่งรัดตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อนำมาตรการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาดำเนินการต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สว.พิสิษฐ์' เชื่อดีเอสไอตั้งธงสอบข้อหา 'อั้งยี่ซ่องโจร' ปมฮั้วเลือก สว.

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่จำลองเหตุการณ์วันเลือก สว.หาหลักฐานปมฮั้วเมื่อวานนี้(25เม.ย.) ว่า เขากล่าวหาเรามาแต่แรกอยู่แล้ว

'ดีเอสไอ' สแกนยิบ! ตรวจอิมแพ็คเมืองทองฯทั่วอาคารยันห้องน้ำ ดมกลิ่น 'อั้งยี่' ฮั้วเลือกสว.

"ดีเอสไอ" จำลองฮั้ว สว.67 ระดับประเทศ ใช้เครื่องเลเซอร์สแกน 3 มิติ สแกนทั่วอาคาร-ห้องน้ำ เตรียมขึ้นโมเดล คาด ได้ข้อมูลสำคัญ-สังเคราะห์พฤติกรรมผิดวิสัย “กลุ่มก้อน สีเสื้อ” ใช้พิจารณาประกอบฐานความผิด “ขบวนการอั้งยี่”

DSI เปิดโปงขบวนการซากสุกร 460 ล้าน เอี่ยว 'จนท.-นายทุน' ส่ง ป.ป.ช. 11 คดี

ดีเอสไอ เผยผลสอบสวนขบวนการลักลอบนำเข้าซากสุกรผิดกฎหมายช่วงปี 2563–65 รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 460 ล้านบาท พบพัวพันเจ้าหน้าที่รัฐ-นักการเมือง-นายทุนทั้งไทยและต่างชาติ ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แล้ว 11 คดี พร้อมประสาน 7 ประเทศขยายผล

'ดีเอสไอ' หิ้ว 3 นอมินี บ.ไชน่าเรลเวย์ฯ ฝากขัง ก่อนศาลให้ประกันคนละ 3 แสน

พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ควบคุมตัวนายประจวบ ศิริเขตร นายมานัส ศรีอนันท์ และนายโสภณ มีชัย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าว

'ดีเอสไอ' เค้นสอบนาน 10 ชั่วโมง 3 คนไทย 'นอมินี' ถือหุ้น บ.ไชน่าเรลเวย์ฯ

“ดีเอสไอ" หิ้ว ”3 นอมินีคนไทย บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ” ฝากขังศาลอาญา หลังสอบเดือด 10 ชม. ทั้งหมดล้วนปัดความร่วมมือให้ปากคำ บางช่วงบางตอนงงคำถาม ต้องให้ทนายช่วยอธิบาย ขณะที่ “โสภณ มีชัย“ ผู้ถือหุ้น บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ กว่า