'ตร.ไซเบอร์' รวบหนุ่มเมืองคอน เปิดเพจเฟซบุ๊กรับทำแผ่นป้ายทะเบียนรถปลอม

7 ก.พ.2567 - พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5, พ.ต.อ.ฐาปกรณ์ หนุมาศ ผกก.3 บก.สอท.5, พ.ต.ท.ปฐมพงศ์ มีอยู่ รอง ผกก.3 บก.สอท.5 สั่งการให้ พ.ต.ต.ธีรวัฒน์ สมศิริ สว.กก.3 บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวนร่วมกันตรวจค้นจับกุมนายนันทวุฒิ หรือเต้ อายุ 42 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช แอดมินเพจจำหน่ายแผ่นป้ายทะเบียนรถปลอม พร้อมด้วยของกลางแผ่นป้ายทะเบียนปลอม 176 แผ่น

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ สืบทราบว่ามีคนร้ายลักลอบปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถ โดยโพสต์ข้อความโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กในกลุ่มลับว่า รับทำป้ายทะเบียนรถทุกชนิดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อมูล จากนั้นได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนกรณีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลให้มิจฉาชีพ หรือ คนร้ายสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือก่อเหตุอาชญากรรมได้

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.สอท.5 จึงได้ติดต่อขอซื้อป้ายทะเบียนรถ พบว่าคนร้ายได้รับทำและจำหน่ายในราคาแผ่นละ 600-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของยานพาหนะ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแผ่นป้ายทะเบียนที่สั่งซื้อ จึงส่งตรวจพิสูจน์ต่อกรมการขนส่งทางบก พบว่าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนปลอม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนต่อ จนสามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า นายนันทวุฒิ หรือเต้ อายุ 42 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราชเป็นแอดมินเพจออนไลน์ดังกล่าว จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายค้นและหมายจับในเวลาต่อมา

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.สอท.5 ได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 คือ บ้านพักของนายเต้ ในพื้นที่ ม.4 ต.ท่าซัก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช สามารถจับกุมนายเต้ บุคคลตามหมายจับ พร้อมของกลางแผ่นป้ายทะเบียนปลอมประเภทต่างๆ จำนวน 67 แผ่นและ จุดที่ 2 คือ ห้องพักของตึกแถว ในพื้นที่ ม.9 ต.สะพานยาว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ที่นายเต้เปิดเป็นร้านรับทำป้ายทะเบียนปลอม ตรวจค้นพบแผ่นป้ายทะเบียนปลอมประเภทต่างๆ จำนวน 109 แผ่น ที่เตรียมจัดส่งให้แก่ลูกค้าจากทั่วประเทศ

เบื้องต้น นายเต้ สารภาพว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กรับทำป้ายทะเบียนปลอมจริง โดยประมาณปี 2562 ได้เปิดร้านทำกรอบป้ายกันน้ำให้แก่ลูกค้าในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาประมาณปี 2564 ได้เริ่มเห็นช่องทางการสร้างรายได้ทางออนไลน์ จึงได้สร้างเฟซบุ๊กแฟนเพจและกลุ่มลับเพื่อรับทำป้ายปลอม โดยคิดค่าจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนปลอมจากลูกค้าที่สนใจ ในราคาแผ่นละ 600 – 1,000 บาท โดยในแต่ละเดือนมีลูกค้าจากทั่วประเทศติดต่อเข้ามาสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้มีรายได้ ประมาณ 30,000 – 50,000 บาท ต่อเดือน

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งข้อหา "ปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการฯ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ" นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางทั้งหมด พนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท. 5 ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะประชาชน ต้องรู้ทัน ไม่หลงเชื่อกลโกงมิจฉาชีพ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่ยังพบมีการหลอกลวงประชาชนจากมิจฉาชีพอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดข้อมูลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุ ในช่วงตั้งแต่

ดีอี เตือนระวัง 'มิจฉาชีพ' ใช้กลลวง หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หลอกให้รัก 

AOC 1441 เปิดเผย 5 เคสตัวอย่าง หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หลอกให้รัก หลอกให้ซื้อตุ๊กตาลาบูบู้ (Labubu) สูญเงินเกือบ 4 แสนบาท

จนท.ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กว่า 6 พันชิ้น ซุกริมแม่น้ำโขง

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)และกรมศุลกากร ภายใต้อำนวยการพล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. , นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรม

รวบแก๊งอ้างเป็นนายแพทย์ทหาร หลอกอาจารย์สาวมหาลัยดังให้รัก สูญกว่า 3 ล้าน

พ.ต.ท.ราชัญ  ลำใย รอง ผกก.2 บก.สอท.4 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุม น.ส.อรนิภา(สงวนนามสกุล)  ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม