อัยการวัชรินทร์ เผยคืบหน้าคดี 7 ตำรวจรุมทำร้ายหนุ่มสาหัส เข้าข่ายผิด พรบ.อุ้มหายฯ

“รองอธิบดีอัยการ -​ดีเอสไอ " ประชุมหารือความคืบหน้า ปมซ้อมทรมาน ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ คดี 7 ตำรวจจราจรกลางทำร้ายร่างกายลูกอดีตตำรวจ หลังจำรถผิดคัน แหกด่านวัดแอลกอฮอล์ ระบุ เบื้องต้นผิดมาตรา 5 ทำร้ายร่างกายและจิตใจจนได้รับอันตรายสาหัส แย้ม เตรียมไล่สอบสวนปากคำ" ผู้เสียหาย-ครอบครัว -เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ“ ยัน จะจำผิดคันหรือถูกคัน เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายประชาชน เน้นย้ำ ทุกการจับกุม ต้องบันทึกภาพและเสียง และแจ้งการจับกุมไปยังอัยการและฝ่ายปกครอง

7 มีนาคม 2568 - จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจจราจร จำนวน 7 นาย ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจจราจร ที่ 584/2567 ในเรื่องที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอข่าวเหตุการณ์ข้าราชการตำรวจ สังกัดกองบังคับการตำรวจจราจร ทำร้ายร่างกายประชาชน เหตุเกิดบริเวณริมถนนประเสริฐมนูกิจ ก่อนถึงตึกอาร์เอส เป็นเหตุให้นายธนานพ เกิดศรี บุตรชายของ พ.ต.ท.ธนชัย เกิดศรี อดีต สว.กก.2 บก.ปทส. ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.67

ต่อมาภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 ราย ทราบว่าได้เข้าใจผิดคิดว่ารถคันที่นายธนานพ ขับมานั้นเป็นรถที่แหกด่านจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์หลบหนี เนื่องจากเป็นรถยนต์ ยี่ห้อ รุ่น และสีเดียวกันกับรถคันที่แหกด่านหลบหนีไป จนกระทั่งตำรวจ 7 ราย ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)​ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 134/2567  นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำกับการสอบสวนคดีความผิดแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ และนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ดีเอสไอ พร้อมด้วยพนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าทางคดีครั้งที่ 1 และวางกรอบแนวทางการสอบสวนขยายผล รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาความผิดแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

นายวัชรินทร์ ให้สัมภาษ​ณ์หลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมคดีพิเศษ หลังจากที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำหน้าที่สืบสวนตั้งแต่วันเกิดเหตุ หลังจากนั้น 2-3 วันดีเอสไอก็ได้ไปเก็บพยานหลักฐาน จากการสอบสวนดังกล่าวเป็นการสอบสวนตามพ.ร.บ.อุ้มหายฯ ดังนั้น จึงมีหน่วยงาน 2 หน่วยที่จะต้องรับผิดชอบในการสอบสวน ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และดีเอสไอ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ทำหนังสือมาถึงสำนักงานอัยการสูงสุด

โดยที่สำนักงานการสอบสวน ได้ประเมินเรื่องเสนออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดได้เป็นผู้ชี้ขาดว่าให้ดีเอสไอเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนในคดีดังกล่าว ตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดสอบสวน จะเป็นตำรวจ ดีเอสไอ หรือฝ่ายปกครอง ก็จะต้องมีพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด มาทำหน้าที่กำกับตรวจสอบสำนวนการสอบสวน อาทิ คดีเป้รักผู้การ หรือคดีลุงเปี๊ยก เป็นต้น

นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า ในคดีที่ลูกชายอดีตตำรวจได้ถูก 7 ตำรวจจราจรก่อเหตุกระทืบจนได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ทางอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานอัยการมาทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับสำนวนการสอบสวน โดยมอบหมายให้ตนเองเป็นหัวหน้าคณะ วันนี้จึงถือเป็นการประชุมครั้งแรก

นอกจากนี้ ตนอยากเรียนให้ทราบว่าอาจมีบางคนมองว่าคดีดังกล่าวควรเป็นอำนาจการพิจารณาของสำนักงาน ป.ป.ช. หรือไม่นั้น คำตอบคือ หากมีความผิดตาม พระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และยังมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ตามอำนาจแล้วมีหน้าที่แจ้งให้ ป.ป.ช. เพื่อทราบเท่านั้น โดยที่ ป.ป.ช. จะไม่ได้มีอำนาจในการไต่สวนเหมือนคดีทั่วไป

กล่าวคือ ถ้าหากเป็นคดีทั่วไป เช่น เป็นคดีความผิดต่อเจ้าพนักงาน แต่ไม่มีความผิดความ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อันนี้จึงจะเป็นอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. แต่ถ้าเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ป.ป.ช. แล้วยังมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อันนี้จะไม่ใช่อำนาจของ ป.ป.ช. แต่จะเป็นอำนาจของตำรวจ หรือดีเอสไอ หรือฝ่ายปกครอง สอบสวนได้เอง ซึ่งในเรื่องนี้อัยการสูงสุดได้มอบให้ดีเอสไอดำเนินการสอบสวน

นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า การประชุมความคืบหน้าได้รับทราบว่าดีเอสไอมีการสอบสวนปากคำทางผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายร่างกาย และได้สอบปากคำทางบิดาผู้เสียหาย แฟนสาวผู้เสียหาย พี่สาวและน้องสาวผู้เสียหาย รวม 5 ราย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการสอบสวนเบื้องต้นครั้งแรกที่เป็นเพียงเรื่องสืบสวน แต่วันนี้เราได้มีการกำหนดกลุ่มพยานเพิ่มเติมที่จะต้องสอบปากคำ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แม้กระทั่งเรื่องภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งจะเห็นภาพค่อนข้างชัดเจน แต่เราก็ให้ดีเอสไอไปทำการสอบปากคำเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ คือ เจ้าหน้าที่เขตจตุจักร ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุ

นอกจากจะสอบปากคำกลุ่มผู้เสียหายแล้ว เราก็จะต้องมีการสอบปากคำกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดูว่ามีใครปฎิบัติหน้าที่ในเวลานั้นบ้าง และแต่ละคนมีหน้าที่ทำอะไรในด่าน โดยจะเป็นการดูภาพจากกล้องวงจรปิดประกอบกัน และเรามุ่งเน้นการสอบสวนปากคำเพื่อให้เห็นพฤติการณ์การกระทำความผิดว่าจะมีใครเกี่ยวข้องนอกเหนือจากตำรวจ 7 ราย อีกบ้างหรือไม่ ซึ่งในบรรดาตำรวจทั้ง 7 รายนี้ มีตำแหน่งยศร้อยตำรวจเอก จำนวน 1 ราย ยศสิบตำรวจเอก จำนวน 5 ราย และสิบตำรวจโท จำนวน 1 ราย แต่อาจต้องดูว่ามีระดับผู้บังคับบัญชาหรือใครเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ เพราะโดยหลักการแล้วลูกน้องมักจะต้องรายงานผลการปฎิบัติการไปยังผู้บังคับบัญชาให้รับทราบ จึงต้องมีการเชิญผู้บังคับบัญชามาสอบสวนปากคำด้วยว่าในการปฎิบัติหน้าที่วันดังกล่าวของลูกน้องได้มีผลรายงานอย่างไรบ้างและตนเองนั้นรับทราบหรือไม่ อย่างไร หรือลูกน้องไม่ได้มีการรายงาน หรือช่วยกันปกปิดหรือไม่

นายวัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการดูพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 ราย และระดับผู้บังคับบัญชาแล้ว เราก็จะดูไปถึงการแจ้งการจับกุม เพราะในเคสดังกล่าว ตำรวจได้มีการแจ้งการจับกุมมายังหน่วยงานเดียวคือ อัยการ แต่ไม่ได้แจ้งไปยังฝ่ายปกครอง ทั้งยังเป็นการแจ้งหลังเกิดเหตุไปแล้ว 3 วัน ทั้งที่สาระทางกฎหมายอุ้มหายฯ ได้กำหนดไว้ว่าต้องแจ้งการจับกุมทันทีต่อพนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง

ตนจึงอยากเน้นย้ำว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือดีเอสไอ เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหา หรือมีการควบคุมตัวผู้ต้องหา จะต้องมีการแจ้งการจับกุมทุกกรณีต่อพนักงานอัยการและฝ่ายปกครองให้รับทราบ เพราะการไม่แจ้ง จะมีผลทางกฎหมายในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เพราะถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ อาจถูกพิจารณาในความผิดมาตรา 157

นายวัชรินทร์ กล่าวว่า สำหรับการตั้งข้อสังเกตเรื่องที่ตำรวจ 7 นายทำร้ายร่างกายผู้เสียหายผิดคันรถนั้น ตนไม่ถือว่ามีผลใดทั้งสิ้นในทางคดี ใช้เป็นคำกล่าวอ้างไม่ได้ เนื่องจากทางผู้เสียหายไม่ได้กระทำความผิดอะไร มีการเข้าด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามที่ปรากฏในภาพกล้องวงจรปิด หรือแม้กระทั่งถูกคันก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ไม่มีสิทธิไปทำร้ายร่างกายหรือทรมานบุคคลใด

เพราะสาระทางกฎหมายอุ้มหาย ได้มีการระบุระวางอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ 5 ปี สูงสุด 15 ปี ดังนั้นจะผิดหรือถูกคัน ตำรวจไม่มีสิทธิ์อ้างในการไปทำร้ายร่างกายใคร จากการสอบสวนเบื้องต้น ทั้ง 7 ตำรวจ อาจเข้าข่ายฐานความผิดมาตรา 5 เนื่องจากเป็นการกระทำอันตรายต่อร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง แต่ยังไม่ถึงขั้นกระทำย่ำยีละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนสำนวนคดีหลักที่มีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 ราย ทราบว่าทางตำรวจ สน.บางเขน ได้มีการส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช.แล้ว ซึ่งจริงๆไม่ต้องส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. เพราะเมื่อเกิดพฤติการณ์เกี่ยวกับกฎหมายอุ้มหาย สิ่งที่ต้องทำคือการแจ้ง ป.ป.ช. ให้รับทราบเท่านั้น วันนี้ที่ประชุมจึงมีมติให้ทางดีเอสไอทำหนังสือถึงเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอสำนวนดังกล่าวคืนจาก ป.ป.ช. มาดำเนินการ

นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ในการส่งสำนวนของ สน. บางเขน ไปยัง ป.ป.ช. มีความเป็นไปได้ว่าในตอนนั้น เจ้าพนักงานมองว่าเป็นเพียงความผิดตามกฏหมายของ ป.ป.ช. คือ ความผิดต่อเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่แม้ว่าดีเอสไอจะยังไม่ได้รับสำนวนคืนกลับมาจาก ป.ป.ช. แต่ก็ได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว เพราะเมื่อรับเป็นคดีพิเศษแล้ว จะต้องมีการสอบสวนกลุ่มพยานใหม่อีกครั้ง และเราได้ตั้งกรอบการทำสำนวนว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนนี้

นายวัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า ตนอยากประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นการจับกุมใดก็ตาม จะต้องมีการบันทึกภาพและเสียง มีการแจ้งการจับกุมไปยังพนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง ให้ตระหนักถึงสาระกฎหมายในเรื่องการอุ้มหายและการซ้อมทรมาน เพราะถึงแม้ว่ากฎหมายจะมีอายุการบังคับใช้ครบสองปี แต่บางหน่วยงานก็ยังไม่ได้มีการแจ้งการจับให้ครบถ้วน

ด้านนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ดีเอสไอ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าเรื่องร่างระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือ การเยียวยา และการฟื้นฟู ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันจากกฎหมายอุ้มหายนั้น ปัจจุบันนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมเองได้มีการยื่นเอกสารและขอความเห็นชอบไปแล้ว ว่าเราอยากให้มีการออกระเบียบเพื่อที่จะได้มีการนำเงินมาเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียหาย ทั้งนี้ ให้คำยืนยันว่าเป็นเรื่องระหว่างหน่วยงานที่เราต้องติดตามต่อไป แต่ก็ต้องอาศัยการพิจารณาของกระทรวงการคลังด้วยว่าจะมีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณในการใช้เยียวยาผู้เสียหายทั้งสิ้นกี่บาท และตกเคสละกี่บาท ส่วนเรื่องการขอรับการคุ้มครองพยานของทางฝั่งผู้เสียหาย ยังไม่ได้มีการแจ้งเรื่องขอมา เนื่องด้วยผู้เสียหายยังไม่พบพฤติกรรมการถูกข่มขู่คุกคาม แต่ถ้าผู้เสียหายถูกข่มขู่คุกคาม กรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีมาตรการในการคุ้มครองพยานตามคำร้องแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่ชี้ชัด 'อดีตผกก.โจ้' ถูกผู้คุมกลั่นแกล้ง-ทำร้าย สอบเพิ่มเพื่อนผู้ต้องขัง รอผลชันสูตรทางการ

คณะอนุกรรมการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน มีมติชะลอสรุปผลคดีอดีต ผกก.โจ้ ถูกทำร้ายร่างกายในเรือนจำกลางคลองเปรม แจง ขอให้ สน.ประชาชื่น ไปทำการสอบสวนให้ครบถ้วนรอบด้านก่อน เพื่อให้ความยุติธรรมและโปร่งใส พร้อมรอผลชันสูตรพลิกศพทางการจากนิติวิทย์ ยธ. - นิติเวช

ญาติอดีตผกก.โจ้ ร้อง 'ดีเอสไอ' ตรวจสอบการเสียชีวิตในห้องขัง เชื่อถูกทำร้าย

ครอบครัวอดีต ผกก.โจ้ เข้าพบ ”ดีเอสไอ" ร้องสอบปมการเสียชีวิตในเรือนจำ ยกหารือเรื่องการซ้อมทรมานตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

'กลาโหม' งัดกฎเหล็ก ป้องกันซ้อมทรมานทหารเกณฑ์ ฝ่าฝืนมีโทษออกจากราชการ

พลตรีธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ถึงการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ว่า จากการที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โฆษก ทบ. แจงปมเจ้ากรมยุทธฯทำร้ายทหาร รอสอบพยานเพิ่ม ชี้บทลงโทษด้านวินัย

พ.อ.ฐิต์รัชช์ สมบัติศิริ โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ร้องเรียนเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ขณะนี้การสอบพยานหลักฐานยังไม่แล้วเสร็จ แต่มีคำสั่งให้เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก

พ่อสุดทน! ใช้ขวานจามหัวลูกสาหัส หลังโดนทำร้ายมานาน

พ่อเหลืออด! รองรับอารมณ์ลูกชายมานาน หลังลูกอาละวาดขู่ฟันคอพ่อกับแม่ที่ป่วยติดเตียง ใช้ขวานฟันหัวลูก สาหัส สารภาพสิ้นกะฟันให้ตายคามือ