ชาวนาลุ่มน้ำชีเดือดร้อน น้ำท่วมนาข้าวเสียหายหนัก ชี้บริหารจัดการน้ำผิดพลาดต้องรับผิดชอบ

29 ก.ย.2566 - เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดรัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ร่วมกันตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรว่าเกิดจากชลประทานบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทั้ง ๆ ที่กรมอุตุนิยมวิทยาก็ประกาศเตือนแล้ว และน้ำก็ไม่น่าจะท่วม ในขณะที่ชาวบ้านลุ่มน้ำชีลงทุนทำนาปี และนาปรังรอบสองถูกน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรจะร่วมเดือนคาดว่าต้นข้าวไม่น่าจะรอด ในขณะบางพื้นที่ต้นข้าวนาปรังรอบสองที่ปลูกไว้ทำพันธุ์ข้าวต้องเกี่ยวข้าวแย่งน้ำแม้เมล็ดข้าวจะยังไม่สุกเต็มที่

นายนิมิต หาระพันธ์ อายุ 64 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร กล่าวว่า น้ำไม่น่าจะท่วมพื้นที่การเกษตร และถนนหนทางแบบนี้ เนื่องจากทางพี่น้องเครือข่ายน้ำชีเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จึงได้ลงทุนทำการเกษตรหรือทำนากันอย่างเต็มที่ แต่การบริหารจัดการน้ำของระบบชลประทานก็ผิดพลาด ซึ่งสาเหตุของปัญหานั้นเกิดจากเขื่อนกั้นแม่น้ำชี โดยเฉพาะเขื่อนยโสธร-พนมไพร ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของชลประทานนั้นไม่สามารถที่จะบริหารจัดการน้ำได้จริง

นายนิมิตกล่าวว่า เขื่อนกักเก็บน้ำต้นทุนสูงมากเกินไป เมื่อน้ำมามากแล้วค่อยระบายทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ตำบลขุมเงิน อำเภอเมืองยโสธร ตำบลสงเปือย ตำบลย่อ ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร และอีกหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางหมู่บ้านต้องลุยน้ำเกี่ยวข้าวนาปรังรอบสองแย่งกับน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องฟังชาวบ้านในพื้นที่จริงเพราะเขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำของชลประทาน และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร เรียกร้องให้เป็นรูปธรรมด้วย

นายจันทรา จันทาทอง อายุ 48 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า น้ำได้เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2566 น้ำที่ไหลมาจากลำห้วย จากกุด ไม่สามารถไหลลงแม่น้ำชีได้อย่างปกติเหมือนเดิมทำให้น้ำหนุนและเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง ที่น่าแปลกใจเนื่องจากน้ำในแม่น้ำชีไม่น่าจะเอ่อท่วมพื้นที่นา เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำชีก่อนหน้านั้นถือว่ายังไม่เข้าขั้นวิกฤติ จากวันที่ 9 กันยายน 2556 ถึงวันนี้ น้ำในแม่น้ำชีกลับเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรอย่างรวดเร็ว น้ำจากกุด จากลำห้วยไม่สามารถไหลลงแม่น้ำชีก็ยิ่งทำให้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรจะขยายวงกว้าง

“สาเหตุของปัญหาคือ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ในแม่น้ำชี และการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของชลประทาน โดยปกติแล้วในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรชาวบ้านจะเรียกว่า น้ำแก่ง หรือน้ำมาสะหัวข้าว ทำให้ข้าวเขียวงาม ลำต้นแข็งแรง ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ และจะท่วมเพียงแค่ 7-15 วัน แล้วก็ลดลง ไม่ทำให้ข้าวในนาเน่า แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาและปัจจุบันไม่มีให้เห็นเหมือนอดีตที่ผ่านมาหลังจากมีเขื่อน ข้อเสนอต่อรัฐบาล คือถ้ามองในเรื่องนโยบายใหญ่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือโครงการผัน น้ำโขง เลย ชี มูล ผมมองว่าควรพอได้แล้วครับ อย่ามาอ้างว่าอีสานแล้งเพราะพี่น้องชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำชีได้รับผลกระทบจากท่วมมากแล้ว อยากฝากถึงรัฐบาลว่าพอได้แล้วละครับ ที่รัฐจะดำเนินโครงการผันน้ำเข้ามา หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ พอได้แล้วครับ”นายจันทรา กล่าว

นายสุรเชษฐ์ โคตรบรรเทา เครือข่ายลำน้ำยังอำเภอโพนทอง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เกิดจากการชลประทานบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ให้ความสำคัญและดูแลเฉพาะฝั่งที่มีพนังกั้นลำน้ำยัง ที่เป็นพื้นที่ของ ตำบลนาแซง อำเภอเสลภูมิ ส่งผลกระทบให้พื้นที่ของตำบลโคกกกม่วง เกิดน้ำท่วมทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ.2559 เป็นต้นมา แต่ชลประทานก็ไม่ดำเนินการแก้ไขเลย

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชี ทั้งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธรนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ว่าพึ่งเคยเกิดขึ้นแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลังจากมีนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าปีนี้เขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในลำน้ำสาขาแม่น้ำชี ก็มีปริมาณกักเก็บยังไม่ถึง 70% เช่น เขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาณน้ำกักเก็บในปัจจุบัน 85.45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52% เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำกักเก็บในปัจจุบัน 1.550.61 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64% แต่ในขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวปัจจุบันกักเก็บเกินความจุอยู่ที่ 2,050.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 104% และต้องระบายน้ำลงแม่น้ำชี 27.63 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากเขื่อนลำปาวรองรับน้ำจากพื้นที่อุดรธานีอีกเส้นทาง

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า น้ำในปีนี้ไม่น่าจะท่วมพื้นที่การเกษตร แต่เมื่อน้ำมีเจ้าของ ความเป็นเจ้าของยิ่งกลับบริหารจัดการน้ำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้น้ำท่วมซ้ำซาก ในลำน้ำยัง และริมฝั่งแม่น้ำชีโดยเฉพาะจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร”นายสิริศักดิ์ กล่าว

ผู้ประสานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการฯ กล่าวว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะพบในพื้นที่น้ำชีตอนล่าง ด้วยสาเหตุปัญหาสำคัญคือ 1.เขื่อนที่ถูกสร้างกีดขวางทางน้ำทำให้น้ำไหลไม่ปกติในลุ่มน้ำชี เช่น เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี ภายใต้โครงการโขง ชี มูล เดิม ก่อให้เกิดสภาพปัญหาน้ำท่วมขังอย่างยาวนานในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ส่งผลต่อพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ลดน้อยลง 2.พอมีการสร้างเขื่อนก็จะปิดทางน้ำเดิมเพื่อเปิดเส้นทางเดินน้ำใหม่ ประกอบกับการสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อบังคับน้ำให้ไหลไปในทิศทางเดียว จึงทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับน้ำในพนังกั้นน้ำไม่สามารถไหลลงแม่น้ำชีได้และน้ำนอกพนังกั้นน้ำก็เอ่อทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไปน้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร 3.การบริหารจัดการน้ำของชลประทานผิดพลาด เนื่องจากเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์โดยรัฐ 4.ถนนหนทางที่สร้างขวางลำน้ำ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นชลประทานจะหลีกเลี่ยงที่จะโยนความรับผิดชอบไม่ได้ แต่จะต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการน้ำผิดพลาด จากที่น้ำไม่น่าจะท่วม กลับบริหารจัดการน้ำให้เกิดความผิดพลาดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ฉะนั้นชลประทานต้องออกมารับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น”นายสิริศักดิ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งเดินหน้ารับมือภัยแล้ง หลังพบ 4 แห่ง ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยขณะนี้ มีปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ 46,027 ล้านลูกบาศก์

“พิพัฒน์” ห่วงใยแรงงาน ส่งหน่วยงานในสังกัดเข้าช่วยลูกจ้างน้ำท่วมศรีราชา ขอความร่วมมือนายจ้างไม่ถือเป็นวันลา ได้ค่าจ้างปกติ

วันที่ 21 มีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในเขตพื้นที่ อ.ศรีราชา

'ดร.เสรี' ชี้น้ำท่วมใหญ่ของจริงยังไม่มา ยกเหตุชลบุรีจมบาดาล อนาคตจะรุนแรงมากกว่านี้

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #น้ำท่วมใหญ่ของจริงยังไม่มา ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลง

กรมอุตุฯ เตือน 46 จังหวัด ระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ใน 24 ชม.ข้างหน้า

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้

พายุฤดูร้อนพ่นพิษ! ชลบุรีจมบาดาล ฝนตกหนักน้ำท่วมถนนหลายสาย การจราจรเป็นอัมพาต

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า วันนี้ เวลา 16.05 น. สวนเสือ-หนองค้อ รถเล็กไม่ควรผ่าน ระดับน้ำท่วมสูงมาก ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ทำให้สายแรงสูงขาดหลายจุด หลายที่ ไฟดับบริเวณกว้าง พื้นที่อำเภอศรีราชา ชลบุรี

ฝนถล่มหนัก สัตหีบจมบาดาล บ้านเรือน-ถนนสุขุมวิทระบายน้ำไม่ทันท่วมขังสูง

ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ ได้เกิดเหตุฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง ทั่วพื้นที่ในเขต อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่งผลให้บ้านเรืยนประชาชน พื้นที่ผิวจราจร ช่วงบนถนนสุขุมวิท และตามซอกซอย ในหลายจุดต่างได้รับความเดือดร้อนถูกน้ำท่วมขัง