วิจารณ์กระหึ่ม! บันไดคอนกรีตกันคลื่น ทำหาดชะอำใกล้สิ้น 'ศศิน' แนะรื้อโครงสร้างแข็งออก

วิจารณ์กระหึ่มโซเชียล บันไดคอนกรีตกันคลื่นทำหาดทรายชะอำใกล้สิ้น นักกฎหมายชี้ตรวจสอบสถานะโครงการ-หากทำลายทรัพยากรธรรมชาติฟ้องศาลให้ระงับได้ “ศศิน”แนะรื้อโครงสร้างแข็งออก

7 ม.ค.2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสื่อสังคมออนไลน์ได้ลงภาพและโพสต์ข้อมูลกรณีที่นักท่องเที่ยวพากันผิดหวังภายหลังเดินทางไปเที่ยวหาดชะอำใต้ในช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวได้มีการสร้างบันไดคอนกรีตกันคลื่นตามโครงการรก่อสร้างฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ชายหาดชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ยาวกว่า 1,400 เมตรซึ่งดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มูลค่า 102.9 ล้านบาท ทำให้หาดทรายบริเวณดังกล่าวหายไปและภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงจนนักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณถึงความเหมาะสมของโครงการดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า และ นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งระบุว่าหาดชะอำเคยเป็นหาดที่มีชายหาดที่กว้างมาก หากดูปัจจุบันพื้นที่ที่สร้างโครงการหาดทรายจะหายไป ส่วนหาดที่ยังไม่มีการสร้างทรายจะยังคงมีอยู่จำนวนมากและกว้าง

“เสียดายที่หาดถูกแก้ปัญหาการกัดเซาะไม่ถูกจุด เพราะการใช้โครงสร้างแข็งไปวางจะยิ่งทำให้หาดทรายที่มีอยู่หายไปจนหมด เหลือแต่ลานคอนกรีตในอนาคต ดูตัวอย่างได้จากหาดในจังหวัดประจวบฯ ไม่ว่าจะเป็นหาดประจวบฯ หาดคลองวาฬ และหาดอื่นๆที่มีการทำกำแพงกันคลื่น” น.ส.ส.รัตนมณี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าโครงการนี้ได้เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติในทางที่เลวร้ายลง หากจะมีการดำเนินการในเฟส 2 อีก ประชาชนมีสิทธิยับยั้งหรือไม่ นางสาวเฉลิมศรี กล่าวว่าการก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งประเภทนี้เท่าที่ทราบ เมื่อสร้างแล้วจะต้องสร้างต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากจะมีการกัดเซาะไปเรื่อยๆ หากมีการรุกล้ำหาดทราย การป้องกันไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของคนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นเท่านั้น แต่ผู้ที่ใช้ประโยชน์ จะเป็นคนเดียวหรือคณะบุคคล หรือองค์กรที่มีจุดประสงค์ในการอนุรักษ์ชายหาด ย่อมสามารถใช้สิทธิในการออกมาปกป้อง หรือเรียกร้องสิทธิของชายหาดได้ ในเมื่อเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง กำลังถูกทำลายลง

เมื่อถามอีกว่า โครงการที่ดำเนินไปแล้วกว่า 1,400 เมตร ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ประชาชนมีสิทธิดำเนินการอย่างใดบ้าง นางสาวเฉลิมศรีกล่าวว่า เมื่อทราบว่ามีการดำเนินโครงการในลักษณะที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ควรทำหนังสือให้สอบถามถึงสถานะของโครงการและให้ชะลอการก่อสร้างไปก่อน เนื่องจากโครงการไม่มีความเหมาะสมต่อพื้นที่ ไม่มีความปลอดภัย และไม่มีความจำเป็นต่อชายหาด และหากดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว หน่วยงานยังดำเนินโครงการต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีความจำเป็น สมควรฟ้องคดีต่อศาลในท้ายที่สุด

“ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมา เกิดจากการไม่ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานรัฐ ในด้านการศึกษาสภาพชายหาด และหาทางป้องกัน ที่สำคัญโครงการที่เกิดขึ้นนี้ มีผลจากการแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เมื่อ ปี 2556 ที่ได้นำโครงการกำแพงกันคลื่นออกไป ทำให้โครงการในลักษณะนี้ไม่ต้องทำรายงาน EIA ทำให้หน่วยงานเร่งดำเนินการให้มีขึ้นจำนวนมากเกินกว่า 50 โครงการจากหลายหน่วยงาน โดยหน่วยงานรัฐมักอ้างว่า มีเหตุเดือดร้อนของประชาชน”น.ส.เฉลิมศรี กล่าว

นางสาวส.รัตนมณี กล่าวว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินโครงการว่าได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยต้องดูว่า มีการที่จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าจะมีผลอย่างไร หากมีโครงการ การให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนของโครงการต่อประชาชนและสาธารณะ การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการขออนุญาตดำเนินการก่อสร้าง เพราะการก่อสร้างนี้จะเป็นเรื่องการสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ต้องขออนุญาตก่อสร้างจากกรมเจ้าท่า การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่จะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นต้น

นางสาวส.รัตนมณี กล่าวว่ามูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนทำงานร่วมกับกลุ่ม Beach for Life ติดตามสถานการณ์ปัญหาโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งมาโดยตลอด ได้มีการฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหลายคดี เช่น หาดชลาทัศน์ หาดม่วงงาม จ.สงขลา หาดอ่าวน้อย หาดคลองวาฬ จ.ประจวบฯ เห็นว่า ศาลปกครองเริ่มเข้าใจในสถานการณ์ปัญหา และพยายามให้ความคุ้มครองและป้องกันชายหาด กรณีหาดชลาทัศน์หลังจากฟ้องไปแล้วทางจังหวัดได้เปลี่ยนการสร้างโครงสร้างแข็งเป็นการเติมทราย ซึ่งต่อมาทางหาดพัทยาก็ใช้การแก้ปัญหาด้วยการเติมทรายเช่นเดียวกัน

ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ที่หาดนี้เทศบาล พ่อค้าแม่ค้า เขาเห็นการกัดเซาะชายฝั่งจริงๆ ครับ แต่ไม่มีความรู้ว่าสาเหตุเพราะอะไร และไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรเพราะคลื่นทะเลก็รุกเข้ามาทุกปี”

นายศศิน ระบุว่า มี 3 เรื่องที่มองด้วยตาไม่เห็น คือ 1. ถนนเลียบหาดชะอำ สร้างบนเนินทรายธรรมชาติมานานหลายสิบปี มีกิจกรรมสารพัดหน้าถนนนี้ รบกวนการสะสมตัวของทรายจากลมพัดขึ้นฝั่ง และทำหน้าที่ปะทะแรงคลื่นช่วงมรสุม ให้ทรายย้อนไปเป็นหาดทรายและสันดอนทรายใต้น้ำ ก่อนที่คลื่นดิ่งเบาๆในช่วงหลังมรสุมจะพาขึ้นมาแต่งหาดให้สวยใหม่ อันนี้แก้ยากที่สุด อาจจะต้องพึ่งการเติมทรายจากแหล่งทรายใกล้ๆมาช่วย

2. ทุกคนอยากได้หาดทรายกว้างๆ ตลอดไป เพื่อวางร่ม-เก้าอี้ผ้าใบ ด้านหลังจอดรถ ด้านหน้าให้วิ่งเล่นและลงน้ำ ซึ่งตามธรรมชาติจะไม่เป็นแบบนั้นเพราะมีน้ำขึ้น-น้ำลง และช่วงหาดกว้างสวยหลังมรสุมเดือน มี.ค.จนถึง ต.ค. และหาดแคบช่วงฤดูมรสุม 4 เดือน พ.ย.- ก.พ. จึงมีความพยายามถมหิน เทปูนให้พื้นที่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงคงที่เข้าไว้ โดยคิดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อหน้าหาดที่เป็นหาดทรายกว้าง แต่ที่ไหนได้ คลื่นที่ปะทะแนวหินจะแรงยกตัวและพัดทรายหน้าหาดออกไปเรื่อยๆ หลายปี หาดก็ลึกหดแคบเรื่อยๆ ทำให้เกิดการกัดเซาะหาดทรายให้แคบลึก จนน่ากลัวว่าจะเซาะถึงที่จอดรถและถนน อันนี้ควรแก้ไขโดยการรื้อโครงสร้างแข็งพวกนี้ออกและยอมให้หาดทรายขยาย-หดตามธรรมชาติ เราก็ใช้หาดเท่าที่เป็นปกติ

3. ลานเอนกประสงค์ของเทศบาลสร้างยื่นไปในทะเล ให้คนไปยืนถ่ายรูป กีดขวางตะกอนและกระแสน้ำ และทำให้คลื่นปะทะเลี้ยวเบนเข้ากัดเซาะบริเวณที่สิ้นสุดลาน ทำให้ต้องถมหินป้องกัน เมื่อถมหินเริ่มต้น คลื่นจะปะทะแล้วเลี้ยวเบนกัดเซาะต่อเนื่อง และต้องถมหินไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ผสมกับข้อ 2 เลยไปกันใหญ่ ถ้ายอมรื้อให้อยู่ในแนวเส้นชายฝั่ง จะช่วยได้เยอะ

“โครงการเขื่อนใหญ่ขั้นบันไดให้ม้าวิ่ง นี้เริ่มเกิดขึ้นในช่วงปี 2556-2558 ช่วงนั้นหน่วยงานต่างๆ ยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องธรณีสัณฐานชายฝั่งกันครับ ตอนนี้มีความรู้แล้วก็หวังว่าคนรุ่นหลังจะค่อยๆหาทางแก้ไขให้ถูกต้องในระยะต่อไปนะครับ รัฐบาลหน้ากรุณาหารัฐมนตรีที่รู้เรื่องมาแก้ไขด้วยนะ คุณบิ๊กป็อกแกไม่เชื่อใคร”นายศศิน ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ในหลวง' ทอดพระเนตร 'พระราชินี' ทรงแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวจาก ชะอำ ถึง สัตหีบ

'ในหลวง'ทอดพระเนตร 'พระราชินี' ทรงแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวเส้นทางจากชะอำ จ.เพชรบุรี ถึงอ่าวเตยงาม สัตหีบ จ.ชลบุรี

พ่อเมืองเพชรบุรี แต่งชุดไทยทรงดำ นำขบวนอัญเชิญพระบรมรูป ร.4 ขึ้นเขาวัง สืบสานตำนาน 'ลาวหามเจ้า'

ที่บริเวณหน้าอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนครคีรี(สนามหน้าเขาวัง) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานเปิดงาน

‘ป่าสร้างคน...คนสร้างป่า’ ที่บ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี “ป่าชุมชนที่ขจัดความจน...และฝายมีชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน”

ข้อมูลจากกรมป่าไม้ระบุว่า ปัจจุบันมีป่าชุมชนทั่วประเทศที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 จำนวน 12,801 หมู่บ้าน จำนวนป่า 11,191 แห่ง รวมเนื้อที่ 6,228,726 ไร่