ชะลอโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น “ธรรมนัส”สั่งผู้บริหาร กษ.คิดใหม่ทำใหม่ไม่ยึดติดวิธีการเดิมที่ไปไม่ได้ แกนนำชาวบ้านสะเอียบวอนสังคมขอความเป็นธรรมให้ชุมชน-เชื่อมีผลประโยชน์แอบแฝงต้องการไม้ป่าสักทอง
2 ก.ย.2567 - ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)และอาจารย์คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะผู้บริหาร กษ.โดยกล่าวว่า โครงการแก่งเสือเต้นไม่ใช่เป็นโครงการที่ กษ.ผลักดันในตอนนี้ แต่จะเน้นในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม และการป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำยม ซึ่งรวม จ.สุโขทัยด้วย โดย ร.อ.ธรรมนัส เน้นย้ำว่าโครงการที่มีมาในอดีต หากมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนมาก เราก็ไม่อยากทำ กษ.และกรมชลประทาน (ชป.) พยายามคิดใหม่ทำใหม่
“ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า โครงการที่เคยคิดไว้แล้วทำไม่ได้ ก็จะเปลี่ยนไปทำวิธีใหม่ๆ บ้าง ไม่ยึดติดกับโครงการเดิมๆ ซึ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ได้รับโจทย์คือเอาเส้นของลุ่มน้ำมาดูและตัดปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาต่างๆ ซึ่งก็มีโครงการของ ชป.บางตัวอยู่ระหว่างศึกษาอีไอเอ (รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม) บางตัวก็ศึกษาออกแบบ ที่ อ.งาว (จ.แพร่) มีโครงการที่ตัดปริมาณน้ำออกไปได้ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ที่ อ.เชียงม่วน มีโครงการน้ำปี๊ ที่ก่อสร้างแล้วแต่ผู้รับเหมาทิ้งงาน จะตัดปริมาณน้ำได้ 90 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้ได้ผู้รับเหมาใหม่แล้ว ที่ อ.ปง มีโครงการเล็กซึ่งก็ตัดปริมาณน้ำได้บางส่วน ซึ่งมาดูรายละเอียดกันเพื่อตัดปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาไม่ให้ลงมาลุ่มน้ำยมตอนล่าง”ดร.ศิตางศุ์ กล่าว
ที่ปรึกษารัฐมนตรี กษ.กล่าวว่า เราเร่งการระบายก่อนน้ำจะมาถึงประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ซึ่งโครงการลุ่มน้ำยมน่าจะเพิ่มความจุและขยายกำลังการระบาย สามารถป้องกันไม่ให้น้ำมาสุโขทัยได้ 500 ล้าน ลบ.ม.ดึงผ่านไปทางยมน่านได้ 1,200 ลบ.ม. ก็ยังเป็นโครงการอยู่ ไปเพิ่มการทำฝายตามลำน้ำน่าน ฝั่งตะวันตกมีคลองระบาย บายพาสน้ำอ้อมไปไม่ให้ผ่านตัวเมือง ก็มีแนวคิดว่าจะขยายออกไปอีก จะดึงน้ำไปให้ได้อีก 200 ล้าน ลบ.ม. แนวทางอาจเชื่อมลงมาถึง จ.กำแพงเพชร และอาจเป็นอ่างพวงให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แก้ปัญหาน้ำแล้งขาดแคลนของลุ่มน้ำปิงตอนล่าง เพิ่มการระจายน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนล่างก็ช่วยเกษตรกรได้ มีหลายโครงการที่กำลังพิจารณาว่าทำได้ทำเลย คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน มีการทำกระบวนการมีส่วนร่วม
“ภาคประชาชนได้มีการยื่นหนังสือมาที่ ชป.กรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งชป.ทำหนังสือกลับไปว่าจะยื่นคณะรัฐมนตรีให้มีมติชะลอ หรือยกเลิก แต่หลังจากนั้นก็ไม่เห็นว่ามีการขยับว่ามาที่ไหน แต่ความชัดเจนคือ รมว.กษ. ไม่ได้มุ่งไปในทิศทางนั้น เพราะเข้าใจดีว่าเงื่อนไขบริบทเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน พี่น้องราษฎรได้รับผลกระทบมาก ร.อ.ธรรมนัสบอกว่าไม่อยากทำ ซึ่งมีแนวทางอื่นอีก คืออะไรคิดทำได้ทำเลยให้กระทบราษฎรน้อยที่สุด” ดร.สิตางศุ์กล่าวว่า และว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น กรมชลประทานไม่ได้ผลักดันใดๆ และการศึกษาอีไอเอทำเมื่อ 30 ปีแล้ว ต่อให้อยากทำ (เขื่อนแก่งเสือเต้น) จริงก็ต้องศึกษาใหม่ หากรอใช้เวลาอีก 10 ปีก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่าการที่พูดทันทีโดยไม่ได้มาดูพื้นที่ จริงๆ มีการรับปากกับสมัชชาคนจนแล้วว่าจะยุติเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่ความที่รัฐมนตรีบางคนที่มาผลักดันว่าจะแก้น้ำท่วมนั้น ควรเอาข้อมูลมาดูให้รอบคอบ สัปดาห์ที่ผ่านมาน้ำมาก ทราบอยู่แล้วว่าหากน้ำมามากกว่า 1,200 ล้าน ลบ.ม.ก็ท่วม หากบอกว่าน้ำมาแค่นี้จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นตนว่าเร็วเกินไป ควรให้หน่วยงานต่างๆ เอาข้อมูลมาดูกันให้รอบคอบ สัดส่วนปริมาณน้ำที่ไหลอยู่ในลุ่มน้ำปิง เทียบกับความจุอ่างแก่งเสือเต้น เพียง 5 วันอ่างก็เต็มแล้ว ก็จะเหมือนกรณีเขื่อนอื่นๆ ที่หากมีปริมาณน้ำเต็มอ่างก็ต้องระบายน้ำลงมา ถามว่าความจุน้ำเขื่อนแก่งเสือเต้นเท่าไหร่ จะมีประโยชน์อย่างไรที่ต้องเสียป่ากว่า 60,000 ไร่ และประชาชนต้องเสียบ้านเรือนไปตลอดชีวิต ไม่ใช่ท่วมเพียงไม่กี่วัน
“เรามีข้อมูลมากมาย ควรศึกษาก่อนไม่ใช่อยู่ๆ เอามาพูด แบบนี้คือปลุกผีแน่นอน มีมติคณะรัฐมนตรี 30 มิย. 2540 ที่สมัชชาคนจนชุมนมจนมีมติ ครม.ให้ชะลอไว้ก่อนและตั้งคณะกรรมการศึกษา มีข้อเสนอว่ามีผลกระทบมากและไม่สามารถเยียวยาได้ ก่อนหน้านี้ มีการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จ 2536 เมื่อเข้าสู่คณะกรรมการของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้องม (สผ.) ก็มีข้อถามมาหลาย 36 ประเด็น เช่น ข้อมูลไม่ครบ แผนที่ ความเสี่ยงแผ่นดินไหว และให้ศึกษาใหม่ จนแล้วเสร็จ 2542
“รายงานเหล่านี้ไม่ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญใดๆ เช่น การอพยพ ไม่มีพื้นที่ให้อพยพประชาชนไปได้ นิเวศป่าไม้สัตว์ป่า พบพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ไม่พบมาก่อน และมีการทำภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าแผนที่น้ำท่วมของกรมชลประทาน ระบุเพียง 45,625 ไร่ เป็นป่าสักทอง 24,000 ไร่ แต่การศึกษาอิสระเพิ่มมาเป็น 65,625 ไร่ ประชาชนชาวสะเอียบปัจจุบัน 4 หมู่บ้านเพิ่มเป็น 1,500 ครัวเรือนแล้วแต่ข้อมูลกรมชลประทานยังเป็น 600 ครัวเรือน เศรษฐกิจชาวบ้านเปลี่ยนไปหมดแล้วจากในรายงานอีไอเอ ข้อมูลเก่าระบุว่าชาวบ้านรายได้ปีละ 25,000 บาท แต่ทุกวันนี้ชาวสะเอียบผลิตสุรากลั่นชุมชน จ่ายภาษีปีละ 500 กว่าล้านบาท รายได้ไม่ต่ำว่า 2,000 ล้านบาท”นายหาญณรงค์ กล่าว
นายหาญณรงค์กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ชาวบ้าน ต.สะเอียบ เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่อีกนับสิบหมู่บ้านจะท่วม รวมทั้งถนนหลวง และสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง ต้องเอาแผนที่มาเทียบระดับน้ำท่วม ที่จะท่วมไปถึง อ.เชียงม่วน จะมาทำตัวเลขผลกระทบให้น้อยแล้วมาแก้ปัญหาทีหลังนั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำชาวบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมที่ลุ่มน้ำยมว่า น้ำท่วมแบบนี้ปกติของพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่แก้มลิงที่จะมีน้ำหลากมาเสมอ แต่เมื่อผ่านไปไม่มีน้ำท่วมก็มีการใช้พื้นที่ขยายการเกษตรหรืออยู่อาศัยเข้ามา เมื่อเกิดน้ำท่วมก็กลับเป็นปัญหา
“อะไรๆ ก็จะสร้างเขื่อน คุณเปลี่ยนความคิดใหม่ได้หรือไม่ เช่น น้ำแม่สอง เวลานี้ล้นตลิ่ง ฝายแกนดินเหนียวเก็บน้ำเต็มแล้ว น้ำก็ล้นตลิ่งออกมา จะพร่องน้ำออกน้ำก็ท่วมอยู่ดี อย่ามาโทษพี่น้องสะเอียบ น้ำท่วมแค่ 2-3 วันบอกจะสร้างแก่งเสือเต้น เมื่อน้ำลงคุณก็เก็บกวาดบ้านอยู่อย่างเดิม แต่หากสร้างเขื่อนที่บ้านเรา เราต้องอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ แล้วรัฐบาลที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าการเยียวยาประชาชนจ่ายให้ที่กรณีเขื่อนปากมูล ฯลฯ จนเวลานี้ยังจัดการไม่เสร็จ”นายสมมิ่ง กล่าว
แกนนำคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกล่าวว่า หากต้องการจัดการน้ำจริงๆ จะไปสร้างที่ไหนก็ได้ แต่ทำไมต้องที่แก่งเสือเต้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่หรือไม่ เพราะพื้นที่นี้มีป่าสักทองสมบูรณ์ซึ่งเพิ่มขยายเป็นถึง 60,000 ไร่
“ทำไมคุณไม่คิดอัปเดทสมองบ้างเลย เอาแต่สมองเก่าๆ มาจัดการ ปัจจุบันโลกพัฒนาไปแล้ว การที่มีกล่าวหาว่าชาวบ้านลักลอบตัดไม้ทำลายป่านั้นตนยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้เลย อุทยานแห่งชาติแม่ยมก็เอาไมโครชิพไปฝังในต้นไม้ที่มีมูลค่าไว้หมดแล้ว ไม่มีใครลักลอบตัดได้ ชาวบ้านสะเอียบมีแต่คิดรักษาป่า หลายปีก่อนบอกว่าจะเก็บน้ำ ก็ไปหาที่เก็บน้ำที่บ้านของคุณสิ ทำไมต้องมาที่สะเอียบด้วย แทนที่จะหาแหล่งน้ำให้คนของตนเอง กลับมาโทษพี่น้องสะเอียบ ผมว่าขอให้ลองปรับเปลี่ยนความคิด คุณจะเอาน้ำมาท่วมชุมชนของผม คิดดีๆ วิธีการอื่นๆ ก็หาจัดการแบบใหม่ คนสะเอียบก็มีหัวใจ ผมขอสังคมให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องสะเอียบด้วย”นายสมมิ่ง กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศปช. พร้อมรับมือฝนถล่มภาคใต้ เร่งขุดลอกวัชพืช ระดมทีมช่างช่วยฟื้นฟูบ้านเรือน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วันที่ 12 – 16 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
DITTO มอบเงินช่วยเหลือน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายชัยทัด กุลโชควณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
12 ธ.ค. เปิดเดินรถเส้นทางรถไฟสายใต้ กทม.-สุไหงโกลก หลังน้ำท่วมหนัก
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)
แม่ทัพทัพภาคที่ 4 มอบถุงยังชีพให้ชาวปัตตานีที่ได้รับความเดือนร้อนจากอุทกภัย
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วย พลเอก มณี จันทร์ทิพย์ ที่ปรึกษา
ยิปซัมตราช้าง ชวนฟื้นฟูบ้าน หลังน้ำท่วมอย่างมืออาชีพ
เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วม หลังน้ำท่วมที่ผ่านพ้นไป สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องรับมือไม่เพียงแต่การทำความสะอาดเท่านั้น แต่ภารกิจสำคัญคือการฟื้นฟูบ้านให้กลับมาน่าอยู่และแข็งแรงกว่าเดิม
พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า หนาวต่อเนื่องถึงคริสต์มาส
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 9 - 23 ธ.ค. 67