‘แจกเงินดิจิทัล’ แค่เริ่มก็เหมือน พล็อตเรื่องเดียว ‘จำนำข้าว’

พล็อตเรื่องของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีความคล้ายคลึงกันในจุดเริ่มต้นกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554 

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คือ นโยบาย ‘พระเอก’ ของรัฐบาลนายเศรษฐา เช่นเดียวกับนโยบายจำนำข้าวที่เป็นพระเอกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในสนามเลือกตั้ง 

นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด ถูกท้วงติงจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง แต่พรรคเพื่อไทยในยุคที่ชู น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายนี้ โดยอ้างประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับ 

ไม่ต่างอะไรกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พรรคเพื่อไทยถูกท้วงติงหนักตั้งแต่ตอนหาเสียงเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการขัดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ตลอดจนการเพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศ แต่พรรคเพื่อไทยยืนกรานว่าจะเดินหน้านโยบายนี้ โดยอ้างเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ 

จวบจนจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ยืนยันที่จะเดินหน้าเป็นเรื่องแรกๆ ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชน  

เสียงคัดค้านและเสียงท้วงติงดังระงมขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในประเทศ ที่ร่วมลงชื่อขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว เพราะได้ไม่คุ้มเสีย 

ในรายชื่อนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กว่าร้อยคน เป็นบุคคลที่มีเครดิตและได้รับการยอมรับในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ดร.วิรไท สันติประภพ ดร.ธาริษา วัฒนเกส 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)   

แต่นายเศรษฐา แกนนำและองคาพยพในพรรคเพื่อไทย ต่างพร้อมใจกันออกมายืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ โดยใช้ความยากลำบากในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของประชาชนมาตอบโต้เสียงท้วงติงเช่นเคย 

อีกสิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 2 นโยบายคือ องคาพยพและตัวละครที่ขยับเขยื้อนคัดค้าน นอกจากนักวิชาการแล้ว ยังมีองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีหน้าที่ทั้ง ‘ป้องกัน’ และ ‘ปราบปราม’   

ตอนนโยบายจำนำข้าว ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ออกมาเตือนเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายว่า หากฝืนกระทำลงไปอาจจะถูกเอาผิดในลักษณะที่ว่า รู้ทั้งรู้ว่าจะเกิดความเสียหายแต่ยังทำ  

ขณะที่ ป.ป.ช.ในตอนนั้นเอง ก็ได้มีข้อเสนอแนะเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนโยบายจำนำข้าวด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองกลับ 

กระทั่งวันหนึ่งเกิดการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ผู้เกี่ยวข้องถูกตรวจสอบกันทั้งแผง ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ จนถึงเอกชน เกิดความเสียหายขึ้นในโครงการ สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย  

ส่วนวันนี้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ได้ออกมาเทกแอ็กชันแล้วเหมือนกัน โดยนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า คณะกรรมการเฝ้าระวังสภาวะการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ศึกษาคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. เกี่ยวกับโครงการเติมเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว 

นอกจาก ป.ป.ช.ที่เกาะติดนโยบาย ตัวละครอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการท้วงติงนโยบายจำนำข้าว และมาท้วงติงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในครั้งนี้ด้วยการร่วมลงชื่อคัดค้าน ยังปรากฏตัวอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่เว้นแม้แต่นายเมธี อดีตกรรมการ ป.ป.ช.เอง 

ส่วนปฏิกิริยาของพรรคเพื่อไทย ยังคงใช้วิธีการตอบโต้เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างการช่วยเหลือประชาชนคนรากหญ้า น้อยมากที่จะงัดง้างด้วยข้อมูล ตัวเลข สู้กับเหล่านักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ 

ภาพนี้มันกลายเป็นพล็อตเดิมๆ คือ การสู้กันระหว่างนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย เพราะห่วงความเสียหายกับพรรคเพื่อไทยที่โหนความลำบากของประชาชน 

จะเห็นว่า ‘จุดเริ่มต้น’ มันแทบจะเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว 

เพียงแต่ ‘จุดจบ’ จะเหมือนกันหรือไม่ ยังต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลนายเศรษฐา ต่อเสียงคะคานจากหลายภาคส่วนว่า จะดื้อแพ่ง เลือกลุยฝ่าแบบจำนำข้าว ที่พอเกิดข้อผิดพลาด สุดท้ายพังทั้งขบวน โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องเซ่นความพินาศ ต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ หรือจะรับฟังและปรับปรุงข้อห่วงใยจากฝ่ายต่างๆ เพื่อให้แรงต้านและความเสี่ยงน้อยลง 

ทุกฝ่ายเข้าใจว่า เป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ ไม่สามารถพับได้ เพราะเสียเครดิต แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าเดินหน้าแล้วเกิดความเสียหาย คนที่ต้องเซ่นความรับผิดชอบก็คือ ‘เศรษฐา’ ในฐานะผู้นำและมีอำนาจตัดสินใจ 

ตอนนี้หลายฝ่ายกำลังจับตาว่า จะเลือกแบบไหน หรือจะไป ‘ทางสายกลาง’ คือ เดินหน้า แต่เป็นฉบับแก้ไขจากข้อห่วงใยจากหลายภาคส่วนแล้ว 

ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของ ‘เพื่อไทย’ ทั้งสิ้น.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อุ๊งอิ๊ง”เล่นใหญ่เกินเบอร์ ไล่ทุบ"แบงก์ชาติ"กระแสตีกลับ สงครามเย็น พท.-ธปท.จบยาก

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย ออกมาดาหน้าปกป้อง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร-หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นการใหญ่ หลังโดนวิจารณ์-ถล่มเละ กรณี อุ๊งอิ๊ง เล่นใหญ่เกินเบอร์ ใช้เวทีอีเวนต์การเมืองของพรรคเมื่อ 3 พ.ค. อ่านโพยตามสคริปต์ที่คนเขียนมาให้ ด้วยการ อัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า

'เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง' ควงรมต.ใหม่โชว์ตัวในพื้นที่ ฟุ้งจบปัญหาเรื่องน้ำ เงินดิจิทัลสิ้นปี

คึกคัก! “เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นเวที "เพื่อไทยพบประชาชน" ขอบคุณชาวร้อยเอ็ดเลือกให้เป็นรัฐบาล ย้ำอีกครั้ง เงินดิจิทัลได้แน่สิ้นปีนี้

'เศรษฐา' สั่งพัฒนาแหล่งน้ำทุ่งกุลา ดันข้าวหอมมะลิตีตลาดโลก

นายกฯ รับฟังสถานการณ์น้ำ-แผนพัฒนาทุ่งกุลาฯ สั่ง“กรมชลฯ” ผลักดันศักยภาพทุ่งกุลาฯ หาแหล่งน้ำ -พัฒนาข้าวหอมมะลิไทย หวังตีตลาดโลก เพิ่มมูลค่าสินค้า-สร้างรายได้เกษตรกร

'ชัยชนะ' ฟาดเต็มหน้า 'เพื่อไทย' ดิจิทัลวอลเล็ตคืบหน้าในการหาแพะรับบาป  

“ชัยชนะ” ฟาด โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ มีความคืบหน้าในการหา ‘แพะรับบาป’  ชี้ ‘เพื่อไทย’ เผชิญพายุหมุนที่ไม่สามารถเดินหน้าทำโครงการได้ – แนะเอาโครงการคนละครึ่ง มาปรับปรุงแก้ไข