ระบบ ‘ครม.แฟมิลี่’ แก้ทางจริยธรรมเคี่ยว

การเมืองไทยยังอยู่ภายใต้ ‘ระบบครอบครัว’ จาก ‘พ่อ’ สู่ ‘ลูก’ จาก ‘พี่’ สู่ ‘น้อง’ จาก ‘สามี’ สู่ ‘ภรรยา’ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสนามเล็ก หรือสนามใหญ่ มักเป็นในรูปแบบนี้มาตลอด                

เช่นเดียวกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ดูเหมือนจะมี ‘บรรทัดฐาน’ ใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ การตรวจสอบเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเข้มข้น

แต่เข้มข้นที่ว่า ไม่ได้เกิดจากเจตนารมณ์ของผู้นำรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดมาตรฐานใหม่ หากแต่มาจากบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญวางเอาไว้ในกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

และการตรวจสอบที่เข้มข้นโดยหลายหน่วยงานของผู้นำรัฐบาล ไม่ได้เกิดเพราะต้องการหน้าตาคณะรัฐมนตรีที่สง่างาม แต่มาจากการกลัวถูกลงโทษเหมือนกับนายเศรษฐา

 อย่างไรก็ดี แม้จะเต็มใจ หรือไม่เต็มใจ แต่การระมัดระวังเรื่องการแต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีมากกว่าเดิม ย่อมเป็นเรื่องดี ที่อย่างน้อยจะไม่ได้เอาคนที่มีมลทิน หรือสังคมไม่ยอมรับมาเป็นเสนาบดี เหมือนในอดีตที่ว่าตั้งใครก็ได้ ไม่ต้องแคร์สายตาประชาชน

 เพียงแต่มันยังไม่เกิดมิติใหม่ทางการเมืองอยู่ดี เมื่อเหตุผลในการเลือกบุคคลมาเป็นรัฐมนตรียังเป็น ‘ระบบโควตา’ มากกว่าความรู้ความสามารถ  

 แต่ละพรรคได้สัดส่วนรัฐมนตรี โดยใช้หลักคณิตศาสตร์ นั่นคือ มี สส.เท่าไหร่ และลึกเข้าไปของแต่ละพรรค คนได้เป็นรัฐมนตรีจะมาจากจำนวน สส.ในมุ้ง หรือเป็นตัวแทนของ ‘ทุน’

 ลึกลงไปอีก หากบุคคลใดไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ ก็จะส่งตัวแทนที่เป็น ‘คนในครอบครัว’ หรือคนในมุ้งตัวเองมาดำรงตำแหน่งแทน

‘ครม.แพทองธาร 1’ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนัก ตั้งแต่ตัวนายกฯ เอง เหตุผลที่ได้ถือธงนำ เพราะเป็นลูกของคนชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยเหมือนมีผู้นำ 2 คน คนหนึ่งอยู่ตึกไทยคู่ฟ้า อีกคนหนึ่งอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า

 ขณะที่ใน ครม.เอง ขณะนี้โดนค่อนแคะอย่างหนักว่า ไม่ต่างอะไรจาก ‘ครม.ครอบครัว’

 รัฐมนตรีหลายคนใน ครม.แพทองธาร 1 ได้เป็นเพราะระบบครอบครัว โดยนอกจาก น.ส.แพทองธารแล้ว กรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะเป็นเช่นนั้น

 ร.อ.ธรรมนัสถูกตั้งแท่นขวาง จากบรรทัดฐานเรื่องจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ จึงส่งนายอัครา พรหมเผ่า อดีตรองนายก อบจ.พะเยา มาเป็นแทน รมช.เกษตรและสหกรณ์

ไม่ต่างจากนายอรรถกร ศิริลัทยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เลือกไม่ดำรงตำแหน่งต่อ เพราะยังเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เพื่อป้องกันข้อกฎหมาย จึงให้นายอิทธิ ศิริลัทยากร อดีตรัฐมนตรี และนักการเมืองชื่อดังแปดริ้วผู้เป็นพ่อมาดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์แทน

หรือล่าสุด นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เจอบรรทัดฐานเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส ที่สุดตัดสินใจแก้ปัญหา โดยการส่ง น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ ลูกสาวมาเป็น รมช.มหาดไทยแทนตัวเอง   

ขณะที่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายชาดาที่มีโควตารัฐมนตรีในพรรคภูมิใจไทย ก็เคยเจอปัญหาคล้ายคลึงกัน ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเองได้ สุดท้ายจึงส่ง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องสาว มาเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์

และหากรวม ครม.นายเศรษฐา มีหลายคนที่ได้เป็นรัฐมนตรีเพราะเป็นคนในครอบครัวของเจ้าของพรรค เจ้าของโควตา อย่างเช่น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ได้มาอยู่ตรงนี้ เพราะนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นน้องชายตนเองไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ เพราะติดเรื่องคดี ซึ่งโควตานี้จริงๆ แล้วเป็นของ ‘เนวิน ชิดชอบ’ พี่ใหญ่ของบ้าน  

ขณะที่รัฐมนตรีหลายๆ คนก็สืบทอดการเมืองจากรุ่นพ่อ ไม่ว่าจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เดินตามรอยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย ผู้เป็นพ่อ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ลูกชายนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้ากลุ่มวังน้ำเย็น

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ลูกสาวนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลูกชายนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลูกชายนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

 จะเห็นว่า แม้นายกฯ จะพยายามระมัดระวังการแต่งตั้งบุคคลสุ่มเสี่ยง แต่สุดท้ายก็เป็นแค่การเลี่ยงกระทำผิด

 และที่สำคัญ เกณฑ์การเลือกบุคคลก็ยังเป็นระบบแฟมิลี่ ใช้บุคคลในครอบครัวมาเป็นแทน

 ข้อครหาเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นทำงาน หลังจากเข้าถวายสัตย์ฯ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จ ‘แพทองธาร’ คงต้องเร่งปั่นผลงาน เพื่อสยบเสียงค่อนแคะและเสียงถากถาง 

ไม่มีเวลาให้ฮันนีมูน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นโยบายที่“อิ๊งค์”ไม่กล้าพูด เรื่องสำคัญกว่าผลงาน90วัน

บรรดากองเชียร์รัฐบาลเพื่อไทยอาจจะชื่นชม หลัง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เล่นใหญ่ เปิดสตูดิโอ 4 ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ยืนเดี่ยวไมโครโฟน

'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แถลงผลงาน3เดือน‘รัฐบาลอิ๊งค์’ โชว์อนาคตประเทศ รอดหรือร่วง?

ได้เวลาตีปี๊บผลงานรัฐบาล 90 วันของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ 12 ธันวาคม 2567 ในหัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) พร้อมถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชม