
แม้จริงอยู่ว่า ระบบ สภาฯ เสียงข้างมาก พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้าน หากเกิดกรณี สภาฯ ล่ม-องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการการประชุมต่อไปได้ ฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองก็คือ พรรคร่วมรัฐบาล-ส.ส.รัฐบาล ในฐานะที่ไม่อยู่ทำหน้าที่ในห้องประชุมสภาฯ ไม่รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตัวเอง สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องตำหนิ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ละเลยหน้าที่ของตัวเอง ไม่รู้จักการแบ่งหน้าที่-แบ่งเวลาของตัวเอง
แต่ทว่าหลังเกิดปรากฏการณ์สภาฯ ล่มซ้ำซากบ่อยครั้ง โดยมีสถิติว่า สภาฯ ชุดปัจจุบัน สภาฯ ล่มไปแล้วถึง 16 ครั้ง จุดนี้ที่เริ่มเห็นในระยะหลัง ก็คือกระแสสังคมเริ่มตั้งคำถามถึง
"การทำหน้าที่ของสภาฯ ชุดปัจจุบันในภาพรวม ทั้ง ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ใช่แค่กับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น"
โดยพบว่า เสียงก่นด่า-การตั้งคำถามของคนในสังคม ไม่ใช่แค่ในโซเชียลมีเดีย แต่สังคมโดยรวมต่างตั้งคำถามถึงภาพรวมการทำงานของสภาฯ เพราะเริ่มมองว่า ส.ส.ฝ่ายค้านเองก็ต้องการใช้เรื่องสภาฯ ล่มมาเป็นประเด็นการเมืองกดดันรัฐบาลมากเกินไปหรือไม่
ทั้งที่สภาฯ-ฝ่ายนิติบัญญัติ มีทั้ง ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่ง ส.ส.ทุกคนต่างก็ได้เงินเดือน-ค่าตอบแทน-สวัสดิการต่างๆ ที่ล้วนเป็น ภาษีประชาชน ทั้งสิ้น
สังคมจึงต้องการเห็นการทำหน้าที่ของสภาฯ แบบไม่เอาการเมืองมาเล่นกันมากเกินไปในสภาฯ จนทำให้ภาพรวมการทำงานของสภาฯ เดินต่อไปยาก เพียงเพราะต้องการหวังผลทุกเม็ด จนเป็นการห้ำหั่นกันจนเกินพอดี จนภาพรวมสภาฯ เสียหาย เป็นสภาฯ ที่ทำงานไม่คุ้มค่าภาษีประชาชน
มีการให้ข้อมูลในเชิงตั้งคำถามถึงภาษีประชาชนที่ต้องจ่ายให้การทำงานของ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่น่าสนใจ โดย พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า ที่ระบุตัวเลขเมื่อ 3 ก.พ. หลังประชุมสภาฯ ล่มครั้งที่ 15
"เงินเดือน ส.ส.+ทีมงาน 8ตำแหน่ง อยู่ที่ 242,560บาท/เดือน ...คิดเป็นเงินวันละ 8,085 บาท/ ส.ส.x ส.ส.ทั้งหมด 473 คน = 3.82 ล้านบาท/วัน
ค่าสถานที่รัฐสภา วันละ 360,000 บาท/วัน (โดยเป็นค่าห้องอาหารขนาดใหญ่ 500 คน, ที่จอดรถ 900 คัน, ห้องบริวารอื่นๆ อีก 12 ห้อง, ค่าน้ำไฟ, ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าพนักงานทำความสะอาด, ค่าพนักงานดูแลจัดรถ, ค่าเจ้าหน้าที่ รปภ.และอื่นๆ) ค่าใช้จ่าย 4,180,000 บาท/วัน
เมื่อรวม "สภาฯ ล่ม" มาแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง = 58.5 ล้านบาท!!!"
และให้ความเห็นย้ำอีกครั้งหลังสภาฯ ล่มครั้งที่ 16 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
"ล่มบ่อยกว่าเน็ต ก็สภาฯ นี่แหละ… #สภาฯ ล่มครั้งที่ 16
คุณเอือมมั้ยครับ???
- นักการเมืองไม่มาทำงานสภา.. ทั้งที่ตั้งท่า ไหว้ย่อมาแต่ไกล ตอนหาเสียง
- เอางบประมาณไปเล่นชักเย่อ เกมการเมืองเก่าๆ..จนไม่ครบองค์ ปิดประชุม
- เอาโอกาสคนไทยที่จะได้พัฒนาคุณภาพชีวิต จากกฎหมายใหม่ที่จะได้อนุมัติ..มาด้อยค่า
และทั้งหมด "สภาฯ ล่ม" 16 ครั้ง ก็ผลาญเงินภาษีเราเรียบร้อยกว่า 66.8 ล้านบาท!!!"
ยิ่งเมื่อมีการแสดงความเห็นทางการเมืองจากนักการเมือง 2 พรรคฝ่ายค้าน คือ เพื่อไทย-ก้าวไกล หลังสภาฯ ล่มเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สังคมก็ยิ่งเห็นอะไรหลายอย่างทางการเมือง ภายใต้การขบเหลี่ยมทางการเมืองของ 2 พรรคดังกล่าว ที่มีฐานเสียง-กลุ่มเป้าหมายทางการเมืองกลุ่มเดียวกัน จึงทำให้มักมีการเขม่นกันในทีหลายครั้ง
เพราะพบว่า ทางก้าวไกล รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยไว้เมื่อ 5 ก.พ.ว่า "วันนี้ที่มีรายงานคลองไทยเข้า มติพรรคร่วมกำหนดว่าห้ามแสดงตน เพื่อทดสอบองค์ประชุมของรัฐบาล ส.ส.ก้าวไกลส่วนใหญ่ยึดตามนั้น แต่ปรากฏว่าเป็นเพื่อไทยไม่ปฏิบัติตามมติ ก้าวไกลจึงตัดสินใจว่า เราจะยืนยันจุดยืนของเรา คือ การแสดงตน ในวาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
เรื่องคะเนกันว่าสุดท้ายประยุทธ์จะยุบสภาฯ ถ้าสภาฯ ล่ม บ่อยๆ เห็นล่มไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ก็ไม่เห็นจะยุบสักที เกมที่เล่นกันอยู่แทนที่จะทำลายประยุทธ์ กลับทำลายเครดิตสภาฯ ทำลายความหวังประชาชน ไม่ต่างกับการเมืองเก่า ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเมืองและความน่าเชื่อถือต่อประชาชนระยะยาว"
ทั้งนี้ รายงานเรื่องคลองไทยฯ ดังกล่าวคือการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ของ กมธ.วิสามัญฯ ของสภาฯ ที่มีคนของเพื่อไทยคือ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย เป็นประธาน กมธ. ที่สุดท้ายที่ประชุมสภาฯ เสียงส่วนใหญ่คือ มีมติไม่เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ.
ขณะที่เพื่อไทย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แจงว่า การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่แสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุม ทำให้สภาฯ ล่ม ว่า เรื่อง “สภาฯ ล่ม สองครั้งในวีคนี้ หลายคนสับสนว่าเหตุใดเพื่อไทยจึงไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม แตกต่างจากก้าวไกลที่อยู่เป็นองค์ประชุม”
"เหตุผลง่ายๆ คือเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทย คือการยุติการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และการที่สภาฯ ล่ม เป็นสัญญาณชี้ว่ารัฐบาลไม่อาจคุมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ จะเป็นตัวเร่งให้ยุบสภาฯ เร็วขึ้น"
สุดท้ายแล้วคงเป็นเรื่องที่ประชาชน จะติดตามและตัดสินกันว่า ปัญหาสภาล่มฯ บ่อยครั้งระยะหลัง ใครบ้างต้องรับผิดชอบ-ใครบ้างต้องปรับปรุงการทำงาน โดยเฉพาะวิปรัฐบาล ที่อาจถึงคราวต้องพิจารณากันแล้วว่าจะเปลี่ยนตัวประธานวิปรัฐบาลจาก นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ เป็นคนอื่นดีหรือไม่ หลังเห็นชัดว่าผลงานในการคุมเสียง ส.ส.รัฐบาล ต้องถือว่าสอบไม่ผ่าน และสังคมมองอย่างไรกับการที่หากฝ่ายค้านจะใช้กดดันรัฐบาล จนทำให้ "สภาฯ ในภาพรวมเสียมากกว่าได้" ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมกันพิจารณาและติดตาม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คำวินิจฉัยศาล รธน.ไหน? ทำ "นายกฯ ป้ายส้ม" ตกเก้าอี้
ฉากโชว์หวานของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ที่พยายามจะผลักให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้เป็นนายกฯ ป้ายส้มได้สำเร็จ จะเป็นจริงหรือแค่ความฝันหรือไม่
“อุกกาบาต” เขย่ากรมปทุมวัน แฉ “ส่วยสติกเกอร์” หมื่นล้าน
ชนะการเลือกตั้งว่ายากแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ยิ่งยากกว่า ถึงแม้จะชิงลงมือบันทึกความเข้าใจ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยนโยบายสุดโต่งแตะสถาบันเบื้องสูงศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทำให้พรรคแนวร่วมไม่เอาด้วย
เส้นทาง'รทสช.'ในบทฝ่ายค้าน วันนี้'ลุงตู่'ยังอยู่ แต่วันหน้า...?
ว่าไปไม่ใช่เรื่องแปลกที่แกนนำพรรค รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)อาทิ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์, ธนกร วังบุญคงชนะ จะพร้อมใจกันออกมาประสานเสียงในโทนเดียวกันว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นจุดขายสำคัญของพรรค รทสช.ตอนเลือกตั้ง
'ปธ.สภาฯ' ดัชนีชี้ขาด 'ก้าวไกล' ร่วงหรือรุ่ง
การลงนามเอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความขุ่นเคืองให้แก่บรรดาด้อมส้ม และผู้นำทางจิตวิญญาณคือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล
เอื้อมไม่ถึง “เอฟ35” ลุ้นเครื่องบินรบในมือ “ก้าวไกล”?
กองทัพอากาศออกมาชี้แจงกรณีที่ นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หารือกับ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศของไทย
ประธานสภาฯ คนที่ 26 กับบทบาทเลิกมาตรา 112
ก่อนประเทศจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก่อนจะลุ้นว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะก้าวสู่ยอดถือธงนำประเทศ ช็อตแรกที่ต้องลุ้นระทึกก่อนคือ ตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา” ว่าจะตกเป็นของพรรคใดในฝ่ายรัฐบาล