'อาคม' ยันปี 65 จีดีพีโตพุ่ง 4%อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุน

“อาคม” ยันปี 2565 เศรษฐกิจไทยโต 3-4% อานิสงส์บริโภคในประเทศ-ท่องเที่ยวฟื้นต่อเนื่อง ส่งออกยังแกร่ง พ่วงมาตรการรัฐเข็นเศรษฐกิจเต็มพิกัด พร้อมจับตาสถานการณ์โควิด-19 หนี้ครัวเรือนและตลาดแรงงานยังเปราะบาง ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนุนราคาสินค้าพุ่ง

11 เม.ย. 2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 8 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้หารือในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ ผู้แทนสถาบันการเงินระหว่างประเทศได้เสนอแนวนโยบายเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนไว้ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง 2.พัฒนาแนวทางในการระดมทรัพยากรภายในประเทศ อาทิ การปฏิรูปภาษี เพื่อเป็นแหล่งงบประมาณให้รัฐบาลใช้ในการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ 3.เพิ่มการลงทุนเพื่อการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทั่วถึง และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ นายอาคมยังได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าในปี 2565 จะขยายตัวที่ 3 – 4% ต่อปี โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภายในประเทศ สถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อ ปัญหาความเปราะบางด้านตลาดแรงงานและหนี้ครัวเรือน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น
“รมว.การคลังได้เน้นย้ำความสำคัญของการระดมทรัพยากรในประเทศ เช่น การปฏิรูปภาษี การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้านการคลังบางประการ เป็นต้น ในส่วนของสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่าง ๆ ควรพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการให้กู้ยืมแก่ประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาเงื่อนไขการปล่อยกู้ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในภาวะที่มีความผันผวนสูงและไม่ปกติ เพื่อให้รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ สามารถมีพื้นที่การคลังเพียงพอในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยภาครัฐได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจที่ดี และพร้อมที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันกับทั้งเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและเศรษฐกิจโลก” นายพรชัย ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คลัง' คลอดใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)