เงินบาทแตะระดับ 36.35 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่ามากที่สุดรอบ 7 ปี ด้านราคาน้ำมันขยับลดลงอีก

7 ก.ค. 2565 – Markets Research & Advisory ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย คาดว่า ค่าเงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.20-36.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทเช้านี้ยังอ่อนค่าต่อเนื่องที่ระดับ 36.31 บาท/ดอลลาร์ จากระดับ 36.25 ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา และเป็นการอ่อนค่าที่มากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี นอกจากนี้ค่าเงินบาทยังเป็นค่าเงินที่อ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคในเดือน ก.ค. โดยบาทอ่อนค่าลง -2.64% MTD (Month-to-date)

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยไทยที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 0.50% ซึ่งทำให้เกิดกระแสเงินไหลออกไปยังประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่าอย่างเช่นสหรัฐ (อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ระดับ 1.50-1.75%) ประกอบกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยหนุนการอ่อนค่าของเงินบาท

ในขณะนี้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ได้ทะยานสู่ระดับ 107.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐ ซึ่งหนุนให้นักลงทุนเข้าถือเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.15-36.35บาท/ดอลลาร์

เงินบาทยังคงอ่อนค่าหลังเบรกยืนเหนือ 36.00 ตามทิศทางดัชนีดอลลาร์ที่แตะจุดสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ 107

ในขณะที่ตลาดกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐปรับตัวย่อลงมาที่ 95 ดอลลาร์ สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ที่มองว่าน้ำมันอาจลงไปอยู่ที่ 65 ดอลลาร์

รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนที่ผ่านมา ย้ำภาพว่าเฟดต้องการที่จะควบคุมเงินเฟ้อ แต่ยังกังวลต่อผลกระทบเศรษฐกิจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความคาดหวังของการขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้ยังอยู่ที่ 50-75 bps

ด้าน นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย คาดกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.40 บาท/ดอลลาร์ความและจากเงินบาทอ่อนค่าเร็ว อาจทำให้ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยลดความผันผวนลงได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทัน นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท การแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักถดถอย โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป อีกทั้ง ECB ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยคล้ายกับเฟด ก็อาจจะยังเป็นปัจจัยที่หนุนเงินดอลลาร์และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าต่อได้ในระยะนี้ได้ จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

อย่างไรก็ดี ต้องระวังความเสี่ยงที่ทางการจีนกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าแตะแนวต้านถัดไปที่ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

เพิ่มเพื่อน