“คลัง” ปักหมุดปีงบ 2565 ขายบอนด์ออมทรัพย์ 1.5 แสนล้านบาท ประเดิมล็อตแรก 8 หมื่นล้านบาท เคาะ 2 รุ่น อายุ 5 ปี และ 10 ปี พร้อมเปิดแผนกู้เงิน 2.3 ล้านล้านบาท ลุยก่อหนี้ใหม่ 1.12 ล้านล้านบาท ติดเครื่องกู้ พ.ร.ก. โควิด แจงเหลือวงเงินอีก 2.63 แสนล้านบาท
4 พ.ย. 2564 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลังมีแผนจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยในช่วงวันที่ 15 พ.ย.-3 ธ.ค. 2564 จะเริ่มจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” จำนวน 2 รุุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี และ รุ่นอายุ 10 ปี วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่าย ปี 2565 วงเงิน 7 แสนล้านบาท และในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. 2565 มีแผนจะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์อีกราว 7 หมื่นล้านบาท
สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” วงเงิน 8 หมื่นล้านบาทนั้น แบ่งการจำหน่ายเป็น 1. รุ่นออมไปด้วยกันบนวอลเล็ต สบม. ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งจำหน่ายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 2.10% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 3.00% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท – 10 ล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2564 2.รุ่นออมไปด้วยกัน จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงินรวม 7 หมื่นล้านบาท จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ลงทุนได้ตั้งแต่ 1 พันบาทและไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง โดยจะจำหน่ายให้กับประชาชนก่อนนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด 2 วัน เพื่อบริหารจัดการการใช้บริการ ณ สาขาธนาคารของลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยหากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน
โดยวันจำหน่าย วงเงิน และรุ่นอายุเป็นดังนี้ 1. จำหน่ายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2564 ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี และรุ่นอายุ 10 ปี จำหน่ายทั้งในช่องทางเคาน์เตอร์ อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้งและ โมบายแบงก์กิ้งของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง และ2. จำหน่ายให้แก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด รุ่นอายุ 10 ปี วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2564 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.20% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยจำหน่ายเฉพาะช่องทางเคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง ซึ่งวงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง และกระทรวงการคลังสามารถปรับเพิ่ม/ลดวงเงินทั้ง 2 รุ่นที่จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายได้ตามความเหมาะสม
“มองว่าประชาชนยังมีความต้องการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์อยู่เยอะ เพราะถือเป็นอีกทางเลือกในการออม เพราะอัตราดอกเบี้ยดีกว่าฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไม่ได้ต้องการแข่งขับกับภาคเอกชนแต่อย่างใด แต่ต้องการให้ความมั่นคงและเป็นการตอบแทนประชาชน” นางแพตริเซีย กล่าว
นางแพตริเซีย ยังกล่าวถึงแผนการกู้เงินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 ว่า มีแผนการกู้เงินทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1.12 ล้านล้านบาท และการบริหารหนี้เดิมอีก 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่ง สบน. จะใช้เครื่องมือการกู้เงินทั้งระยะสั้น กลางและยาว โดยพันธบัตรรัฐบาล อายุ 3-50 ปี ยังเป็นเครื่องมือหลัก วงเงิน 1.1-1.3 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีการทำธุรกรรมบอนด์สวิชชิ่ง (Bond Switching) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท การออกตั๋วเงินคลัง 5.4 แสนล้านบาท การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และเทอมโลน 3.9-5.9 แสนล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์อีก 1.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ยืนยันว่า แผนการกู้เงินของรัฐบาลจะเน้นการกู้เงินจากในประเทศเป็นหลัก แต่ก็จะมีการพิจารณากู้เงินจากต่างประเทศได้หากตลาดในประเทศตึงเกินไป โดยปัจจุบัน สบน. ได้มีการเปิดวงเงินกู้ต่างประเทศไว้กับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้ปิดโอกาสแต่อย่างใด แต่การกู้เงินในส่วนนี้ต้องดูเวลาและความเหมาะสมก่อน
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติกรอบวงเงินแล้ว 2.37 แสนล้านบาท มีการกู้เงินแล้ว 1.44 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 1.3 แสนล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีกราว 2.63 แสนล้านบาท ซึ่งการกู้เงินในส่วนที่เหลือนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ที่มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นประธานว่าจะเสนอโครงการลงทุนใดบ้างให้ ครม. พิจารณา ซึ่งหากโครงการผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว สบน. จึงจะดำเนินการกู้เงิน
“ปัจจุบันมีโครงการที่ทยอยเบิกจ่ายเงินแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่เริ่มมีการเบิกจ่าย และหลังจากนี้คาดว่าจะมีความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่ง สบน.จะทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้ โดยมีการประเมินว่าในปีงบประมาณ 2565 หากมีการกู้เงินตามแผนการก่อหนี้เต็มวงเงิน และการกู้เงินโควิดครบ 5 แสนล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี จากสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 57.98% ต่อจีดีพี” นางแพตริเซีย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' ถอย! การันตีไม่ขึ้น VAT 15% หลังถกกุนซือบ้านพิษฯ
นายกฯ หารือที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ยันไม่ปรับ VAT เป็น 15% หลังเจอกระแสค้าน แจงรับฟังทุกภาคส่วน ย้ำนโยบายหลักรัฐบาล ลดค่าใช้จ่าย ยกระดับความเป็นอยู่ ปชช. ให้ดีขึ้น
'เหวง' อึ่ม! เพิ่มภาษีแวต 15% ทำเพื่อใคร คนยากจนตายสถานเดียว
นพ.เหวง โตจิราการ อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแกนนำคนเสื้อแดง โพสต์เฟซบุ๊กว่า
ม็อบบุกแบงก์ชาติ ยื่นอีก 5 หมื่นชื่อ ขวางการเมืองจุ้นเลือก 'ปธ.บอร์ด'
คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม เดินทางมาชุมนุมหน้าแบงก์ชาติ เพื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท.
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"