พาณิชย์เผยช่วงปี 64-65 พบธุรกิจเข้าข่ายนอมินีต่างชาติ 148 ราย

“สินิตย์”เข้ม! สั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบการจดทะเบียนนิติบุคคล ทั้งก่อนและหลัง ป้องกันการทำธุรกิจในลักษณะนอมินี ส่วนการตรวจสอบช่วงปี 64-65 พบแล้ว 148 ราย จาก 3 กลุ่มธุรกิจ ท่องเที่ยว ค้าที่ดิน บริการ ส่งดีเอสไอสอบสวนเชิงลึกพร้อมดำเนินคดีถึงที่สุดแล้ว ย้ำปี 66 ให้ลุยตรวจสอบต่อ ทั้งธุรกิจที่มีความเสี่ยง และธุรกิจที่ตกเป็นข่าว เตือนคนไทยให้ความร่วมมือมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับสูงสุด 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

23 พ.ย. 2565- นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดแนวทางการป้องปรามธุรกิจที่มีลักษณะการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล กำหนดให้ส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนเองได้ และภายหลังจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ให้จัดทำข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง และกำหนดเป็นแผนงานโครงการประจำปี เพื่อดำเนินการตรวจสอบเชิงลึก โดยบางกรณีอาจมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตำรวจท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว เป็นต้น

“การกระทำความผิดเกี่ยวกับการเป็นนอมินี ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีคนไทยยอมรับผลประโยชน์ หรือสมยอม หรือที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมาย ทำให้นอมินีเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในวงกว้าง หากไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะทำให้ไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก”นายสินิตย์กล่าว

นายสินิตย์กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบนอมินีที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการตรวจสอบคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือมีการสนับสนุนให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยได้พิจารณาลักษณะพฤติกรรมและข้อบ่งชี้หลายด้าน เช่น ธุรกิจที่มีคนต่างด้าวลงทุนหรือถือหุ้นไม่ถึง 50% แต่ให้คนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ หรือให้สิทธิการออกเสียงลงคะแนน การจ่ายเงินปันผล การแบ่งคืนทุนเมื่อเลิกกิจการแก่คนต่างด้าวมากกว่าคนไทย และตรวจถึงแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจเป็นการกู้ยืมจากคนต่างด้าว หรือมีการกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าว โดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติในทางการค้าหรือทางธุรกิจการเงินทั่วไป เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2564-2565 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่มีคนต่างด้าวร่วมถือหุ้นที่อาจมีลักษณะนอมินี โดยมีเป้าหมาย 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว 2.ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ การถือครองอสังหาริมทรัพย์ และ 3.ธุรกิจบริการ โดยพบนิติบุคคลที่อาจกระทำผิดในลักษณะนอมินี จำนวนทั้งสิ้น 148 ราย แยกเป็น จ.ภูเก็ต 140 ราย จ.เชียงใหม่ 4 ราย จ.สุราษฎร์ธานี 3 ราย และกรุงเทพฯ 1 ราย โดยตรวจพบกรณีบุคคลมีชื่อเป็นผู้ถือครองหุ้นในหลายบริษัท ซึ่งเมื่อประเมินความสามารถในการถือหุ้นหรือการลงทุนของผู้ถือหุ้นดังกล่าวแล้วเป็นที่น่าสงสัยว่าอาจมีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว

“ได้นำส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำการสืบสวนสอบสวนในเชิงลึกแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนการกระทำความผิดกลุ่มบุคคลดังกล่าว และยังพบอีกกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมอันน่าสงสัยว่ามีคนไทยให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมและสรุปผลก่อนส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”นายสินิตย์กล่าว

นายสินิตย์กล่าวว่า ในปี 2566 ได้ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะกำกับดูแลและตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินีอย่างต่อเนื่อง และให้ตรวจสอบธุรกิจที่ปัจจุบันเป็นข่าวพบกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย โดยอาศัยนอมินีคนไทยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งนอกจากจะมีการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายแล้ว ยังจะเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเพื่อให้นิติบุคคลต่างด้าวมีความเข้าใจพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ระเบียบขั้นตอนแนวทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สาระสำคัญของกฎหมาย ธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจ ตลอดจนโทษที่จะได้รับ หากมีการฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกำกับดูแลให้ธุรกิจมีธรรมาภิบาลปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

“ขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในลักษณะนอมินี รวมทั้ง กรรมการบริษัทก็ต้องรับผิดด้วย โดยมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน”นายสินิตย์กล่าว

     

      

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

'พาณิชย์' ลุยต่อ จัดธงฟ้าราคาประหยัด ลดภาระค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ชาว จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี

“พาณิชย์” เดินหน้าลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน จัดงานธงฟ้าราคาประหยัด ทั้งที่จ.สุรินทร์ และจ.อุบลราชธานีนำสินค้าจากผู้ประกอบการ ห้าง เกษตรกร SMEs วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายรุ่นใหม่ YEC และ Young Smart Farmer รวม 10 หมวดสินค้า กว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุด 60%

'ภูมิธรรม' ชื่นชมคอร์สสอนทำอาหารไทยในฮ่องกงกำลังเป็นที่นิยม ช่วยดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเปิดงาน Thai Food Festival ที่โรงแรม Hotel ICON

พาณิชย์ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย ลุยงาน Hong Kong FILMART 2024 คาดสร้างมูลค่าการค้า 800 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์บูรณาการร่วมกันระหว่าง กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทัพผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง 27 ราย พร้อมด้วยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์วายไทย เตรียมลุยตลาดแรกของปีภายในงานแสดงสินค้า Hong Kong International Film & TV Market 2024 (FILMART)