'ดร.สามารถ' สะกิดครม.ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มยังไม่เคลียร์ ฝากข้อกังขา 6 ข้อ ให้พิจารณา

 

'ดร.สามารถ' สะกิดครม.ย้ำประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มยังไม่เคลียร์ ฝากข้อกังขา6ข้อให้พิจารณา ถาม รฟม. การประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง พิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งที่กก.ได้รับโทษจำคุก รัฐต้องช่วยค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท

14 ธ.ค.2565 - ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีเนื้อหาดังนี้

สะกิด ครม. !
ข้อกังขาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ยังไม่เคลียร์

มีความเป็นไปได้ที่ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มจะถูกนำเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติในเร็ววันนี้ ผมจึงขอฝากข้อกังขาซึ่งผมเคยสอบถาม รฟม. ในหลายโอกาส แต่ไม่ได้รับคำตอบหรือได้รับคำตอบไม่ตรงประเด็น ให้ ครม. พิจารณา 6 ข้อ ดังนี้

1. การประมูลครั้งที่ 1 รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?
รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจาก “เกณฑ์เดิม” ที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผ่านก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนต่อไป ใครเสนอผลประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนให้ รฟม. หักด้วย เงินขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม.) ให้ รฟม. มากที่สุดก็จะชนะการประมูล เป็น “เกณฑ์ใหม่” ที่พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล

การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลเป็นไปตามคำขอของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ รฟม. ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี
รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ดังนี้

(1) รฟม. อ้างว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นผลให้ รฟม. ต้องใช้เกณฑ์ใหม่ แต่เกณฑ์ใหม่ให้คะแนนด้านเทคนิคเพียงแค่ 30% เท่านั้น ถือว่าย้อนแย้งกับเหตุผลที่ รฟม. กล่าวอ้าง ถ้า รฟม. มุ่งหวังที่จะได้เอกชนที่เก่งด้านเทคนิคจริง จะต้องใช้เกณฑ์เดิม เพราะเกณฑ์เดิมให้คะแนนด้านเทคนิค 100%

(2) รฟม. เคยใช้เกณฑ์เดิมมาก่อนในการประมูลรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีเส้นทางผ่านพื้นที่ซับซ้อน ได้แก่ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่งต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน

อีกทั้ง ที่ผ่านมา รฟม. ได้ใช้เกณฑ์เดิมในการประมูลโครงการอื่น เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ไม่เคยมีการก่อสร้างในประเทศไทยมาก่อน

การใช้เกณฑ์เดิมในการประมูลพบว่า รฟม. สามารถคัดเลือกได้ผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงและเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุด ทำให้การดำเนินโครงการของ รฟม. ประสบความสำเร็จมาทุกโครงการ

(3) โครงการขนาดใหญ่อื่นก็ใช้เกณฑ์เดิม เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และใช้วงเงินลงทุนสูง โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (สายอีสาน) และหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นต้น

(4) การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ใช้เกณฑ์เดิม ถ้าเกณฑ์เดิมไม่ดี แล้วทำไม รฟม. จึงกลับมาใช้ ?

2. การประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น ? การทำเช่นนี้เป็นการเอื้อประโยชน์และกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?

คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าที่ลดลง เช่น ไม่ต้องมีผลงานการเดินรถในไทย และไม่ต้องมีผลงานจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้ง เป็นต้น ซึ่งในการประมูลครั้งที่ 1 กำหนดให้ต้องมีผลงานดังกล่าว อีกทั้ง การประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองของ รฟม. ก็ต้องมีผลงานดังกล่าวเช่นเดียวกัน

คุณสมบัติของผู้รับเหมาที่เพิ่มขึ้น เช่น ผู้รับเหมาต้องมีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย และต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ เป็นต้น ซึ่งการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ได้กำหนดให้มีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย และไม่ต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ

หาก รฟม. ไม่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง จะทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ไม่สามารถร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ และหาก รฟม. ไม่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น จะทำให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 จะสามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้ด้วย

3. การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มผู้ยื่นประมูลได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?

การยอมให้ผู้รับเหมาสามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หากผู้รับเหมาไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเหมือนกับการประมูลครั้งที่ 1 ถามว่า ITC จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือไม่ ? เนื่องจากผู้นำกลุ่มจะต้องถือหุ้นมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%
อันที่จริง ผู้นำกลุ่มควรเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เนื่องจากเขาจะต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้ารวมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสายเป็นเวลาถึง 30 ปี ไม่ใช่ผู้รับเหมาที่ทำการก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกเพียง 6 ปี

4. การประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงพิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ทั้งๆ ที่กรรมการคนหนึ่งของ ITD ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก?

กรณี ITD ซึ่งมีกรรมการคนหนึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อาจทำให้มีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนหรือไม่ ? โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว “ไม่มีสิทธิ์” ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

5. การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. เพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าครั้งที่ 1 เป็นการกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหลังจากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมาแล้วหรือไม่ ?

เป็นที่น่าสังเกตว่าในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้เพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าครั้งที่ 1 (ทั้งๆ ที่ การประมูลทั้ง 2 ครั้ง มีเนื้องาน แบบก่อสร้าง และเทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน) และสูงกว่าโครงการอื่นที่ก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน ใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน ได้แก่ โครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

6. จากการเปรียบเทียบการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ทำให้รัฐต้องช่วยค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ ?
อาจเป็นที่สงสัยว่า ข้อเสนอของ BTSC ร่วมกับ STEC ในการประมูลครั้งที่ 1 (ซึ่งรัฐต้องช่วยค่าก่อสร้าง 9,675.42 ล้านบาท) สามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ BEM ในการประมูลครั้งที่ 2 (ซึ่งรัฐต้องช่วยค่าก่อสร้าง 78,287.95 ล้านบาท) ได้หรือ ? ผมขอตอบว่าได้ เพราะแบบก่อสร้างเหมือนกัน ราคากลางค่าก่อสร้างในการประมูลทั้ง 2 ครั้ง เท่ากัน คือ 96,012 ล้านบาท รวมทั้งระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 6 ปี และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี เหมือนกัน

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาล เน้นย้ำความปลอดภัยเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า ช่วงสงกรานต์ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขึ้นฟรี

รัฐบาล เน้นย้ำ ความปลอดภัยเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย ให้ ปชช.เดินทางสะดวกและปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ เปิดบริการให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขึ้นรถไฟฟ้า MRT ฟรี ระหว่าง 13 – 15 เมษายน

'ดร.สามารถ' แนะ นายกฯ ลด 'อุบัติเหตุจราจร' ช่วง สงกรานต์ เข้มงวดกวดขัน 'คนขับ'

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง แนะ “นายกฯ” ลด “อุบัติเหตุจราจร” ช่วง “สงกรานต์” มีเนื้อหาดังนี้่

'ดร.สามารถ' ถาม 'กพท.' ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน แนะกำหนดเพดานค่าโดยสารต่อกม.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน มีเนื้อหาดังนี้

ข่าวดี เลื่อนเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า ‘สายสีชมพู’ ถึงสิ้นปี

’คมนาคม’ แย้มข่าวดี ‘สายสีชมพู’จะเปิดให้ทดลองใช้บริการ ฟรี ข้ามปี เป็นของขวัญให้ประชาชนเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2567

เจ๊งวันละ 7.4 ล้านบาท! รถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสาย

สามารถแฉรถไฟฟ้าสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสายครบ 30 วัน แล้ว ผงะ! ขาดทุนวันละ 7.4 ล้านบาท ถามไปต่อหรือพอแค่นี้ ที่สำคัญอย่าลืมทุกสายต้อง 20 บาทเพราะหาเสียงไว้