กรุงศรีฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 3.6% แรงหนุนท่องเที่ยว จับตาปัจจัยภายนอกกระทบ

5 ม.ค. 2566 – วิจัยกรุงศรี บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับพิเศษ) โดยระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 โดยมีเนื้อหาดังนี้
ปี 2566 ฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ แต่มีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก

ในปี 2566 คาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะยังเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว การลงทุนที่ยังมีสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรตาม การลงทุนในบางอุตสาหกรรมและการส่งออกในภาพรวมจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวนับเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แม้ในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ หนุนให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวหลักจากจีนอาจฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 25-28 ล้านคน แม้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัวแต่ยังคงต่ำกว่า

ช่วงก่อนเกิดการระบาดอยู่มาก ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2544 ที่ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2565 รวมถึงชี้ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และราวครึ่งหนึ่งของสหภาพยุโรป (อียู) จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) คาดปริมาณการค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 จากเติบโตร้อยละ 3.5 ในปี 2565 อีกทั้ง IMF และ WTO เตือนแนวโน้มการทวนกระแสโลกาภิวัตน์อาจทวีความรุนแรงท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังพอได้ปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 24 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย โดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.7 แม้จะชะลอลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2565 ก็ตาม

ด้านการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่กระเตื้องขึ้น ตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การบริโภคของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอาจมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น และการลดลงของมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายจากภาครัฐ

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้จากการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าการลงทุนอาจเผชิญข้อจำกัดจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และภาวะต้นทุนทางการเงินที่ปรับสูงขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังมีสัญญาณเชิงบวกจากข้อมูลการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ (FDI) โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC โดยนักลงทุนให้ความสนใจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

นอกจากนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังมีความต่อเนื่องและคาดว่าจะมีโครงการใหม่เพิ่มเติม อาทิ โครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-นครพนม โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัวตามข้อจำกัดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ ก่อนเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.7 และยังคงเป็นงบฯขาดดุลใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6.95 แสนล้านบาท ขณะที่ภาระหนี้สาธารณะต่อ GDP อาจลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการลดมาตรการกระตุ้นหลังวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย

เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวซึ่งยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายนอกทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและหลายประเทศเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธปท.ได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 จึงคาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะไม่เข้มงวดมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่าธปท.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 1.75 และจะคงไว้ที่ระดับดังกล่าวตลอดจนถึงสิ้นปี

ด้านค่าเงินบาทคาดว่าจะยังคงเผชิญความผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศแกนหลักและนโยบายคุมโควิด-19 ของจีน รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วของประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 กลับมาเกินดุลได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

ประเด็นความเสี่ยงและปัจจัยท้าทายที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ ความผันผวนของตลาดการเงินและความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี ประกอบกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่าคาดจากการดำเนินนโยบายคุมโควิด-19 ความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์และผลกระทบจากการกีดกันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ขณะที่ความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ

รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนในข้อพิพาทไต้หวันที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งหากการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 ล่าช้าอาจกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ขณะที่บาดแผลจากวิกฤตโควิด-19 เช่น ภาระหนี้อาจสร้างความเปราะบางทางการเงินให้กับบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยยังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงและความไม่เท่าเทียมกันในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เพิ่มเพื่อน