'คลัง' หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.4% โอดส่งออก-งบอืดกระทบหนัก

‘คลัง’ หั่นจีดีพีปี 2567 เหลือ 2.4% โอด ‘ส่งออก-ภัยแล้ง-งบประมาณล่าช้า’ ทุบหนัก ลุ้น Digital Wallet เข็นใช้ไตรมาส 4 กระตุ้นคนใช้จ่ายคึก 3.5 แสนล้านบาท ช่วยดันเศรษฐกิจโตแตะ 3.3% พร้อมคาด กนง. หั่นดอกเบี้ยลง 0.25% หลังข้อมูลเศรษฐกิจเปลี่ยน

29 เม.ย. 2567 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.4% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ โดยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.2% โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวในระดับสูง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ ชิ้นส่วนและแผงวงจร ที่ปรับตัวลดลงมาก ขณะเดียวกันยังมีผลมาจากภาคการเกษตรที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก ตลอดจนภาคการคลัง จากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ทำให้มองว่าจากปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการปรับตัวลดลงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้

ทั้งนี้ หากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต สามารถเริ่มมีการใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4/2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ต่อปี ภายใต้สมมุติฐานว่าในช่วงไตรมาส 4 ประชาชนจะมีการใช้จ่ายเงินในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

“วงเงินเป้าหมายของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต คือ 5 แสนล้านบาท และการใช้จ่ายมีระยะเวลา ไม่ได้จบแค่เดือน ธ.ค. 2567 นั่นหมายความว่าประชาชนบางส่วนจะมีการใช้เม็ดเงินต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนี้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 1.2-1.8% แต่ถ้าจับช่วงเวลาที่มีผลต่อเศรษฐกิจ คือ ในไตรมาส 4/2567 ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่าย 3.5 แสนล้านบาท ในส่วนนี้ก็จะมีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้ให้ขยายตัวได้ 3.3% ส่วนเม็ดเงินจะมีการหมุนไปอีกหลายรอบในระยะถัดไป แต่ถ้าไม่มีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ปีนี้เศรษฐกิจก็จะอยู่ที่ 2.4%” นายพรชัย กล่าว

นายพรชัย กล่าวอีกว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องส่งออกกับภาคอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัวนั้น เชื่อว่าจะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีข้อมูลเพื่อไปประกอบการพิจารณาได้ดีขึ้น และคาดว่าในการประชุมของ กนง. ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอย่างน้อย 0.25% ต่อปี

ส่วนสถานการณ์การอ่อนค่าเงินบาทนั้น มองว่าจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์กับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ที่จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 35.7 ล้านคน โดยในส่วนนี้คาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจีน ราว 7 ล้านคน สร้างรายได้ 1.59 ล้านล้านบาท ขยายตัว 29% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ในมุมของผู้นำเอง ก็ต้องมีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนในมุมของการไหลเข้า-ออกของตลาดทุนนั้น มองว่าบาทอ่อนเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยหลักคือเรื่องความเชื่อมั่น ความมั่นใจในการถือครองหลักทรัพย์มากกว่า สะท้อนจากราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปลายปีเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมบัญชีกลางจึงขอให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้ 1. เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป

2. รายการปีเดียว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือน ก.ย. 2567 และ 3. รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2567 และ4. หากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้หน่วยรับงบประมาณแจ้งสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ

5. ให้หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณรวมทั้งทุนหมุนเวียนภายใต้สังกัด กำกับดูแลเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็วพร้อมทั้งรายงานผลให้กรมบัญชีกลาง ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป 6. ดำเนินการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนภายในเดือน ก.ค. 2567

อย่างไรก็ดี กรมบัญชีกลางได้จัดทำแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถเบิกจ่ายงบ ได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นมาตรการในการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ประกอบด้วย 1. การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 5,000,000 บาท

2. การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป โดย 1. การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ส่วนการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ 2. การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้างที่ปรึกษา และเผยแพร่ประกาศ และเอกสารการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ โดยระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง