“ธปท.” ปักหมุดไตรมาส 2/2568 เดินเครื่องให้บริการธนาคารไร้สาขา ลุยเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการจัดตั้ง เปิดกว้างรายใหม่-รายเก่า-นอนแบงก์-ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในไทย ประเดิมให้ใบอนุญาตไม่เกิน 3 ราย
13 ม.ค. 2566 -นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.-12 ก.พ. 2566 ซึ่งตอนนี้มีผู้สนใจจะเข้ามาสมัคร 10 รายแล้ว คาดว่า ธปท.จะออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ภายในไตรมาส 1/2566 โดยก่อนจะเปิดรับสมัครและใช้เวลาคัดเลือกจากธปท. 6 เดือนและกระทรวงการคลังอีก 3 เดือน และจะประกาศรายชื่อที่ได้รับการจัดตั้งไม่เกิน 3 รายในไตรมาส 2/2567 และให้เวลา 1 ปีในการเตรียมความพร้อม โดยจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2/2568 หรือช่วงกลางปี 2568
ทั้งนี้ แนวคิดจัดตั้งธนาคารไร้สาขาของ ธปท. เนื่องจากต้องการหลุดจากกรอบธนาคารรูปแบบเดิม และธนาคารไร้สาขาจะให้บริการบนดิจิทัล ไม่มีสาขา ไม่มีตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ ได้มากขึ้นทั้งสินเชื่อและเงินฝาก หรือธุรกรรมการเงินบนดิจิทัลอื่น ๆ โดยแนวทางจัดตั้งธนาคารไร้สาขานี้ ถือเป็นหนึ่งในแผนแม่บท ธปท. ที่จะทำให้ภาคการเงินช่วยตอบโจทย์ให้ไทยเข้าสู่โลกใหม่ เกิดพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ
สำหรับผู้ที่สนใจเข้ายื่นสมัคร จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด และต้องยื่นแพลน Exit Plan เข้ามาให้พิจารณาพร้อมกันด้วย ว่าหากภายใน 3-5 ปี Virtual Bank ไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้ หรือมีฐานะการเงินที่มีความเสี่ยง หรือไม่มีความพร้อมให้บริการจนต้องปิดกิจการ การดูแลลูกค้าทั้งสินเชื่อและเงินฝากจะมีวิธีการดูแลหรือจะทำอย่างไร ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องพิจารณา
นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ที่สนใจจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา คือต้องจดทะเบียนจัดตั้งในไทย มีทุนจดทะเบียน 5 พันล้านบาท และมีคุณสมบัติ 7 ด้าน คือต้องมีรูปแบบบิซิเนสโมเดล ทั้งด้านขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริหารรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน, มีธรรมาภิบาล, มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล สามารถออกแบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า, มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว
มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงิน สามารถดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ได้อย่างยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ, มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย และต้องมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถสนับสนุนให้ Virtual Bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเปิดกว้างทั้งรายใหม่ ธนาคารรายเก่า และนอนแบงก์ รวมทั้งต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในไทยได้เช่นกัน แต่ต้องจดทะเบียนในไทย ซึ่งช่วงแรกให้ใบอนุญาตไม่เกิน 3 ราย
“สิ่งที่ ธปท.อยากเห็นจากการจัดตั้ง Virtual Bank คือ นำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยี และดิจิทัล โดยมีบริการทางการเงินที่ครบวงจรและเหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอีที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเหมาะสมเพียงพอ ใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และช่วยกระตุ้นให้เกดการแข่งขัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม ส่วนสิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน เช่น เร่งขยาย ทำธุรกรรมเสี่ยงจนกระทบฐานะ, การแข่งขันที่ไม่เหมาะสมจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงมาก ๆ เพื่อแย่งลูกค้า หรือแข่งปล่อยสินเชื่อที่กระตุ้นก่อหนี้เกินตัว เป็นต้น” นางสาววิภาวิน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ
'ธีระชัย' ไขปมคุณสมบัติ 'กิตติรัตน์'
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)