G7 กับวิกฤติหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่

22 พ.ค. 2566 – อาทิตย์ที่ผ่านมาที่ญี่ปุ่น มีการประชุมประจำปีระดับผู้นำประเทศของกลุ่มจีเจ็ด คือเจ็ดประเทศอุตสาหกรรมหลักของกลุ่มประเทศตะวันตกเพื่อหารือเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองโลก ที่น่าสังเกตุคือที่ประชุมให้เวลามากกับสงครามในยูเครนและเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ได้พูดชัดเจนถึงความจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และช่วยเหลือประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กําลังมีปัญหาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตในเศรษฐกิจโลก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

กลุ่มจีเจ็ดของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา รวมด้วยกลุ่มประเทศอียูหรือสหภาพยุโรปที่เหลือ มีการประชุมประจำปีระดับผู้นําประเทศทุกปี เพื่อหารือเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองโลก ปีนี้การประชุมจัดที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกที่มีปัญหามากทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ดิสรัปชั่นต่อเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลจากโควิด สงคราม ปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความไม่แน่นอนที่ทําให้เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกผันผวนมาก

ที่สำคัญ การแก้ไขเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ส่งผลกระทบกว้างขวางต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ค่าเงินที่ผันผวน ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ธุรกิจ และประเทศที่มีหนี้ ต่อฐานะของสถาบันการเงิน และความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม กระทบทุกประเทศทั่วโลก

กลุ่มประเทศจีเจ็ดถือเป็นเวทีสำคัญของความร่วมมือและการประสานนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ทั้งการป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาเมื่อวิกฤติเกิดขึ้น ตัวอย่างที่ดี คือ วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 ที่เริ่มต้นที่สหรัฐจากปัญหาซับไพรม์และการล่มสลายของธนาคารลียแมน์ที่กระจายไปสู่สถาบันการเงินและเศรษฐกิจในยุโรป การแก้วิกฤติครั้งนั้นได้ประโยชน์จากการร่วมมือกันอย่างทันเหตุการณ์ของกลุ่มประเทศจีเจ็ดที่เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้เร็ว ทําให้ตลาดการเงินโลกกลับมามีเสถียรภาพ และนำไปสู่การฟื้นเศรษฐกิจในที่สุด ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของการป้องกันและแก้วิกฤติเศรษฐกิจ

และวิกฤติปี 2008 ก็ตอกยํ้าว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดได้กับทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือเล็ก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือตลาดเกิดใหม่ และต้นเหตุของวิกฤติก็จะเหมือนกันคือมาจากการก่อหนี้ที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐและหนี้เอกชน และเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงกระทบความสามารถในการชำระหนี้ วิกฤติเศรษฐกิจก็จะปะทุขึ้นถ้าตลาดการเงินหมดความเชื่อมั่นในความสามารถของประเทศที่จะชำระหนี้ เป็นแบบนี้ทุกวิกฤติ

ข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ล่าสุดชี้ว่าปริมาณหนี้ของประเทศทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 300 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ ปริมาณหนี้ที่มีได้เพิ่มเป็นมากกว่า100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มมากในประเทศอย่างจีน บราซิล ตุรกี อินเดีย และเม็กซิโกในช่วงไตรมาสหนึ่งของปีนี้ ซึ่งหนี้ที่เพิ่มขึ้นสะท้อนภาระของภาครัฐที่ต้องใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านความเป็นอยู่และสาธารณสุขในช่วงหลังโควิด และการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะนี้มีประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้มาก ยากจน และหรือมีปัญหาความขัดเเย้งภายในอย่างน้อย 1 7 ประเทศที่ล่อแหลมต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำ และประเทศมีภาระหนี้ที่ต้องชําระคืนมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าความล่อแหลมเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่สูงจากผลของดิสรัปชั่นและสงคราม เศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และสภาพคล่องที่ลดลงจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้ทําให้เศรษฐกิจของประเทศยากจนยิ่งแย่ลง กระทบความสามารถในการหารายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ และทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศลําบากมาก

หนึ่ง เงินเฟ้อที่สูงหมายถึงค่าครองชีพที่แพงขึ้น เช่น อัตราเงินเฟ้อในศรีลังกาที่สูงถึงร้อยละ 46 ตุรกีร้อยละ 72 และ ซิมบับเวร้อยละ 192 กระทบความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ บางประเทศค่าครองชีพที่สูงสร้างแรงกดดันทางการเมือง นํามาสู่ความไม่สงบและการประท้วงของประชาชน

สอง สภาพคล่องที่ลดลงและการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำ ทําให้ประเทศไม่มีรายได้ ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ไม่สามารถนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ เช่น อาหาร ปุ๋ย นํ้ามัน ยิ่งซํ้าเติมความขาดแคลน เกิดวิกฤตอาหาร และกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน

สาม เศรษฐกิจขยายตัวตํ่า ทําให้การว่างงานในประเทศสูง ประชาชนต้องการทํางานแต่ไม่มีงานทำ สร้างปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคม เช่นกรณีบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และอัฟริกาใต้

ปรากฎการณ์นี้กําลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ ทําให้มีความเป็นไปได้สูงที่วิกฤตเศรษฐกิจจะปะทุขึ้น ประเทศที่อ่อนไหวมากต่อการเกิดวิกฤติขณะนี้ก็เช่น เฮติ ปากีสถาน และตูนิเซีย

มีการตั้งข้อสังเกตุว่านี่คือจุดอ่อนไหวที่ถูกลืมของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ที่ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศจํานวนหนึ่งอาจผิดนัดชำระหนี้พร้อมๆ กัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าความอ่อนแอที่มีมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจีเจ็ดเพื่อแก้ไขปัญหาของตน เช่น การขึ้นดอกเบี้ยและลดสภาพคล่องในระบบการเงินเพื่อแก้เงินเฟ้อ ที่นําไปสู่การขาดแคลนสภาพคล่องในประเทศตลาดเกิดใหม่จากผลของเงินทุนไหลออก ทําให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต่างประเทศที่ยากขึ้น รวมถึงทําให้ระบบการเงินของประเทศเหล่านี้เริ่มขาดเสถียรภาพ เป็นเรื่องที่ประเทศในกลุ่มจีเจ็ดต้องตระหนัก และควรพร้อมให้การช่วยเหลือทั้งด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและการลดโอกาสของการเกิดวิกฤติหรือป้องกันไม่ให้วิกฤตที่เกิดขึ้นลามไปประเทศอื่น ๆ

ในประเด็นนี้ มีสามเรื่องที่ กลุ่มประเทศจีเจ็ดจะสามารถทำได้เพื่อช่วยประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กําลังมีปัญหา

หนึ่ง สนับสนุนให้กองทุนระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟเข้าช่วยเหลือประเทศที่กําลังมีปัญหาเหล่านี้อย่างทันเหตุการณ์และคล่องตัว สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อให้ภาระการชำระหนี้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง รวมถึงผ่อนปรนเงื่อนไขการใช้มาตรการการคลังในประเทศเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือหรืออุดหนุนกลุ่มยากไร้ภายในประเทศ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สถานการณ์ของประเทศเหล่านี้อย่างน้อยดีขึ้นในระยะสั้นและหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤต

สอง สนับสนุนให้เจ้าหนี้ของประเทศเหล่านี้ ซึ่งก็คือสถาบันการเงิน นักลงทุน และรัฐบาลของประเทศที่ให้กู้ พิจารณาการลดหนี้คือลดวงเงินที่เป็นหนี้หรือ haircut เพื่อให้ประเทศที่มีปัญหาสามารถกลับมาชําระคืนหนี้ได้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ประสพความสำเร็จ

สาม แบ่งปันทรัพย์สิน SDRs หรือ Special Drawing Rights ที่นับเป็นทุนสํารองระหว่างประเทศได้ที่ประเทศอุตสาหกรรมได้รับจาก ไอเอ็มเอฟ ตามสิทธิสมาชิกให้ประเทศที่มีปัญหาเหล่านี้ใช้ประโยชน์ได้เป็นการชั่วคราวโดยจํากัดการใช้ทรัพยากรเหล่านี้เฉพาะเพื่อการปฏิรูปและการปรับโครงสร้างประเทศเพื่อความสามารถในการเติบโตระยะยาว

นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่กลุ่มจีเจ็ดสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้เพื่อรักษาความมีเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน