กนอ. เพิ่มโลโก้ใหม่ สะท้อนการทำงานทุกมิติ พร้อมโชว์ครึ่งปีแรกขาย/ให้เช่าพื้นที่ทะลุ 3 พันไร่ มั่นใจการเมืองเปลี่ยนขั้วไม่กระทบการลงทุน ภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง ด้านเอกชนรับไทยต้องเร่งปรับตัว มองขึ้นค่าแรงเอกชนพร้อมจ่ายหากแรงงานมีทักษะพอ
23 พ.ค. 2566 – นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวในงานเปิดตัวตราสัญลักษณ์รอง I-EA-T Elevation ของ กนอ. ว่ากนอ. ร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการปรับภาพลักษณ์ของ กนอ. เพื่อสื่อสารถึงความเป็นองค์กรที่ทันสมัยมากขึ้น และยังคงรูปแบบฟันเฟือง 6 แฉก และสีม่วงที่เป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรม โดยมีการใช้เครื่องหมาย Infinity 3 ตัวมาร้อยเรียงกัน 3 มิติ คือ สนับสนุนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการดูแลชุมชนอย่างเข้าถึงและเข้าใจ
“เพียงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 ยอดเช่า/ขายในนิคมอุตสาหกรรมมี 3,458 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเทียบกับปี 2565 ทั้งปีมียอดเช่า/ขายรวม 2,016 ไร่ ซึ่งขณะนี้ กนอ.ยังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุญาตโครงการลงทุนในนิคมต่างๆ อีก 17 นิคม ทำให้มั่นใจว่าแนวโน้มการลงทุนครึ่งหลังของปีนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) อุปกรณ์ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น”นายวีริศ
นอกจากนี้ มองสถานการณ์การเมืองในประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาว เห็นได้จากตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ไทยเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีเสถียรภาพและมีความแข็งแกร่ง เดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านของการเมืองในประเทศ ขณะนี้ได้กำหนดการในแต่ละช่วงเวลาแต่ละขั้นตอนชัดเจนแล้ว
ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น สุดท้ายคงต้องมีการหารือและรับฟังความคิดเห็นกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนตัวมองว่าคงหมดยุคค่าแรงงานถูกแล้ว แต่การปรับขึ้นค่าแรงที่สูงขึ้นต้องมีการสนับสนุนให้ทักษะแรงงานมากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้งานออกมามีคุณภาพมากขึ้นไปในทิศทางเดียวกันด้วย จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ของไทยมีมูลค่าเป็นอันดับสองของอาเซียนที่มี 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ รองจากอินโดนีเซีย ขณะที่โครงสร้างไทยเป็นประเทศที่ใช้แรงงานภาคเกษตรสูง แต่ทำรายได้ไม่มาก ดังนั้นไทยต้องเร่งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรรมให้มีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นสิ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กันไป เพื่อที่จะดัน GDP ของประเทศให้เติบโต
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล รองประธานคณะกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้นก็มีศักยภาพพอที่จะดึงการลงทุนจากต่างประเทศไปได้ แต่ไทยนั้นมีจุดแข็งโดยเฉพาะเรื่องของโลเคชั่น ซึ่งต้องใช้จุดแข็งนี้ให้ถูกเพื่อแย่งชิงจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ให้ได้ ดึงดูดการลงทุนเข้ามาในช่วงที่เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากเทรดวอร์ โควิด และสงครามรัสเซียยูเครน โดยไทยจะต้องเร่งเดินหน้าเรื่องการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี และการเดินหน้าแลนด์บริดจ์ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งไปยังประเทศอื่น ๆ และดึงวัตถุดิบจากต่างประเทศให้เกิดการผลิตขึ้นในประเทศไทย
“ทุกวันนี้กลุ่มลงทุนไม่ใช่มีเพียงประเทศจีนแต่ยังมีประเทศอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อม ในการเป็นโลเคชั่นที่เหมาะกับการลงทุน อย่าให้อุปสรรคบางเรื่องมาจำกัดให้ประเทศไทยไปต่อไม่ได้ ขณะที่ด้านแรงงาน มองว่าการขึ้นค่าแรง อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อยู่ที่ทำยังไงให้แรงงานนั้นมีค่าตัวที่คุ้มค่า กับเงินที่นักลงทุนจะต้องจ่าย ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเพียงพอ ถ้าถึงจุดนั้นแล้วการขึ้นค่าแรงก็ไม่ใช่ปัญหาของเอกชน”นางสาวจรีพร กล่าว
นางสาวจรีพร กล่าวว่าปัจจุบันการจัดตั้งคณะรัฐบาลของไทยนั้นมีความน่าสนใจ และน่าติดตามว่าจะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ด้วยวิธีไหน เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วมาก ทุกคนกำลังพูดถึงการนำปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาใช้ในอุตสาหกรรมหรือบริการของตัวเอง แต่หากมองถึงคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนาม ตอนนี้ไทยก็ถือว่าได้แต้มต่อ เพราะตอนนี้เวียดนามกำลังมีการเปลี่ยนประธานาธิบดี และก็มีเหตุการณ์หลายเรื่องต้องจัดการเป็นการเคลียร์ปัญหาในบ้านก่อน ไทยเองก็จะมีโอกาสในช่วงนี้ที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนได้เต็มที่
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าในสายตาต่างชาติมองนักธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นมิตร ไม่น่ากลัว จะไม่โดนหักหลัง มีความประนีประนอมสูง โดยปีนี้บริษัทจะเดินหน้าการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 3,300 เมกะวัตต์ ใช้เงินรวม 425,400 ล้านบาท เน้นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก