'สรท.' ลุ้นส่งออกปีนี้โตแกร่ง 15% จับตาโอมิครอนหวั่นล็อกดาวน์

“สรท.” ลุ้นส่งออกไทยปี 2564 โตแกร่งถึง 15% ส่วนปีหน้าคาดโต 5-8% จับตาโอมิครอน หวั่นกระจายหนักทำหลายประเทศล็อกดาวน์สวนทางเศรษฐกิจฟื้น ห่วงขาดแคลนแรงงานภาคการผลิต กระทบต้นทุนจ้างงานพุ่ง

8 ธ.ค. 2564 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 15% และว่าปี 2565 จะขยายตัวที่ระดับ 5-8% โดยยอดส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.64) มีอัตราขยายตัวที่ 15.65% ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังมีอัตราการเติบโตดี และมียอดสั่งซื้อ ซึ่งคาดว่ายอดส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 จะมีมูลค่าราว 2.1-2.2 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

“ตอนนี้กำลังลุ้นว่าส่งออกปี 2564 จะโตถึง 15-16% หรือไม่ แต่ปัจจุบันมีตุนในกระเป๋าแล้ว 12% ส่วนจะโตถึง 13-14% ก็มีความเป็นไปได้ หลังจากประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์หลังพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว” นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่

1. ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งองค์การอนามันโลก (WHO) จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล และเริ่มมีการแพร่กระจายในหลายประเทศ ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ และมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศอาจจะล็อกดาวน์อีกครั้งซึ่งสวนทางกับช่วงเศรษฐกิจกำลังเร่งฟื้นตัว

2. แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด

3. ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง ณ ท่าเรือปลายทาง โดยเฉพาะท่าเรือ Los Angeles และ Long Beach ที่พบปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวางและส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงจีนที่มีการเร่งนำเข้าสินค้าในทันช่วงเทศกาลคริสต์มาสและตรุษจีน ส่งผลให้บางสายการเดินเรือต้องหยุดให้บริการจองระวางชั่วคราว ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปี 2565

4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง และ 5. ปัญหาคอขวดด้านอุปทานของโลก เนื่องจากการผลิตทำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียและไทยต้องแบกรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนค่าขนส่ง อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อผู้บริโภค และทำให้การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มชะลอตัวลง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘รัฐบาล’ โอ่ประสบความสำเร็จ ขับคลื่อนการส่งออก ‘อัญมณี–เครื่องประดับ’

โฆษกรัฐบาล เผย รัฐประสบความสำเร็จ ขับคลื่อนการส่งออกอัญมณี – เครื่องประดับ เติบโตต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาถูกทาง เห็นผลเป็นรูปธรรม

นายกฯฟุ้งวางแผนส่งออกทุเรียนสร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาท

นายกฯ รับฟังปัญหาเกษตรกรสวนทุเรียนสมุย ตั้งเป้าผลผลิตส่งออกไปไกลกว่า 5 หมื่นล้านบาท ยันมาช่วยแก้ปัญหาไม่ได้หาเสียงเลือกตั้ง เพราะมันจบไปแล้ว