รัฐบาลโอ่เอกชนแห่ร่วมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา

รองโฆษก รบ. เผยความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เอกชนเสนอเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก เชื่อมั่นเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ยกระดับไทยสู่ผู้นำด้านอุตสาหกรรมอากาศยานของภูมิภาค

24 ส.ค.2566 – น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้หารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อยืนยันความพร้อมในการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ซึ่งขณะนี้การบินไทยพร้อมลงทุน โดยอยู่ระหว่างเจรจาจัดหาพันธมิตรร่วมลงทุน ซึ่งเบื้องต้นมีเอกชนเสนอเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการและรับฟังรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูจนประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้สถานะกระแสเงินสดมีเพียงพอ จึงมีความพร้อมลงทุนโครงการดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 – 4 เดือน

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยเพิ่มเติมว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้กองทัพเรือ สกพอ. และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการฯ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนตามที่ สกพอ. เสนอ ซึ่งโครงการฯ จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 337,500 ตร.ม. หรือ 210 ไร่ บนพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง และจัดซื้ออุปกรณ์ ซึ่งเอกชนจะต้องจ่ายค่าเช่าให้กองทัพเรือตลอดอายุสัญญาเช่าพื้นที่ 50 ปี สามารถรองรับกิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน 1) การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance) สามารถรองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้พร้อมกัน 3 ลำ รองรับอากาศยานลำตัวกว้างประมาณ 110 ลำต่อปี และอากาศยานลำตัวแคบประมาณ 130 ลำต่อปี 2) การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด (Line Maintenance) รองรับอากาศยานลำตัวกว้างและอากาศยานลำตัวแคบ ประมาณ 70 เที่ยวบินต่อวัน และ 3) การพ่นสีอากาศยาน (Aircraft Painting) รองรับอากาศยานลำตัวกว้างและอากาศยานลำตัวแคบ ประมาณ 22 ลำต่อปี นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นพัฒนาโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart-hanger) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดของโลก สามารถรองรับการให้บริการซ่อมเครื่องบินทั้งของแอร์บัสและโบอิ้ง

“โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ให้เป็นรูปธรรม ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอากาศยานของภูมิภาค โดยเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยาน เกิดการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลกในประเทศไทย” น.ส.รัชดากล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14 พ.ค.ได้ลุ้น คกก.ค่าจ้างฯ ถกค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

'คารม' ย้ำขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พิจารณาอย่างเหมาะสมและรอบคอบ เผย 14 พ.ค.นี้ คกก.ค่าจ้างฯ เตรียมประชุมพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

'ชัย' ฟุ้งแค่ไตรมาสแรกต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้าน!

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ชื่นชมผลจากความสำเร็จรัฐบาล ไตรมาสแรกปี 2567 ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมโอกาสการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้คนไทย

รัฐบาลกวักมือเรียกผู้กู้ กยศ.ที่ถูกดำเนินคดีเร่งปรับโครงสร้างหนี้ด่วน!

รัฐบาลเชิญชวน ผู้กู้ยืม กยศ. ถูกดำเนินคดีในปี 2557 ที่ยังมีภาระหนี้ค้าง เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน