‘สุริยะ’ นั่งหัวโต๊ะสั่งการบ้านสรุปแผนโปรเจกต์คมนาคมขีดเส้นเดดไลน์ภายในสิ้นเดือนนี้

‘สุริยะ’สั่งการบ้านกำหนดแผน-สรุปโปรเจกต์ เดดไลน์ส่งภายในสิ้นเดือนนี้ วางแนวทางการทำงาน 4 ด้าน ครอบคลุม ‘บก-น้ำ-ราง-อากาศ’ก้าวสู่ศูนย์กลางการเดินทาง-ขนส่ง ชูนโยบายเปิดฟรีวีซ่าลุยจัดตารางการบินช่วงฤดูหนาวเพิ่มขึ้น 15% รองรับนักท่องเที่ยวกว่า 5 ล้านคน

15 ก.ย.2566-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ว่าได้มอบนโยบาย และวางกรอบแนวทางการทำงานของกระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบายของรัฐบาล และตอบสนองความต้องการของประชาชนในการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการในระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และด้านการอนุรักษ์รักษ์สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้โดยมีแนวทางใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็นศูนย์กลาง (HUB) เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทาง โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน คือ การเตรียมความพร้อมนโยบายฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ แบ่งออกเป็น ดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 นโยบายเร่งด่วนภายใน 1 ปี ดำเนินการเพิ่มตารางการบิน (Slot) และการบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ

โดยมอบให้ทางสำนักงานบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงฯ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการจัด Slot การบินสำหรับช่วงตารางการบินฤดูหนาวนี้ ให้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับ Slot ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 ล้านคน จากนโยบายฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีนตลอดฤดูท่องเที่ยวที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ มอบหมายให้ ทอท. ดำเนินการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร (Capacity) โดยการปรับปรุงพื้นที่ที่มีอยู่เดิม เพิ่มจุดเช็คอิน ตรวจค้น ตม. การใช้มาตรการจูงใจให้ผู้โดยสารใช้ระบบเช็คอินด้วยตนเอง รวมถึงการปรับการให้บริการ ได้แก่ การเปิดให้บริการเช็คอินสำหรับผู้โดยสารกรุ๊ปทัวร์ และการพิจารณาเปิดให้บริการท่าอากาศยานที่เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารและรองรับการเดินทาง

ส่วนนโยบายระยะกลาง 1-3 ปี จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกท่าอากาศยานในปัจจุบัน สามารถรองรับเที่ยวบินได้เต็มประสิทธิภาพของทางวิ่ง (Runway) เช่น การก่อสร้างส่วนต่อขยายทิศตะวันออกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้งหมด สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี

ส่วนนโยบายระยะยาว 5-7 ปี ดำเนินการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของการท่องเที่ยวแต่สนามบินในปัจจุบันมีข้อจำกัดด้าน Runway ทำให้เพิ่มศักยภาพไม่ได้ ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานพังงา (ภูเก็ต2) ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 50 ล้านคนต่อปี

ขณะที่การโอนการบริหารจัดการท่าอากาศยานที่ปัจจุบันกรมท่าอากาศยานเป็นผู้ดำเนินการ กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการถ่ายโอนท่าอากาศยานที่มีศักยภาพในการเปิดเป็นท่าอากาศยานนานาชาติให้ ทอท. เข้าดำเนินการแทน เช่น สนามบินกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ รวมถึงพิจารณาท่าอากาศยานระดับภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำให้ประชาชนผู้เดินทางได้รับประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ทั้ง ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดต้นทุนด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบ Solar Cell ในพื้นที่ท่าอากาศยานที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดให้รถบริการในเขตท่าอากาศยาน เป็นยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ จะส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบราง ทั้งในเมือง และระหว่างเมือง ส่งเสริมการก่อสร้างระบบการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานคร และเมืองหลัก และส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟระหว่างเมือง ด้วยการพัฒนาทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งต้องยกระดับการให้บริการ ให้มีความสะอาด สะดวกรวดเร็ว ให้ทัดเทียมการให้บริการในระดับสากล เป็นกลไก

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดสมรรถนะการขนส่งในระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งต่อ GDP ของประเทศ ให้มีอัตราต่ำกว่า 10% ต่อมูลค่า GDP ขณะเดียวกัน ส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ทางพิเศษ (ทางด่วน) ให้มีโครงข่ายครอบคลุมปริมาณความต้องการเดินทางของประชาชน และช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง รวมถึงลดต้นทุนการขนส่ง

อย่างไรก็ตามในส่วนของการขนส่งสินค้าทางน้ำที่มีต้นทุนต่ำที่สุดนั้น จะเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) จากอันดับที่ 21 ของโลกให้อยู่ในลำดับที่สูงขึ้นของโลก สร้างความเป็นศูนย์กลางและมองหาโอกาสในการลงทุนท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทย สู่กรอบการค้าการลงทุนของโลก ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการใช้ท่าเรือที่ก่อสร้างไว้แล้วให้เต็มขีดความสามารถ และในส่วนของการส่งเสริมการเดินทางในระบบทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ให้มีความเพียงพอ ครอบคลุมความต้องการเดินทาง ด้วยท่าเรือที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อความสะดวกรวดเร็วของประชาชน

2.ด้านความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ในปัจจุบันสถิติอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตของประชาชน ยังคงอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก กล่าวคือ เสียชีวิต 36 ต่อประชาชนทุก 100,000 คน โดยจะต้องสร้างความปลอดภัยในพื้นฐาน และการบริการ ของกระทรวงคมนาคมในทุกมิติ 3.ด้านคุณภาพชีวิต และลดต้นทุนในการเดินทาง สร้างโอกาสในการเข้าถึงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งทั้งคนและสินค้าจากต้นทางไปถึงปลายทางให้รวดเร็วที่สุด มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างการเดินทางในทุกระบบอย่าง “ไร้รอยต่อ” ในทุกมิติ เช่น ถนนกับท่าเรือ สนามบิน ต้องเชื่อมต่อกันเดินทางโดยสะดวก รวมถึงการเดินทางจากระบบรถไฟฟ้า สู่ระบบรถเมล์ ระบบรถสาธารณะอื่น ล้อ–ราง-เรือ ต้องเชื่อมกัน

4.ด้านสิ่งแวดล้อม “Green Transport” เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในอากาศ และ PM2.5 เน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่ง เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อนำมาทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล ทั้งในระบบรถเมล์สาธารณะ รถไฟ เรือโดยสาร และขนส่ง

ทั้งนี้ จากแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้านดังกล่าวนั้น ประเมินจากความต้องการของประชาชน และสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นพันธกิจที่จะต้องดำเนินการ และจะถือว่าเป็นกรอบในการประเมินผลงานของทุกหน่วยงาน และหัวหน้าส่วนราชการต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดกรอบระยะเวลาให้แต่ละหน่วยงาน ไปสรุปและพิจารณาโครงการต่างๆ ก่อนเสนอกลับมายังกระทรวงคมนาคมภายในสิ้นเดือนนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ได้ฤกษ์ ‘สุริยะ’ เดินเครื่องเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ปักหมุดให้บริการปี 71

‘สุริยะ’กดปุ่มเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตั้งเป้าให้บริการปี 71

เดินหน้า ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงินค่าทดแทน เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

'รัดเกล้า' เผย คค. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน