แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยปีหน้า

21 ธ.ค. 2564- เหลืออีกไม่กี่วัน ปี 2021 ก็จะผ่านไป เป็นการจบลงของปีที่สองของการระบาดของโควิด-19 ปีที่แล้ว 2020 ถ้าจำได้การระบาดเริ่มขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบรุนแรงทั้งต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ปีนี้ 2021 จึงเหมือนปี “เอาคืน” จากการค้นพบวัคซีนที่ช่วยลดความรุนแรงของการระบาด ทำให้สถานการณ์ระบาดทั่วโลกเริ่มคลี่คลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น แต่ความเสี่ยงต่างๆ ยังมีมาก สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจติดลบมากในปี 2021 คือหดตัวร้อยละ 6.1 และติดลบต่อเนื่องถึงไตรมาสสามปีนี้ สถานการณ์เริ่มดีขึ้นในไตรมาสสี่จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และการเปิดประเทศเมื่อการระบาดในประเทศเป็นขาลง ล่าสุดมีการประเมินว่าเศรษฐกิจเราปีนี้จะขยายตัวแต่อยู่ในเกณฑ์อ่อนแอ คือ ขยายตัวต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ มีการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน

คำถามคือ เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเป็นอย่างไร ยังฟื้นตัวหรือไม่ ซึ่งคำตอบคงขึ้นอยู่กับสองปัจจัย คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยว อีกปัจจัยคือนโยบายของภาครัฐว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร เพราะมีผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีน ที่ทำให้การระบาดชะลอ การใช้จ่ายภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจ และการกลับมาใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้การค้าโลกขยายตัว อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะถ้าเทียบประเทศอุตสาหกรรมกับประเทศกำลังพัฒนาที่โมเมนตัมการฟื้นตัวต่างกันชัดเจน คือ ประเทศอุตสาหกรรมเข้มแข็งกว่า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความแตกต่างในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศ ที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทำได้ช้ากว่ามาก ความแตกต่างนี้ทำให้การระบาดยังมีอยู่ในหลายพื้นที่ และส่งผลกลับมากระทบการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรม ตัวอย่างล่าสุดก็คือ การระบาดของสายพันธุ์ Omicron ขณะนี้

การประเมินล่าสุดชี้ว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวต่อในปีหน้า ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 แต่ความไม่แน่นอนมีมาก ที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสะดุด โดยสามปัจจัยที่ต้องจับตาปีหน้าคือ หนึ่ง การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ และอาจกลับมาเป็นข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจโลกได้ สอง นโยบายการเงินของสหรัฐที่จะดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐ ที่การแก้ไขปัญหาจะต้องทำโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก สาม ประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างสหรัฐกับจีนที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในปีหน้า และสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกและกระทบโมเมนตัมของการฟื้นตัว

สำหรับประเด็นแรก คือ การระบาดของโควิด-19 ที่ต้องตระหนักคือ การระบาดยังไม่จบ เพียงแต่ชะลอลงในหลายพื้นที่ และตราบใดที่การระบาดยังมีอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของโลก ก็สามารถเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งสิ่งสำคัญสุดในเรื่องนี้คือการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ทั่วโลก เพื่อลดโอกาสของการเกิดการระบาดรอบใหม่ ซึ่งถ้าดูตัวเลขล่าสุดยังน่าเป็นห่วง คือ อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ประมาณร้อยละ 56 ของประชากรโลก แต่มีเพียงร้อยละ 7-8 ของประชากรในประเทศรายได้ต่ำที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม นี่คือความแตกต่างและเป็นประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดการระบาดรอบใหม่ๆ ในปีหน้า ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับเรื่องเงินเฟ้อ เงินเฟ้อกำลังเป็นประเด็นสำคัญทั่วโลกจากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเงินเฟ้อในสหรัฐเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี สาเหตุของเงินเฟ้อคราวนี้มาจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานที่เป็นผลจากสถานการณ์โควิดและการแก้ไขปัญหา ทำให้ความต้องการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น แต่การผลิตปรับตัวตามไม่ทัน จากปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้นทำให้ราคาปรับสูงขึ้นและเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเภทสินค้า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน สินค้าชั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐมีความเห็นว่าเงินเฟ้อคราวนี้ไม่ใช่ภาวะชั่วคราว แต่จะยืดเยื้อถึงปีหน้า ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหา ซึ่งหมายถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปีหน้า จะสร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับขึ้นตาม แต่อาจไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับปัญหาเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ความแตกต่างนี้จะทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนจากการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศที่ปรับตัวตามอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไป กระทบสภาพคล่องและอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละประเทศ ซึ่งของเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้และจะถูกกระทบเช่นกัน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเราก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น

ส่วนประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐ คาดว่าความตึงเครียดจะมีมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สะท้อนออกมาในรูปการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นระหว่างสองประเทศนี้ ทำให้ระบบโลกาภิวัตน์ที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างในปัจจุบันอาจถูกแบ่งเป็นสองขั้วในแง่การค้าและการลงทุน สร้างความไม่แน่นอนให้กับการทำธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยจะปรากฏในรูปของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันตกที่จะห่างกันมากขึ้น กลไกพหุภาคีที่เคยขับเคลื่อนการค้าโลกที่จะยิ่งอ่อนแอ ทดแทนโดยการรวมตัวระดับภูมิภาคแทน รวมถึงความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และเกาะไต้หวันระหว่างสหรัฐกับจีน ที่จะสร้างความไม่แน่นอนในแง่ความปลอดภัยและเสถียรภาพในภูมิภาค กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแต่มีความไม่แน่นอนจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเท่าที่มีการประเมินขณะนี้ การท่องเที่ยวโลกจะยังไม่กลับมาเหมือนระดับก่อนโควิดจนถึงปี 2024 เป็นผลจากการระบาดของโควิดที่ยังมีอยู่และนโยบายของประเทศต่างๆ ที่จะยังไม่พร้อมเปิดประเทศหรือยอมให้ประชาชนของตนเดินทาง เช่น จีน สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเราจะยังขึ้นอยู่กับสองปัจจัยเหมือนปีนี้ คือ

หนึ่ง การส่งออก ซึ่งการขยายตัวปีหน้าจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปัจจัยหลังนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถของนโยบายเศรษฐกิจของเรา ที่จะควบคุมต้นทุนเพื่อให้สินค้าไทยไม่แพงและแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในปีหน้าคือ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำ ที่จะไม่กระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก

สอง นโยบายภาครัฐ ที่ต้องดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีการกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึงเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง ในเรื่องนี้ประเด็นที่ต้องตระหนักคือ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวแบบตัวอักษร K ที่คนส่วนน้อยได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยอยู่ในภาคบริการและภาคท่องเที่ยวยังไม่ได้ประโยชน์ เพราะภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จึงจำเป็นที่กลไกภาครัฐต้องทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีการกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัว เพื่อให้การฟื้นตัวมีความเข้มแข็ง

ในแง่นโยบายเศรษฐกิจ โจทย์สำคัญปีหน้าคือ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มต้นเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องในปีหน้าและมีความเข้มแข็ง ซึ่งคำตอบจะมาจากการไม่ประมาทในสามเรื่อง

หนึ่ง ไม่ประมาทในเรื่องการระบาดของโควิดที่ขณะนี้เป็นขาลง ไม่ให้กลับมาเป็นการระบาดใหญ่ในปีหน้า ซึ่งหัวใจเรื่องนี้ก็มาจากบทเรียนสำคัญปีนี้ คือ ต้องควบคุมการระบาดจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะการเข้ามาโดยช่องทางที่ผิดกฎหมายที่ไม่มีการตรวจเช็กการติดเชื้อ สนับสนุนโดยระบบสาธารณสุขที่กระจายการฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศอย่างทั่วถึง และมีความพร้อมในการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยอย่างทันเหตุการณ์เพียงพอและมีประสิทธิภาพ

สอง ไม่ประมาทเรื่องเงินเฟ้อที่ปีหน้าจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเศรษฐกิจเราพึ่งพาต่างประเทศมาก การแก้ไขจำเป็นต้องมีการดำเนินมาตรการที่ทันเวลา โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อค่าครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แก้ไขโดยอาศัยกลไกตลาด แม้จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สาม ต้องดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจายผลต่อส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจได้ทั่วถึง ด้วยมาตรการที่ให้ความสำคัญกับการสร้างงานให้ประชาชนมีงานทำ เพื่อให้มีรายได้ การถ่ายเททรัพยากร เช่น ทุนและแรงงานออกจากภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว การทำให้มาตรการเยียวยาของภาครัฐเป็นการเยียวยาโดยมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ไม่ใช่ให้หรือแจกเป็นการทั่วไป เพื่อลดภาระต่อการคลังและสามารถสนองตอบต่อผู้ที่ขาดแคลนมากๆ ได้อย่างจริงจัง

โดยสรุป เศรษฐกิจไทยปีหน้าคงฟื้นตัว แต่ความไม่แน่นอนมีมาก และมีประเด็นนโยบายอย่างน้อยสามเรื่องที่ต้องไม่ประมาท คือ การระบาดของโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อ และความไม่ทั่วถึงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ.

เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน