
การกลับมาของทรัมป์2.0 พร้อมท่าทีที่แข็งกร้าวแบบไม่เกรงกลัวใครที่กําลังสร้างความไม่แน่นอนไปทั่วขณะนี้ แสดงให้เห็นชัดว่าโลกของเราได้เปลี่ยนไปมากจากเมื่อ 15-20 ปีก่อน เป็นโลกที่วุ่นวายขึ้น ดูไร้ระเบียบ ไร้การควบคุม ซึ่งทั้งหมดสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในระดับโครงสร้างอํานาจของประเทศผู้นํา ระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่วางกฏเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน รวมถึงการเมืองในระดับประเทศที่เปิดพื้นที่ให้นักการเมืองและความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างสามารถเติบโตและเข้ามาบทบาทนำได้ในระดับสากล เช่น กรณีทรัมป์ คําถามคือ เราจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้อย่างไร อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือความท้าทายต่อทรัมป์ในฐานะผู้นําสหรัฐในโลกที่เปลี่ยนไปนี้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนให้คิดวันนี้
เศรษฐกิจและการเมืองโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ย้อนกลับไป 80 ปี เป็นเศรษฐกิจและการเมืองโลกภายใต้การนําของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศมหาอํานาจประเทศเดียวในโลก ความยิ่งใหญ่ของอเมริกาขณะนั้นไม่มีใครปฏิเสธทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การทหาร เทคโนโลยี เครือข่ายของประเทศที่เป็นพันธมิตร และอิทธิพลด้านการเมืองและวัฒนธรรม แม้จะมีสหภาพโซเวียตพยายามเป็นคู่แข่ง ระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงถูกออกแบบภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของโลก และลดทอนอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ประกอบด้วย หนึ่ง เศรษฐกิจโลกแบบเสรีนิยมที่ใช้เงินดอลล่าร์สหรัฐในการค้าขาย กำกับดูแลโดยองค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้น เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก องค์การการค้าโลก สอง ความร่วมมือด้านการทหาร เช่น นาโต้ เพื่อดูแลความปลอดภัยของประเทศในเครือข่าย สาม ระเบียบการเมืองระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติที่ดูแลสิทธิของประเทศ และรักษาความสงบ ขณะที่สหรัฐมุ่งส่งเสริมประชาธิปไตยในระบบการเมืองของประเทศต่างๆ นี่คือระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลกที่เกิดขึ้นและที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย
ระเบียบดังกล่าวได้เป็นพื้นฐานให้เศรษฐกิจโลกเติบโต และจุดสูงสุดคือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ทําให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจที่ไม่มีคู่แข่ง จึงเร่งแผ่อิทธิพลทั้งด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจด้วยเสรีนิยมการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์ ขณะที่จีนก็ยอมรับระเบียบเศรษฐกิจโลกที่นําโดยสหรัฐ และเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 แต่หลังจากนั้นความเข้มแข็งของระเบียบโลกดังกล่าวก็อ่อนแอลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ทะยานขึ้นมาเป็นคู่แข่งและท้าทายความเป็นที่หนึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ด้านการเมือง ที่แนวคิดเสรีนิยมได้นำไปสู่ความแตกแยกของคนในหลายสังคม ขณะที่โลกาภิวัฒน์ก็เพิ่มความเหลื่อมลํ้าให้มีมากขึ้น นำไปสู่การเกิดขึ้นของวิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ทําให้การยอมรับเสรีนิยมในการเมืองโลกลดลง และปูทางให้ประชานิยมและผู้นําแบบอํานาจนิยมเติบโต ส่วนด้านการทหาร การแผ่อิทธิพลของสหรัฐหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสหรัฐใน อัฟกานิสถาน อิรัค รวมถึงความไม่ชัดเจนในท่าทีของสหรัฐเกี่ยวกับนาโต้ ทําให้อิทธิพลและความน่าเชื่อถือของสหรัฐในฐานะประเทศมหาอํานาจลดลง เปิดทางให้รัสเซียกลับมามีบทบาทในการเมืองโลกอีกครั้งด้วยการส่งกําลังทหารบุกยูเครน พร้อมกับการประทุขึ้นของความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในหลายจุดของโลก
นี่คือสื่งที่เกิดขึ้นถึงปัจจุบัน ที่สหรัฐแม้ยังยิ่งใหญ่แต่อิทธิพลในฐานะเสาหลักหรือประเทศมหาอำนาจแบบหนึ่งเดียวของโลกกําลังถดถอย และสิ่งที่กําลังมาแทนคือบทบาทผู้นําโลกที่นําโดยหลายประเทศ หรือ Multi polar world ที่ประเทศอย่างจีน รัสเซีย อินเดีย พร้อมเข้ามามีบทบาท การเปลี่ยนโครงสร้างอํานาจโลกในลักษณะดังกล่าว ถ้าสําเร็จ จะลดบทบาทสหรัฐในฐานะผู้นำโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้แรงต้านจากสหรัฐจึงมีมาก นี่คือปัจจัยที่อธิบายสิ่งที่กําลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจการเมืองโลกขณะนี้ และถ้าดูเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งที่เห็นชัดคือ
หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนนับวันจะทวีรุนแรง จากที่จีนท้าทายความเป็นผู้นําของสหรัฐในทุกมิติ โดยเฉพาะในประเด็นที่จีนยังเป็นรองสหรัฐ เช่น การทหาร เทคโนโลยี่ เช่น AI เซมิคอนดักเตอร์ อวกาศ และวัฒนธรรมหรือ Soft Power ซึ่งสหรัฐก็ต้านอย่างแข็งขันด้วยการขึ้นภาษีสินค้านําเข้า ห้ามค้าขายสินค้าบางประเภท เช่น ชิป จํากัดการใช้ห่วงโช่การผลิตเพื่อลดความสามารถของจีนในการแข่งขัน รวมถึงสร้างแนวร่วมทางทหารใหม่เช่น กลุ่ม AUKUS เพื่อยับยั้งจีน
สอง ระเบียบและสถาบันที่ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกตามแนวเสรีนิยมกําลังถูกท้าทายในทุกมิติเช่นกัน ไม่ว่าการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าโลก ที่กลุ่ม BRICS ต้องการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ความไว้วางใจที่ลดลงต่อการทําหน้าที่ของสถาบันหรือองค์กรเศรษฐกิจที่จัดตั้งขึ้นเช่น องค์การการค้าโลก ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ ในสายตาประเทศกําลังพัฒนา จนจีนสามารถตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่คล้ายกันเพื่อเป็นทางเลือก เช่น ธนาคาร AIIB รวมถึงผลักดันโครงการ BRI หรือ Belt and Road Initiative เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ทําให้ชัดเจนว่าภาวะผู้นําทางเศรษฐกิจของสหรัฐกําลังถูกท้าทาย
สาม เศรษฐกิจโลกที่เคยค้าขายแบบหนึ่งเดียวภายใต้โลกาภิวัตน์ ได้เปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจโลกที่แตกแยกที่ประเทศค้าขายเป็นกลุ่มมากขึ้นตามนัยทางการเมือง เป็นผลจากความขัดแย้งที่มากับภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นตามมา พลังของเสรีนิยมหรือโลกาภิวัตน์จึงอ่อนแรงลง ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และเงินเฟ้อกลับมาเป็นปัญหาสําหรับเศรษฐกิจทั่วโลก
นี่คือสิ่งที่กําลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจและการเมืองโลกขณะนี้ เป็นบริบทที่กําลังบั่นทอนความเป็นผู้นําและความเป็นประเทศมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา และเป็นความท้าทายที่ทรัมป์ต้องเผชิญในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ จึงไม่แปลกใจว่าทําไมทรัมป์จึงพูดแล้วพูดเล่าว่าการทําให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่เป็นเป้าหมายและนโยบายที่สําคัญของเขา ไม่ใช่พูดหาเสียงแบบไม่มีเหตุผล แต่เป็นข้อเท็จจริงและตอกยํ้าว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่เสียความเป็นผู้นําโลกที่เป็นมาแล้วกว่า 80 ปี
สี่ปีข้างหน้าจึงเป็นช่วงเวลาที่จะทดสอบทรัมป์และประชาชนอเมริกันว่าจะนําพาประเทศของตนกลับไปสู่ความเป็นประเทศมหาอำนาจที่เด็ดขาด และเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกได้หรือไม่ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ นี่คือโจทย์ที่รออยู่
เขียนให้คิด
ดร บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อเมริการะงับวีซ่า กาหัวเจ้าหน้าที่ไทยส่งอุยกูร์กลับจีนพัวพันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์!
อเมริกายุคทรัมป์เป็นห่วงชาวมุสลิม รัฐมนตรีต่างประเทศแถลง ระงับวีซ่าเจ้าหน้าที่ไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันชาวอุยกูร์กลับจีน
'เท้ง' ถอนหงอก 'แม้ว' พูดคำโต แต่ทำไม่ได้!
หัวหน้าพรรคปชน. ซัด 'ทักษิณ' โชว์วิชั่น 'เศรษฐกิจดิจิทัล' อาจซ้ำรอย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ที่เคยประกาศแจกพร้อมกันให้เกิดพายุหมุน แต่ต้องแบ่งเป็นเฟส แนะเลิกใช้ภาษีประชาชนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลั่นอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจริง ไม่ใช่แค่คำพูดที่ดูโต แต่ทำไม่ได้
'เจิมศักดิ์' กาง 7 ข้อ วิเคราะห์ 'รัฐบาลแพทองธาร' กับค่าเสียโอกาสและผลกระทบ
'เจิมศักดิ์-นักวิชาการเศรษฐศาสตร์' ยก 7 ประเด็นสำคัญ สะท้อนถึงค่าเสียโอกาสและผลกระทบจากการดำรงตำแหน่งของนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ชี้ความไม่ชัดเจนทางการเมืองและเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศไทย
ผงะ! ขุนคลัง ขอร่วมวงถก สมาคมแบงก์
“ขุนคลัง” ส่งซิกร่วมประชุมสมาคมแบงก์ หวังถกปลดล็อกปล่อยกู้ กระทุ้งหั่นดอกเบี้ย พร้อมเร่งหาข้อสรุปมาตรการ LTV ให้จบก่อนสิ้นเดือนนี้ “นักวิชาการ” หนุนหวยเกษียณ แต่แนะเพิ่มเงินรางวัล