อนุสรณ์ ชี้ฝุ่น PM2.5 กระเทือน ‘ศก.-ท่องเที่ยว’ ชง 14 แนวทางสู้

อนุสรณ์ ประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศ PM2.5 ต่อสุขภาพและเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐต้องคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในการมีอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน  เสนอ 14 ข้อเสนอสู้มลพิษทางอากาศ

18 ธ.ค.2566-รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพปริมณฑลและหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือมีความรุนแรงมากขึ้นว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยทางด้านระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอดจากฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งยังทำให้ระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ   ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

จากงานวิจัยที่เคยมีการศึกษาในช่วงที่เกิดมลพิษทางอากาศรุนแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลาสองเดือน พบว่า เกิดการต้นทุนและค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพและสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3,100 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวพื้นที่กรุงเทพฯ 1,000 – 3,500 ล้านบาท การรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ 1,200 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการป้องกันมลพิษและการสวมใส่หน้ากากอนามัย 400 – 1,900 ล้านบาท คนจนในกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน หรือ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานขับรถสาธารณะและกระเป๋ารถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งไม่มีเครื่องป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและมีสุขภาพย่ำแย่ลง

โดยเฉพาะมีวิจัยชี้ว่า ตำรวจจราจรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ปฏิบัติงานริมถนนในกรุงเทพฯมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง นอกจากนี้ผู้ที่ต้องเผชิญการจราจรติดขัดที่ต้องอยู่บนท้องถนนเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น เมื่อปีที่แล้ว มีผู้ร้องเรียนในไทยเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะมีพิษ น้ำเน่าเสีย มลพิษทางอากาศ 14,800 ข้อร้องเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ   

วิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควันและ PM2.5 ในภาคเหนือตอนบน กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่มาบตาพุด ระยองรุนแรงมากตามลำดับ จึงขอเสนอให้รัฐบาลเศรษฐาออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อทำลายสุขภาพของประชาชน ผู้คนอยู่ในสภาพตายผ่อนส่ง มลพิษทางอากาศยังบ่อนทำลายเศรษฐกิจไทย รบกวนการดำเนินชีวิตตามปรกติของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติหมอกควันและมลพิษทางอากาศ หมอกควันและมลพิษที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มาจากการเผาป่าและพืชไร่ในเมียนมาร์และลาว การทำการเกษตรกรรมอย่างขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คน

มาตรการแรก เสนอให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติแบบเร่งด่วน ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้ง ลดความแออัด วางผังเมือง ระบบขนส่งมวลชนของอีอีซีและเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มาตรการที่สอง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ

มาตรการที่สาม ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะและปกป้องสิ่งแวดล้อม การที่รัฐมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมมากนั้น หมายความว่ารัฐนั้นย่อมมีการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไปด้วย ดังนั้นรายได้จึงมิใช่เป้าหมายของการจัดเก็บ ภาษีสิ่งแวดล้อม โดยหลักการที่สำคัญของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม คือ หลักการ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) กล่าวคือ ผู้ก่อมลพิษทางอากาศหรือมลพิษใดๆควรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ไปในการควบคุมบำบัดและป้องกันมลพิษ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้นทุนของการใช้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ในการควบคุมและป้องกันมลพิษควรจะสะท้อนออกมาเป็นต้นทุนภายในของการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หรือ การซื้อขายใบอนุญาตสิทธิในการปล่อยมลพิษหรือซื้อขายสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้ หรืออาจใช้  ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยควรมีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น มาตรการที่สี่ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้ มาตรการที่ห้า ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง  

มาตรการที่หก ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และส่งเสริมและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในอัตราก้าวกระโดด มาตรการที่เจ็ด สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลลง มาตรการที่เก้า การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ และ เปลี่ยนรถโดยสารขนส่งมวลชนให้เป็นรถไฟฟ้า ส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยใช้มาตรการภาษีจูงใจ มาตรการที่สิบ ปรับผังเมืองให้บรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ (รัฐบาลประยุทธ์) ใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต

มาตรการที่สิบเอ็ด มาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นในในบางช่วงเวลา เป็นต้น มาตรการที่สิบสอง ควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act

มาตรการที่สิบสาม ต้องมีกลไกหรือกฎหมายที่สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศได้ เช่น การผ่านกฎหมายมลพิษและหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) นอกจากต้องหยุดยั้งการตัดไม้เผาป่าเพื่อมาทำการเกษตรด้วยมาตรการจูงใจและสนับสนุนให้มีการจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรด้วยวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ต้องมีการดำเนินการแก้ปัญหาข้ามพรมแดนอีกด้วย การใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษและควบคุมไม่ให้มีการตัดไม้เผาป่าเพื่อทำการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านด้วยการออกกฎหมายมลพิษและหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) แบบเดียวกับสิงคโปร์ กฎหมายลักษณะนี้ในสิงคโปร์จะเอาโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อบริษัทสิงคโปร์ที่เข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมัน และ ผลิตเยื่อกระดาษด้วยการตัดไม้เผาป่าเตรียมพื้นที่เกษตร หลังจากออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2557 สถานการณ์หมอกควัน มลพิษทางอากาศอันเป็นผลจากการเผาป่าในอินโดนีเซียและข้ามพรมแดนมายังสิงคโปร์และมาเลเซียได้ลดลงอย่างมาก ประเทศไทยจึงควรออกกฎหมายต่อต้านหมอกควันข้ามพรมแดนโดยเร่งด่วน สำหรับการเผาซากในนาข้าว ไร่อ้อยและไร่ข้าวโพดในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน รัฐบาลควรมีมาตรการอุดหนุนต้นทุนการเตรียมพื้นที่เกษตรกรรมให้กับเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่และบริษัทเกษตรกรรมในลักษณะยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งอุดหนุนน้อย ยิ่งมีรายได้น้อย ยิ่งอุดหนุนมาก ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เครื่องจักรสีเขียวในการทำการเกษตรกรรม ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตของทุกคนจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนและบางกรณีต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศข้ามพรมแดนอีกด้วยจึงจะแก้ปัญหาด้อย่างยั่งยืน 

มาตรการที่สิบสาม หากมลภาวะทางอากาศรุนแรงมากๆต่อสุขภาพประชาชนในบางพื้นที่ ต้องลดการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก (ลดการผลิตปูนซีเมนต์ลง ลดการผลิตพลังงานจากถ่านหิน ลดการผลิตเหล็ก ลดการผลิตปิโตรเคมี) ลงในบางช่วงเวลา ลดการผลิตที่ปล่อยมลพิษทางอากาศมากในช่วงเวลาที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรง และ ใช้เวลาในช่วงเวลาดังกล่าวหยุดเดินเครื่องจักรและซ่อมแซมเครื่องจักรในโรงงานซึ่งต้องทำทุกปี การบริหารจัดการให้เหมาะสมจะทำให้ คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นโดยไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก  มาตรการที่สิบสี่ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศความเข้มข้นสูงในกรุงเทพและปริมณฑล

“หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้อไปเกินกว่า 2 เดือนจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500-6,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อยหากมีสภาพมลภาวะทางอากาศรุนแรงเกินสองเดือนจากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในกรุงเทพและปริมณฑล การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งและโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ ขณะนี้ พื้นที่และจังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด คือ นครราชสีมา เนื่องจากมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อุทยานเขาใหญ่ วังน้ำเขียว ไม่ได้รับปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ควันพิษจากการจราจรแออัดและโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่มากนัก”   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย พร้อมคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า

ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 26 เมษายน 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้