"จุฬา สุขมานพ" ตั้งมั่นปรับมุมมองอีอีซี พัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน

8 ม.ค. 2567 -ที่ผ่านมาการเดินหน้าพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดวิกฤตด้านใดก็ตาม ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือสงครามระหว่างประเทศ รวมถึงการกีดกันทางการค้า เพราะส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าโครงการนี้เป็นการดำเนินงานในประเทศ แต่ในอีกมุมหนึ่งคือเรื่องของความจริงจัง และความพร้อมของเครื่องมือทางด้านกฎหมายของอีอีซี ที่ทำให้สามารถพัฒนาได้โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบของปัจจัยต่างๆ

ทั้งนี้ ที่อีอีซีถูกตั้งเป้าให้เป็นหมุดหมายใหม่ของประเทศ และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศ การลงทุน การท่องเที่ยว และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับพื้นที่และประชาชนคนไทย แต่การที่จะไปสู่จุดหมายนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยการเดินหน้าที่จริงจัง และที่ผ่านมาจึงเห็นภาพของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคม ระบบน้ำ ระบบไฟ หรือสาธารณูปโภคต่างๆ และกินเวลามาหลายปี จนอาจจะทำให้คนที่มองเข้ามาในโครงการเกิดความเห็นที่ผิดไป และยังไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่อีอีซีของรัฐบาล

หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการลงทุนอาจจะเข้าใจว่า การพัฒนาพื้นที่อีอีซีครั้งนี้จะทำแค่รถไฟเชื่อมพื้นที่ ทำการคมนาคมใหม่เพียงเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้เองอาจเป็นอุปสรรคของการพัฒนาพื้นที่เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ได้มีโอกาสขึ้นมาคุมบังเหียนการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ รับช่วงต่อจากนายคณิศ แสงสุพรรณ ที่เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มดำเนินงานมาในช่วงแรก ก็ได้มีแนวคิดใหม่ที่จะสร้างให้พื้นที่อีอีซีนั้นเป็นที่รู้จักในมุมมองที่กว้างขึ้น และสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นใหม่ของพื้นที่แห่งนี้ว่าจะไม่ใช่แค่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่จะเป็นโครงการที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ด้วย

ปัจจุบันมีกระสุนอยู่แค่ไหนบ้าง?

นายจุฬา กล่าวว่า ผมเข้ามาในลักษณะว่าจะทำอะไร ตอนที่สมัครเข้ามามีคนบอกว่าต้องการให้เราเป็นโมเดลสำหรับการพัฒนา และยังบอกอีกว่าการจะทำอีอีซีต้องไปลองดูก่อนว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง และอะไรที่เรายังขาดอยู่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดไว้ และผมใช้คำว่า รีอิมเมจหรือสร้างภาพลักษณ์ ให้เห็นว่าอีอีซีจริงๆ คืออะไร เพราะส่วนหนึ่งยังมีคนที่เข้าใจว่าอีอีซีคือการทำรถไฟโดยภาคคมนาคม ข่าวจะมีแต่รถไฟความเร็วสูง จะมีท่าเรือ จะมีสนามบิน แต่ในกระบวนการจริงๆ ก็พยายามจะอธิบายแล้วว่าอีอีซีจริงๆ แล้วเป็นการพัฒนาพื้นที่ ต้องการให้เป็นเมืองที่มีการเติบโต ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็จะต้องมีการเตรียมในด้านของโครงสร้างพื้นฐานก่อน

แต่ก็เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โตในลักษณะให้คนมาลงทุน ซึ่งจะเติบโตจากพื้นที่ที่มีการลงทุน และเป็นการทำให้โตแตกต่างจากคนอื่น เพราะเดิมบ้านเราโตจากส่งออกหรือเอ็กซ์ปอร์ต กับการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่การมีอีอีซีจะเป็นการกำหนดว่าสามจังหวัดนี้จะดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุนได้ไหม การเตรียมพื้นที่หรือเตรียมสาธารณูปโภคให้พร้อมนั้นก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะฉะนั้นอีอีซีทำงานเหมือนรัฐบาลย่อยๆ แต่ทำในสามจังหวัดนี้ และตั้งเป้าให้อีอีซีไปดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักๆ ให้มีใหม่ๆ เข้ามาในประเทศบ้าง

ด้านที่สองที่บอกว่ารีอิมเมจ คือ ผมพยายามจะหาเครือข่าย ซึ่งปีที่ผ่านมาก็มีเครือข่ายเกิดขึ้นมากมาย มีคนอื่นมาเซ็นบันทึกข้อตกลงในการร่วมมือ (เอ็มโอยู) ต่างๆ ตลอดเวลา และ ด้านที่สามพอรีอิมเมจแล้ว ผมใช้ว่ารีอะไลฟ์ คือ การปลุกให้ตื่น กระตุ้นให้เกิดขึ้นมา ส่วนหนึ่งใช้การมีเอ็มโอยูกับคนอื่น เพราะบางเรื่องต้องฝากคนอื่นไปทำ ที่ผ่านมามีพวกการศึกษาเข้ามาช่วย คือ การกระตุ้นให้มันคึกคักขึ้น ซึ่งก็คึกคักเหมือนกัน ส่วนหนึ่งเปลี่ยนรัฐบาลด้วย มีนายกฯ เข้ามาช่วยกระตุ้น หรือคนอื่นๆ ที่มาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการนิคมอุตสาหกรรมฯ เพราะนักลงทุนจีนมาถามเยอะถึงแนวโน้มการลงทุน

“ที่ผ่านมาแม้จะมีคนไม่รู้ว่าอีอีซีทำอะไรถึงต้องไปรีอิมเมจ ดูภาพลักษณ์ พอเห็นว่าทำอะไรได้ และจะทำให้ใครที่อยากลงทุนจริงๆ ได้รับสิทธิประโยชน์นั้นโดยตรง โดยเรามีทางด่วน เพราะอีอีซีสามารถทำได้ทุกอย่าง ทำให้คึกคัก ทำให้เกิดเป็นจริงเป็นจัง ทำให้เร็วเพราะมีตั้งศูนย์ครบวงจรเป็นไอที วันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งทั้งหมดได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.นี้แล้ว” นายจุฬา กล่าว

มุมมองด้านการทำงานปี 2567

นายจุฬา กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าเป็นการทำงานหนักจริง เพราะสิ่งที่คาดหวังคือภาพใหญ่ของอีอีซีต้องเปลี่ยนไป ถึงแม้จะมีสามจังหวัด แต่การทำงานนั้นครอบคลุมหลายส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่มีการกำหนดพื้นที่ หรือพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากกลุ่มสามจังหวัดที่ครอบคลุมพื้นที่เยอะ ถ้าในเชิงกฎหมายการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีนั้นก็ครอบคลุมเกือบ 20 ฉบับเช่นเดียวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการที่ใครจะเข้ามาลงทุนแล้วต้องวิ่งไปทั้ง 20 หน่วยงานนั้นก็อาจจะไม่สามารถลงทุนได้ แต่การที่เรามีเครื่องมือและหน่วยงานที่สามารถทำงานแบบ วันสต็อปเซอร์วิส นั้นก็จะสามารถสร้างความสะดวกสบายได้

ซึ่งในเชิงการลดหย่อนภาษีอาจจะไม่แตกต่างกัน เพราะมีการกำหนดให้ไม่เกินที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุญาต แต่ในประเภทของสิทธิประโยชน์ อีอีซีมีมากกว่าเยอะ อย่างเช่น วีซ่าอีอีซีเราให้เองได้เลย หรืออย่างเรื่องเช่าพื้นที่ นักลงทุนมาเช่าพื้นที่คนไทยได้ เราให้ได้ถึง 99 ปี เรามีแต่บีโอไอไม่มี หรือการให้เช่าคอนโดฯ หรือสิทธิ์คนต่างประเทศมาซื้อคอนโดฯ เป็นพนักงานเราให้ได้ บีโอไอไม่มี จะมีหลายอันที่กฎหมายเราเกิดทีหลังบีโอไอมาร่วม 40 ปี มันจำเป็นต้องมีการเขียนให้มากกว่าอยู่แล้ว บีโอไอยังใช้ได้อยู่ทั่วประเทศในอุตสาหกรรมที่ต้องการส่งเสริม ทำได้หมด แต่ของเราได้แค่ 3 จังหวัด

อุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี

นายจุฬา กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนกลุ่มที่สนใจมากสุดเป็นพวกกลุ่มรถไฟฟ้า หรืออีวี และที่จะตามมาจะเป็นพวกดิจิทัล เทคโนโลยี พวกชิปอะไรต่างๆ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำและเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอีอีซีมองว่าหากต้องการอุตสาหกรรม 4.0 ต้องใช้หุ่นยนต์ ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร พวกนี้มันจำเป็นต้องใช้พวกต้นน้ำที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าสามารถดึงมาได้ก็จะทำให้ตัวอื่นตามมาด้วย อย่างการลงทุนของกลุ่มอีวี จะมี 1.แบตเตอรี่ 2.สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะตามมาอยู่แล้ว

แต่จริงๆ แล้วใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น เป็นกลุ่มที่ประเทศไทยต้องการทั้งสิ้น แต่ถ้าถามว่าในเชิงรุกอยากจะเร่งให้เกิดการลงทุนในกลุ่มไหน ก็น่าจะเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มการแพทย์ เนื่องจากเห็นมุมมองสังคมต่อไปในอนาคตที่จะให้ความสำคัญกับการแพทย์เกี่ยวกับยา วัคซีน โดยอีอีซีต้องการที่จะนำอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำๆ เข้ามาลงทุน เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีอุตสาหกรรมปลายน้ำเพียงพอ เรามีหมอ มีโรงพยาบาล แต่ยาที่ใช้ที่เราผลิตได้มีประมาณ 15% และต้องนำเข้าอีก 85% และในส่วนของการผลิต 15% นั้นสารตั้งต้นที่ใช้ทำยา 80% ต้องนำเข้า พูดง่ายๆ คือธุรกิจยาต้องพึ่งพาต่างประเทศเกือบทั้งหมด

ดังนั้น วิธีการเชิงรุกคือ ต้องดึงดูดกลุ่มนักลงทุนด้านสารตั้งต้นที่ผลิตยามาอยู่ในพื้นที่ก่อน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมยาต่างๆ เข้ามาลงทุนตาม และจะสนับสนุนให้มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ตามมาด้วย เท่ากับจะมีคนมาเรียนและศึกษามากขึ้น องค์ความรู้จะเพิ่มมากขึ้น ถ้าเรามีโรงงานผลิตสารตั้งต้นและส่งผลให้สารตั้งต้นราคาถูก โรงงานจะตามมา หมอหรือเครื่องมือแพทย์ก็จะตามมา สิ่งนี้ถือว่าจะสามารถทำให้เกิดศูนย์รวมการลงทุนด้านการแพทย์ หรือเมดิคัลฮับได้อย่างเต็มปาก

นายจุฬา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี ในสวิสมีเอกชนในกลุ่มยาสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี และจะเข้ามาดูลาดเลาในช่วงเดือน ก.พ.ของปีนี้ เพราะคนในเอเชียสนใจเรื่องนี้มากกว่าคนในทวีปยุโรป ถ้าสามารถดำเนินการได้จะมีตลาดใหญ่ รวมทั้งสวิสยังมีสิทธิบัตรยามากที่สุดในโลก และมีความพร้อมในการผลิตอย่างเต็มที่

“ขณะที่ประเทศอินเดียเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจในเรื่องการลงทุนด้านยา เพราะในประเทศเองก็มีการผลิตยาที่น่าสนใจ และมีความเข้มแข็ง ซึ่งหากเข้ามาลงทุนในอีอีซี อินเดียจะนำสารตั้งต้นเข้ามาได้เยอะ เพราะในประเทศมีกลุ่มเคมิคัล ซึ่งปัจจุบันไทยนำสารตั้งต้นมาทำยาพาราฯ ก็มาจากจีนและจากอินเดีย แต่จากการสอบถามความสนใจของนักลงทุนจากสวิสแล้วนั้น ก็มองทั้งสองประเทศ ทั้งไทยและอินเดีย เรามีความพร้อมด้านโรงงานแต่ไม่มีของหรือสารตั้งต้น เรามีแต่เครื่องมือ ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะเป็นหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนหรือไม่ แต่เราก็จะพยายามดึงดูดให้สุดความสามารถ” นายจุฬา กล่าว

กลุ่มประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุน

นายจุฬา กล่าวว่า ส่วนกลุ่มประเทศที่เข้ามามากสุด จนถึงสิ้นปี 2566 จะเป็นประเทศจีนที่มียอดแซงญี่ปุ่นแล้ว แต่เดิมญี่ปุ่นเบอร์ 1 จีนเบอร์ 2 ด้านญี่ปุ่นก็เพิ่มอยู่แต่เพิ่มไม่เท่าจีน จีนคืออุตสาหกรรมรถไฟฟ้าทั้งหมด และมีพวกอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มี และยังมีพวกพลังงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้กังวลกับการเมือง คือการเมืองไม่ได้ทำให้เขาเจ๊ง ถ้าเจ๊งคือธุรกิจเขาเอง เขาทำรีเสิร์ชดีแล้ว ประเทศไทยคนลงทุนมากที่สุดคือญี่ปุ่น มาอยู่เมืองไทย 30-40 ปีแล้ว ก็ไม่ได้ไปไหน จนบางอย่างผลิตหลักแบรนด์ญี่ปุ่นก็อยู่เมืองไทยแล้วอย่างแอร์ไดกิ้น เมืองไทยใหญ่ที่สุดของโลก กลุ่มรถมาอยู่เมืองไทยเยอะ อย่างโตโยต้า เท่ากับว่าเป็นกรณีต่อเนื่อง พวกนี้ช่วยให้เราอ้างอิงพวกประสบความสำเร็จมากกว่า ล้มเหลวได้ ถ้าเทียบกันคนที่ล้มเหลวจากประเทศเวียดนามเยอะกว่า

“คนที่ไปเวียดนามแล้วหนีกลับก็มีเยอะ เพราะธุรกิจบางอย่างเขามองที่ค่าแรงต่ำ ถึงเวลาเขาไปเจอปัญหาแรงงานสไตรค์ เนื่องจากเราไปกดราคาค่าแรง เขามีปัญหาไฟไม่พอ ของไทยไม่มีปัญหาขนาดนั้น ของไทยแพง แต่เราต้องดูอุตสาหกรรมอะไรที่จะมา เราดึงอุตสาหกรรมที่สูงกว่านั้น กรณีที่บอกว่าค่าจ้าง 500 ในอีอีซีหาคนงานไม่ได้ เรื่องนี้ไม่น่าจะจริง เพราะว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่มีค่าจ้างเกินกว่านั้น เพราะเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน จะไม่เหมือนกับในบางพื้นที่อย่างสมุทรสาคร หรือสมุทรปราการ” นายจุฬา กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สกพอ. ผนึก ส.อ.ท. เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการพื้นที่อีอีซี

อีอีซี ลุยจับมือ ส.อ.ท. เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการพื้นที่อีอีซี ผลักดันเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ บริการ แหล่งเงินทุน ขยายโอกาสลงทุนอุตฯ เป้าหมาย

'จุฬา' เร่งเครื่องอีอีซีเข็นไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินตอกเสาเข็ม ม.ค.67

“บอร์ดเร่งรัดลงทุน อีอีซี” ไฟเขียวจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์เชื่อมร่วมมือ “บีโอไอ-กนอ.” ดึงลงทุนเข้าประเทศ พร้อมอัปเดต 4 โปรเจกต์หลัก เร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ลุ้นอัยการตีความบัตรส่งเสริมการลงทุน คาดเริ่มสร้างปีหน้า เสร็จตามแผนในปี 71 ส่วน “เมืองการบิน-แหลมฉบังเฟส 3-ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด” เปิดใช้ปี 70