เตือนสติรัฐบาลอย่าบ้าจี้ดึงทุนจีนเพราะเป็นการฆ่า SME ไทยอย่างเลือดเย็น

24 ม.ค.2567 - นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ขณะที่รัฐบาลกำลังตีข่าวเรื่องการดึงนักลงทุนจีนเข้ามาภายในประเทศโดยมีสิ่งล่อใจจากภาครัฐโน่นนี่นั่น ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลรู้หรือไม่ว่าข้อมูลทางการค้าในปีที่ผ่านมาเราขาดดุลการค้ากับจีนถึง 1.3 ล้านล้านบาท (แต่ผมคิดว่ามากกว่านั้น)

เพราะสิ่งที่พวกคุณกำลังทำอยู่นั่นคือการฆ่า SME ของไทยอย่างเลือดเย็น เราแข่งราคากับจีนไม่ได้หรอกครับ เขาต้นทุนต่ำกว่าจากการสนับสนุนของรัฐบาลจีน แต่ของเราเองได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สู้ราคากับจีนได้ไหม ทั้งที่สินค้าไทยไม่มีค่าขนส่งมาไกลเหมือนจีน เอาแค่ผักสดของเรายังสู้ราคาผักสดจากจีนที่เข้ามาจากท่าเรือแม่น้ำโขงยังไม่ได้เลย ผลไม้บางอย่างที่เคยเป็นของแพงเพราะเราผลิตเองไม่ได้ ก็ราคาถูกลงจนกลายเป็นคู่แข่งของผลไม้ไทย เราเหลือแค่ทุเรียนอย่างเดียวที่จีนยังต้องเอามาจากไทยและเรายังได้ดุลอยู่ ส่วนลำไยที่เราเคยส่งออกจีนได้มากมายแต่วันนี้เราเสียตลาดไปเรียบร้อยหลายปีแล้ว

ผมไม่ได้เกลียดจีนหรอกนะครับ ผมเองก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่นโยบายของรัฐบาลต้องปกป้องธุรกิจภายในประเทศของเราก่อนที่จะคิดถึงแต่ตัวเลขการลงทุนที่เข้ามาจากจีน สิ่งนี้ไม่ยั่งยืนหรอกครับ พอจีนมีที่อื่นลดต้นทุนได้หรือมีข้อเสนอทางภาษีมากกว่าไทย จีนก็พร้อมจะย้ายออกไปไม่ต่างกับตั๊กแตนย้ายไปไร่อื่นที่มีอาหารมากกว่า แต่ธุรกิจ SME ของไทยเราเองต้องอยู่ได้ไม่โดนจีนถล่มตลาดจนต้องปิดตัวลง

เอาง่ายๆ ดูที่รองเท้าเด็กนักเรียนว่านันยางเสียตลาดให้จีนไปเท่าไร ทั้งที่รองเท้าจีนคู่นั้นต้องเดินทางมาหลายพันกิโลเมตร แต่ทำไมเขาขายได้ถูกกว่าของภายในประเทศ พัดลมไฟฟ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของโรงงานภายในประเทศไทยที่มีใช้กันทุกบ้านก็โดนจีนบุกเข้ามาแย่งตลาด แม้กระทั่งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐก็ยังเปิดทางให้สินค้าจีนเข้ามาแข่งกับสินค้าผลิตในประเทศได้ ถ้าเป็นแบบนี้สักวันธุรกิจ SME ของเราก็อยู่ไม่ได้ ยังไม่รวมสินค้าคอนซูมเมอร์อื่นๆ ที่เรากำลังเสียตลาดให้จีนไปเรื่อยๆ สักวันโรงงานสบู่ผงซักฟอกบะหมี่สำเร็จรูปของบ้านเราอาจจะเจ๊งก็ได้ เพราะจีนที่เอาสบู่มาจากระยะทางหลายพันกิโลเมตรแต่กลับขายได้ถูกกว่า

นั่นคือตัวอย่างที่ผมอยากจะยกขึ้นมาให้มอง อย่างน้อยหน่วยงานที่รัฐสามารถใช้เพื่อกีดกันการบุกของสินค้าจีนได้ก็คือมาตรฐานอุตสาหกรรม ถ้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มอก. ก็ไม่ต้องเอาเข้ามาขายให้ซื้อไปใช้แล้วไฟไหม้บ้านหรือใช้แล้วสามวันพัง สินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างไม่ผ่าน อย.ก็ไม่ต้องยอมให้เข้ามาขาย ตอนนี้สินค้าที่ไม่แน่ใจว่ากินแล้วตายผ่อนส่งหรือใช้แล้วเป็นอันตรายระยะยาวจากจีนเกลื่อนตลาดไปหมด อย่างที่ผมยกตัวอย่างนั่นแหละครับว่าสักวันโรงงานสบู่ผงซักฟอกรองเท้าถุงเท้าของใช้ในครัวเรือนของไทยก็ยังอยู่ไม่ได้ถ้ายังปล่อยให้ SME ของไทยเราโดนสินค้าจีนถล่มราคากันขนาดนี้

เรื่องนี้ผมอยากให้ดูตัวอย่างของกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่าง สินค้าไม่ได้มาตรฐานก็ห้ามเอาเข้ามาขาย กำแพงตัวนี้สามารถทำให้สินค้าจีนราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถเข้าไปถล่มตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่าของภายในประเทศของพวกเขาได้ อย่างที่ผมบอกไว้ก่อนหน้านี้ SME ของไทยโดนกฎหมายบังคับต้องผลิตสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐาน อย. แต่ต้องขายแข่งราคากับสินค้าจีนที่คุณภาพต่ำที่ไร้มาตรฐานอะไรทั้งนั้น แต่สามารถวางขายบนชั้นวางสินค้าเดียกันได้ แล้ว SME ของเราจะอยู่รอดได้อีกสักกี่ปี

ยังไม่รวมสินค้าที่ขายกันบนออนไลน์ที่นำเข้าซอยเป็นล็อตเล็กๆ ราคาต่ำกว่าหมื่นบาทที่เลี่ยงการเสียภาษี แต่นำเข้าหลายสิบหลายร้อยล็อตโดยมีบริษัทโลจิสติกส์ของจีนเข้ามาดำเนินการให้สินค้าพวกนี้เข้ามาได้สะดวกขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมวงเล็บไว้ข้างบนว่าน่าจะขาดดุลเกินกว่าตัวเลขทางการนั้นมาก

แหกตาดูความจริงกันบ้าง อย่าเอาแต่มุมมองสวยๆ แต่ไร้สมองทางภูมิศาสตร์การเมือง หรืออยากได้แต่ข่าวที่ออกมาแล้วดูเท่ๆ บนหน้าสื่อ

คนที่หย่อนบัตรส่วนใหญ่เขาไม่ได้ตั้งใจเลือกพรรคของคุณเข้ามาเป็นรัฐบาลหรอกครับ คุณคือเสียงส่วนน้อยที่โชคดีเท่านั้นเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมืองรับมือโลกเดือดไหวหรือไม่ เช็กความพร้อมชุมชน

งานวิจัยชี้ชัดประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงลำดับต้นๆ ของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูร้อนที่ผ่านมาหลายภาคของไทยเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ไหว หลายพื้นทื่เจอกับภาวะร้อนและแล้งยาวมาแล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เจอฝนถล่มหนักระยะสั้นๆ ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม

คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ...เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน มีเนื้อหาดังนี้

สสว. ย้ำบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริม SME โดยจับมือกว่า 30 หน่วยงานร่วมกันส่งเสริม SME ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ปี 2567

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)