'พาณิชย์' ถก HKETO ผลักดันหนุนอาหาร ผลไม้ ข้าวหอมมะลิไทย ส่งออกไปฮ่องกง

“ภัณฑิล” ให้การต้อนรับ ผอ.HKETO คนใหม่ ย้ำเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า ลงทุน เศรษฐกิจ ไทย-ฮ่องกงต่อเนื่อง ขอช่วยสนับสนุนสินค้าไทย ทั้งอาหาร ผลไม้ ข้าวหอมมะลิไทย และธุรกิจบริการ ชวนร่วมชมงานแสดงสินค้าสำคัญ 7 งานที่จะจัดในปีนี้ ด้านฮ่องกงขอไทยไปลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะด้านแฟชั่นและอาหาร พร้อมเชิญ “ภูมิธรรม” เปิดงาน The Thailand-Hong Kong Business Forum มีนาคมนี้

20 ก.พ. 2567 – นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนายแหลม ชุนวา พาร์สัน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำกรุงเทพมหานคร (Director, Hong Kong Economic and Trade Office (HKETO), Bangkok) และคณะเข้าหารือในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยมีนางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วม ว่า ได้แสดงความยินดี และขอต้อนรับผู้อำนวยการ HKETO คนใหม่ ที่มาประจำอยู่ที่ประเทศไทย โดยมั่นใจว่าจะมีโอกาสร่วมมือกันในการขยายความร่วมมือทางธุรกิจ การค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ฮ่องกง และร่วมกันสนับสนุนธุรกิจและสินค้าไทยสู่ตลาดฮ่องกงต่อไป

ทั้งนี้ ได้แจ้งผู้อำนวยการ HKETO ว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายผลักดัน Soft Power ของไทย ทั้งในด้านสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าอาหาร ผลไม้ และข้าวหอมมะลิไทย ตลอดจนธุรกิจบริการไทย เช่น โรงพยาบาล โรงแรมให้ผู้บริโภคชาวฮ่องกงได้รับทราบ จึงขอให้ HKETO ช่วยประชาสัมพันธ์และสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปฮ่องกงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ และผลไม้ เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ชาวฮ่องกงให้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนมาโดยตลอด และไทยมีความพร้อมที่จะส่งออกข้าวและผลไม้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดฮ่องกง โดยได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภคชาวฮ่องกง อีกทั้งปัจจุบัน ประเทศไทยมีนโยบายให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมอาหาร (Future Food) ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนฮ่องกง จึงหวังว่าจะมีความร่วมมือกับฮ่องกงในเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์การจัดงานแสดงสินค้า และเชิญชวนให้ผู้นำเข้ามาร่วมเข้าชมงาน โดยไทยจะมีการจัดงานแสดงสินค้าสำคัญจำนวน 7 งาน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2567 ดังนี้ 1) Bangkok Gems & Jewelry Fair (ก.พ.) 2) THAIFEX–HOREC Asia (มี.ค.) 3) STYLE Bangkok (มี.ค.) 4) THAIFEX-ANUGA ASIA (พ.ค.-มิ.ย.) 5) Tilog-LogistiX (ส.ค.) 6) Bangkok RHVAC and Bangkok E&E (ก.ย.) (7) Bangkok Gems & Jewelry Fair (ก.ย.)
สำหรับกิจกรรมที่จะนำมาใช้เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทยในตลาดฮ่องกง ในปี 2567 เช่น โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์อาหารไทยและธุรกิจบริการอาหารไทย (1 ธ.ค. 66–30 มิ.ย.67) โครงการส่งเสริมอาหารไทยผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ (1 ม.ค.–31 ส.ค.67) การจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจในงาน Hongkong Film & TV Market 2024 (11–14 มี.ค.67) โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์ข้าวไทยผ่านร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในตลาดฮ่องกง (มิ.ย.-ส.ค.67) และกิจกรรม Thai Fruits Golden Months ซึ่งได้ขอความร่วมมือให้ช่วยประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการจัดกิจกรรมด้วย

นายภัณฑิลกล่าวว่า ทางด้านฮ่องกง ได้แจ้งว่ามีความต้องการที่จะส่งเสริมธุรกิจไทยไปฮ่องกง และต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมและสนับสนุนนักธุรกิจไทยไปทำธุรกิจที่ฮ่องกง โดยภาคธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับตลาดฮ่องกง ได้แก่ สินค้าแฟชั่น ปริมาณการซื้อสินค้าแฟชั่นฮ่องกงเติบโตร้อยละ 43 เมื่อปีที่ที่ผ่านมา ขณะที่อัญมณีและเครื่องประดับ เติบโตร้อยละ 55 ในด้าน Food Tech ฮ่องมีความต้องการด้านอาหาร เช่น โปรตีนทางเลือกและอาหารสุขภาพ มากขึ้น ซึ่งได้ยืนยันไปว่ากระทรวงพาณิชย์ พร้อมที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในฮ่องกงเพิ่มขึ้น เพราะไทยมีขีดความสามารถในด้านนี้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ฮ่องกงได้กล่าวถึงการจัดงาน The Thailand – Hong Kong Business Forum ซึ่งเป็นงานประชาสัมพันธ์ด้านโอกาสทางการค้าและการลงทุนฮ่องกง มีการเชิญนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านธุรกิจการค้ามาแบ่งปันประสบการณ์ในการขยายธุรกิจไปฮ่องกงและจีน ในวันที่ 18 มีนาคม 2567 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับที่จะช่วยประชาสัมพันธ์การจัดงานต่อไป

ปัจจุบัน นักลงทุนฮ่องกง เป็นนักลงทุนอันดับที่ 6 ในประเทศไทยด้วยการลงทุน 39,000 ล้านบาท (ข้อมูล BOI ช่วง 9 เดือนปี 2566) โดยธุรกิจฮ่องกงในประเทศไทย ได้แก่ ViU (video streaming) , Klook (travel booking) , LaLamove (logistics) และฮ่องกงเป็นแหล่งส่งออกอันดับที่ 7 ของสินค้าไทยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมียอดส่งออกที่ 380,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจไทยที่มีในฮ่องกงแล้ว ได้แก่ ด้านการเงิน (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย) ด้านอาหารและเครื่องดื่ม (CPF, Betagro และThaiBev) และยังมี Big C ที่เข้าฮ่องกงเมื่อประมาณเดือนกันยายนปีที่แล้วและพยายามที่จะเปิด 99 สาขาภายใน 2 ปีนี้ รวมทั้ง After You เป็นที่นิยมของลูกค้าฮ่องกง และกำลังจะเปิดสาขาสองภายในปีนี้

สำหรับ Hong Kong Economic and Trade Office (HKETO) เป็นสำนักงานตัวแทนให้กับรัฐบาลฮ่องกงในระดับภูมิภาค ซึ่งประเทศที่สาขาที่ตั้งอยู่ในไทยจะรับผิดชอบประเทศอื่นด้วย ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา และบังคลาเทศ โดยหน้าที่ของหน่วยงาน คือ การสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าแบบทวิภาคี ระหว่างฮ่องกงและไทย ซึ่งรวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาล การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการค้าและการลงทุน และตั้งในประเทศไทยมาเพียง 5 ปี จึงมีความมุ่งมั่นในการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับไทยยิ่งขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์สั่งลุยอีคอมเมิร์ซปั้น SMEs สินค้าชุมชน OTOP ขายออนไลน์

คณะอนุกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรกนิกส์ Big Data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า กระทรวงพาณิชย์ครั้งที่ 2 เห็นชอบแผน Quick Win ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวม 4 แผนงาน ตั้งเป้าส่งเสริม SMEs สินค้าชุมชน OTOP ขายออนไลน์ได้จริงไม่ต่ำกว่า 25,000 รายต่อปี ช่วยยกระดับความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรม พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ส่งเสริมใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า และพัฒนาปัจจัยสนับสนุนอย่างเต็มที่