แนะนำหนังสือ “คนขี่เสือ”: การก้าวลงบัลลังก์แห่งอำนาจสู่สามัญที่เป็นจริง (He who rides a tiger.)


ข้อเขียนวันนี้ ผู้เขียนขอรีวิวหนังสือคลาสสิคเล่มหนึ่ง เรื่อง ”คนขี่เสือ” ซึ่งเป็นผลงานของ ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ นักประพันธ์ชาวอินเดียซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2497 และต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาดัตช์ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลีและอีกหลายภาษารวมทั้งภาษาไทยด้วย เผยแพร่ออกไปทั่วโลก

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือ เล่มนี้ฉบับแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกขณะที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเพื่อนรักที่ชอบทำกิจกรรมนักศึกษาร่วมกันเป็นผู้แนะนำและให้ผู้เขียนหยิบยืมมาอ่าน ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2516 หรือ พ.ศ. 2517 เป็นฉบับที่แปลโดยทวีป วรดิลก ผู้เขียนอ่านแล้วมีความประทับใจมาก ต่อมาเมื่อจบการศึกษามาแล้วหลายปีผ่านไป จึงได้มีโอกาสพบเห็นหนังสือเล่มนี้อีกในร้านหนังสือจึงซื้อหามาเก็บสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แต่เล่มที่ได้มานี้เป็นฉบับที่แปลโดยจิตร ภูมิศักดิ์ โดยมีการจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งที่สี่เมื่อ พ.ศ. 2543

“คนขี่เสือ” เป็นเรื่องราวการเผชิญชะตากรรมของครอบครัวนายกาโล และบุตรสาว ชาวเมือง เบงกอลซึ่งเป็นรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียที่ต้องเผชิญกับภาวะความยากจนข้นแค้น ภัยแล้งและความขัดสน ขาดแคลนอันเนื่องมาจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 กาโลเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงานประกอบอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก รับซ่อมอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นโลหะ กาโลจึงอยู่ในวรรณะศูทรซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุดของสังคมชาวฮินดู กาโลเป็นพ่อม่าย เมียของเขาเสียชีวิตหลังจากคลอดบุตรสาวชื่อจันทร์เลขา กาโลจึงรักลูกสาวมากเพราะถือว่าเป็นตัวแทนของเมียที่เสียชีวิตไปแล้ว

ความยากจนประกอบกับภาวะความแห้งแล้งและความฝืดเคืองในการประกอบอาชีพในช่วงภาวะสงครามเป็นแรงกดดันให้ผู้คนจำนวนมากพากันเดินทางหลั่งไหลเข้าไปสู่เมืองโกลกาตา (ออกเสียงในภาษาเบงกอล) หรือ เมืองกัลกัตตา (ออกเสียงในภาษาอังกฤษ) เมืองหลวงของแคว้นเบงกอลและเคยเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วย กาโลก็เป็นหนึ่งในผู้คนที่เดินทางเข้าไปเพื่อแสวงหางานทำในเมืองโกลกาตาด้วยเช่นเดียวกัน และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่กาโลได้เรียนรู้และตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมของสังคมชาวฮินดูที่มีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างเด็ดขาด ชัดเจนระหว่างการเดินทาง กาโลถูกจับข้อหาขโมยกล้วยของผู้โดยสารรถไฟคนหนึ่ง เนื่องจากความหิวโหยและถูกพิพากษาจำคุกอยู่สามเดือน ชีวิตในคุกทำให้กาโลได้รู้จักกับชายหนุ่มชื่อ บ.10 (บีเท็น-รหัสของนักโทษ) ซึ่งเป็นผู้ให้คำแนะนำ การใช้ “ลูกไม้ไสยศาสตร์” แก่กาโล เพื่ออุปโลกน์ตนเองขึ้นสู่วรรณะพราหมณ์ ซึ่งเป็นวรรณะสูงสุดในสังคมชาวฮินดู และนี่คือจุดเริ่มต้น ”การขี่เสือ” ของกาโลเพื่อ “เอาคืน” ผู้คนที่อยู่ในวรรณะเหนือกว่าและเคยกดขี่ข่มแหงกาโลมาก่อนกาโลใช้ “ลูกไม้ไสยศาสตร์” ด้วยการปล่อยข่าวความฝันของตนเองว่า “พระศิวะท่านเสด็จมาในฝัน เป็นนิมิตให้เห็นในตอนที่เขาหลับและตรัสว่าข้าถูกฝังจมดินอยู่ใต้ต้นไทรชรา ตรงลานว่าง ข้างถนนเบหูลา มีจอมปลวกเป็นเครื่องสังเกต ให้ขุดจอมปลวกออกเสีย แล้วก็รดน้ำลงไปตรงที่นั้น จนกว่าข้าจะปรากฎขึ้นมา

ด้วยกลอุบายของกาโลตามที่ได้รับคำแนะนำมาจากบีเท็น เขาก็ทำให้ รูปจำลองพระศิวะเสด็จมาปรากฏได้จริง โดยผุดขึ้นมาจากพื้นดินท่ามกลางสายตาของฝูงชนจำนวนมากที่สนใจใคร่รู้ที่มาชุมนุมเบียดเสียดยัดเยียดอยู่ล้อมรอบต้นไทร ฝูงชนเหล่านั้นจ้องมองดูปรากฏการณ์พระศิวะเสด็จด้วยความตกตะลึงพรึงเพริดจนพูดไม่ออก ผู้คนบางส่วนพากันบริจาคเงิน พวกผู้หญิงพากันถอดกำไลทองคำออกจากแขนเพื่อเป็นเครื่องพลีบูชาแด่พระศิวะเจ้า นี่เป็นก้าวแรกของกาโลที่ขึ้นไปนั่งขี่คร่อมอยู่บนความโกหกหลอกลวงอันเปรียบเสมือนเสือร้ายซึ่งเขาจะลงจากหลังมันไม่ได้เสียแล้วเพราะเสือมันจะกระโจนตะปบขึ้นคร่อมเขาและขย้ำกลืนเขาอย่างไม่มีปัญหา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก “อุบายไสยศาสตร์” ของกาโล ทำให้ผู้คนทั่วไป “รับรู้” ว่า กาโลเป็นพราหมณ์ ดังนั้นขั้นตอนต่อไปคือ การสร้างเทวาลัยเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระศิวะ และเพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของผู้ที่เคารพและศรัทธา จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปในความครุ่นคิดของกาโลนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วิธีที่เขาจะได้มีโอกาสในการแก้แค้น บัดนี้กาโล ช่างตีเหล็กและคนขี้คุก กลับมาเสวยชาติใหม่เป็นพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าอธิการเทวาลัย ที่จะคอยวางมือปราสาทพรลงบนหัวของชาวบ้านทุกชั้นวรรณะที่มาก้มนอบน้อมลงมากราบไหว้เขา ซึ่งที่แท้จริงแล้วคือกรรมกรช่างตีเหล็ก

ในสถานะพราหมณ์ซึ่งต้องประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้กับผู้ศรัทธาที่มาเคารพกราบไหว้บูชาที่เทวาลัย กาโลต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย เพราะเขาเองก็ไม่ประสาอะไรเลยกับพิธีกรรมและบทมนตร์หรือการสวดภาวนา เนื่องจากความรู้เช่นนี้ถูกจำกัดหวงแหนไว้ในหมู่ของพวกพราหมณ์เท่านั้น กาโลจึงต้องจ้างพราหมณ์ผู้หนึ่งมาเป็น “ปูชารี” ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่กระทำพิธีกรรมบูชา แต่ปัญหาใหญ่ที่กาโลแก้ไม่ตกคือ ความขัดแย้งในใจของตัวเขาเองระหว่างการเลือกยอมรับความจริงที่ว่า แท้จริงแล้วตัวเขาเองเป็นเพียงแค่กรรมกรผู้ใช้แรงงานที่ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ยากจนข้นแค้น แต่ก็ไม่ต้องปิดบัง อำพราง ซ่อนเร้น สถานะและเรื่องราวของตนเองกับใคร กับการเลือกอยู่ในสถานะพราหมณ์(ปลอม)ต่อไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งลาภสักการะอันเหลือเฟือ มีความเป็นอยู่สบาย แต่ก็ต้องระมัดระวัง ในการปิดบัง อำพราง ซ่อนเร้นสถานะแท้จริงของตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อมิให้ใครจับได้ไล่ทัน และการปิดบังซ่อนเร้นกำลังเริ่มมีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะเขาต้องพบปะกับผู้คนในวรรณะสูงกว่าตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งผู้ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต นักการเมือง นักอุตสาหการ นักธุรกิจและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และที่สำคัญคือกาโลได้พาจันทร์เลขา(ลูกสาว) นั่งคร่อมหลังเสืออยู่กับเขาด้วย แต่เธอไม่สามารถจะขี่มันได้อย่างสบายใจไม่หวั่นไหวเหมือนกับกาโลพ่อของเธอ และที่สำคัญคือจันทร์เลขากำลัง จะตกกระไดพลอยโจนไปกับพ่อมากยิ่งขึ้น เพราะเธอกำลังจะถูกสถาปนาขึ้นเป็น “พระแม่จ้าวเทพีแห่งพรทิพย์ทั้งเจ็ด”

แต่ท้ายที่สุด กาโลก็เริ่มตระหนักดีว่า เขากำลังขี่หลังเสือและไม่สามารถจะลงมาได้เขานั่งคร่อมอยู่ทั้ง ๆ ที่อยากจะเลิกแต่ก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อเจ้าสัตว์หน้าขนเยื้องย่องบ้างวิ่งบ้าง ตามใจชอบ แต่แม้ในขณะที่เขาคร่อมมันอยู่เขาก็ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าไม่มีทางใดที่จะลงจากหลังของมันได้นอกจากจะฆ่ามันเสีย โดยการยอมที่จะสละความสะดวกสบาย ที่ได้มาจากการอุปโลกน์ตนเองเป็นพราหมณ์(ปลอม) เพื่อให้ผู้อื่นยอมรับนับถือ เคารพและศรัทธา อันจะนำมาซึ่งลาภ สักการะต่าง ๆ แล้วกลับมายอมรับในตัวตนของตนเองตามความเป็นจริงโดยไม่เสียดายลาภสักการะต่าง ๆ เหล่านั้น ภาวะการขี่เสือก็จะยุติลงได้ กาโลจึงตัดสินใจเปิดเผยความจริงทั้งหมดของเขาในระหว่างการประกอบพิธีกรรมหนึ่งของเทวาลัย ซึ่งก็สร้างความโกรธแค้นให้กับคนวรรณะสูงต่าง ๆ ที่มาร่วมงานพิธีเมื่อรู้ว่าพวกเขาถูกกาโลหลอกลวง ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไป ที่อยู่ในวรรณะต่ำเช่นเดียวกับกาโลซึ่งมาร่วมพิธีด้วยจำนวนมากต่างพากันโห่ร้องชื่นชมที่กาโลในฐานะตัวแทนวรรณะของพวกเขา ที่ได้มีโอกาส ”เอาคืน” บรรดาผู้คนที่เคย เอารัดเอาเปรียบพวกเขาตลอดมาได้ เมื่อเปิดเผยความจริงแล้วกาโลกับจันทร์เลขา(ลูกสาว) ก็ออกจากเทวาลัยมาใช้ชีวิตตามความจริงของพวกเขาต่อไป โดยไม่มีอะไรที่ต้องห่วงกังวลที่จะปิดบังซ่อนเร้นอีกต่อไป

อุทาหรณ์:

ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ฯลฯ ต่างพากันแสวงหา ต่อสู้แย่งชิงกัน เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูง ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนถึงความสำเร็จของพวกเขา แต่หลายคนเมื่อได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องการแล้ว ก็ไม่มีความรู้ และความสามารถเพียงพอ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวนั้นได้ คนเหล่านี้จึงควร “เรียนรู้” ที่จะ “ปลดปล่อยตนเองออกมาจากจุดนั้น”โดยไม่ติดยึดอยู่กับลาภ สักการะต่าง ๆ ที่เคยมี เคยได้ ซึ่งถ้าทำได้ก็เปรียบเสมือนกับ “การฆ่าเสือ” ที่เคยขี่ไม่ให้กลับมาทำร้ายตนเองได้อีกต่อไป

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน

นายกสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ฟุ้ง 60 วันลุยงานหลายมิติ ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ แต่เมื่ออาสาจะบอกว่าเหนื่อยไม่ได้

“เศรษฐา” ฟุ้ง 60 วันลุยหลายมิติ แก้ปัญหาปากท้อง แก้หนี้ครัวเรือน กระตุ้นท่องเที่ยว ยันหาเสียงไม่เคยบอกยุบ กอ.รมน. ท้าเอาเทปมาเปิด ลั่น  60 วันชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ  อาสาเข้ามาทำงาน แต่ไม่มีสิทธิ์บอกว่าเหนื่อย ต้องอดทนทำงานหนักต่อไป ยอมรับภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี ต้องรุกกระตุ้นเศรษฐกิจ

การบริหารราชการแผ่นดิน: ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจำ

ระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาฯ) และฝ่ายตุลาการ โดยมีระบบราชการเป็นกลไกสำคัญ รองรับการดำเนินการของอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย

น่ารังเกียจ! จัดหนัก 'เศรษฐา' คนรวยพูดถึงคนจน จนน้ำลายไหลข้างปาก

คุณเศรษฐา ครับ สิ่งที่คุณพูดอยู่ใกล้จมูกคุณเอง เพียงแต่คุณไม่หันมองไปข้างหลังว่า ข้างหลังคุณมีคนรวยคนหนึ่งนั่งอยู่ และคนรวยคนนี้แหละที่คุณพ่อใช้ความรวย และ ใช้อำนาจ ทำให้ข้อสอบรั่วเพื่อให้ลูกของตัวเองได้เรียน เป็นการเอาเปรียบคนจน