กรีนพีซแฉค้าปลีกไทย 12 แห่งล้มเหลวจัดการปัญหาพลาสติก

ที่มาภาพ กรีนพีซ

กรีนพีซ ประเทศไทยเผยแพร่รายงาน “ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต และวิกฤตมลพิษพลาสติก : การจัดอันดับนโยบายพลาสติกของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทย ปี 2563”[1] ระบุ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ทั้ง 12 แห่งที่มีการสำรวจในรายงานยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน จะต้องปรับปรุงและมุ่งมั่นมากขึ้นในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติกอย่างเร่งด่วน

รายงานนี้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อประเมินนโยบายและแนวทางการจัดการพลาสติกของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยเพื่อประโยชน์สาธารณะ กรีนพีซ ประเทศไทยใช้แบบสำรวจที่ประกอบด้วยเกณฑ์ 4 ด้านหลัก คือ ด้านนโยบาย(Policy) ด้านการลดพลาสติก(Reduction) ด้านนวัตกรรมและการริเริ่ม(Initiatives) และด้านความโปร่งใส(Transparency) ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงและสื่อสาธารณะ ช่วงเวลาการประเมินคือระหว่างเดือนมิถุนายน 2563-กุมภาพันธ์ 2564

Lotus’s ซึ่งอยู่ในลำดับต้นจากการประเมินครั้งนี้ มีคะแนนรวมเพียง 29.1% รองลงมาคือ Makro ซึ่งมีคะแนน 21.9% ส่วน Tops, 7-Eleven, CP Freshmart, Big C, FamilyMart, Gourmet Market, MaxValu, Foodland, Villa Market, และ CJ Express มีคะแนนรวมไม่ถึง 20% สะท้อนว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยจะต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อลดรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) ของตน

นายพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “พลาสติกทุกชิ้นที่ผ่านจากร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นสามารถหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ทำลายสุขภาพของมนุษย์ เร่งเร้าให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตนี้ และต้องลงมือทำอย่างจริงจัง”

กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ลงมือทำดังต่อไปนี้ :

จัดทำยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนปฏิบัติการที่ระบุถึงเป้าหมายการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดการดำเนินกิจการอย่างชัดเจน แก้ปัญหาตรงจุดและวัดผลได้จริง  ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์และห่วงโซ่อุปทานของสินค้าทั้งหมด ทั้งสินค้าตราห้างและสินค้ายี่ห้ออื่น ๆ

ติดตามรอยเท้าพลาสติก(plastic footprint) ของบริษัท รายงานความคืบหน้าของบริษัทไปสู่เป้าหมายการลดพลาสติกในแต่ละปี และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งของบริษัทต่อสาธารณะ

ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติก โดยปรับเปลี่ยนไปสู่การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และมุ่งไปสู่การลดจำนวนรวมของบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ใช่เพียงทำให้สินค้ามีน้ำหนักเบาลงเท่านั้น ตลอดจนกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นและพลาสติกที่จัดการได้ยากเป็นอันดับแรก

สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อทดแทนการพึ่งพาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และนำระบบใช้ซ้ำและระบบเติมสินค้าที่ไม่สร้างขยะพลาสติกมาผนวกกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อการลดค่าใช้จ่ายด้านบรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังลดการปล่อยคาร์บอนและเป็นทางออกที่ยั่งยืนของวิกฤตพลาสติก

กดอ่านลิงค์ https://www.greenpeace.org/thailand/publication/22606/plastic-pollution-crisis-report-2021/

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นับถอยหลังค่าเฉลี่ยใหม่ PM 2.5 คุมฝุ่นพิษ

ช่วงสองเดือนมานี้หลายคนเจ็บป่วยด้วยอาการภูมิแพ้กำเริบ อักเสบบวมในช่องจมูก น้ำมูกไหลมากกว่าปกติ   เพราะมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่หายใจเข้าไปในวันที่สภาพอากาศย่ำแย่ เมืองห่มคลุมด้วยหมอกควันและมลพิษอากาศ ปัญหาฝุ่นพิษบั่นทอนสุขภาพคนไทยเป็นประจำทุกปี

เอ็นจีโอ รวมตัวออกแถลงการณ์ จี้สนง.ปรมาณูฯ แจงสาเหตุซีเซียม-137 หาย ที่ผ่านมากำกวม ไม่เคลียร์

มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทยได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีสารกัมมันตรังสีซีเซียม -137สูญหา

ข้าวสาร เริ่มขึ้นราคาแล้ว ก.ก.ละ 6 บาท แม่ค้าโอดต้นทุนสูงขึ้นแต่ยอดขายลดลง

ข้าวสารตามร้านค้าปลีกในตลาดสดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์หลายชนิดเริ่มปรับขึ้นราคาแล้ว ก.ก.ละ 6 บาท เพราะร้านค้าส่งปรับขึ้น แม่ค้าโอดต้นทุนสูงขึ้นแต่ยอดขายและกำไรกลับลดลง ชี้ไม่มีเงินที่จะกักตุนต้องซื้อมาขายต่อวันต่อวัน วอนรัฐควบคุมราคาไม่ให้ปรับขึ้นอีก