ถอดรหัส 'จีน' ศก.ซึมยาว-ฟื้นยาก รัฐบาลพลิกตำราปักหลักปี67โต5% จับตาอานิสงส์ส่งถึงไทย

“จีน” ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็น “มหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลก” ถนนสายการค้าและการลงทุนต่างพุ่งเป้าหมายไปที่จีนเป็นสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจจีนจะมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจน่าจับตามอง อีกทั้งเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทย ซึ่งถือเป็นอีกเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของไทยในช่วงที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย

แต่ก็มีจุดพลิกผันที่ทำให้ “เศรษฐกิจจีน” อาจไม่อยู่ในจุดที่โดดเด่นที่สุดเหมือนที่เคยผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนชัดเจนที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่นับปัญหาความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐที่ยืดเยื้อคาราคาซังมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 นั่นเป็นเหตุผลว่าหลายประเทศต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นฉากใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลายลง

ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ฉายภาพมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันให้ฟังว่า ตอนนี้ทุกคนต่างยอมรับกันว่าเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชะลอตัวลงจริง โดยจีนเองมีปัญหาทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 จากการควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแบบ 100% เต็ม มีการปิดพื้นที่ทันที ซึ่งการควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดของทางการจีนนั่นเอง ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนไปด้วยในที่สุด เศรษฐกิจจีนมีการซึมตัวลงค่อนข้างมาก ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2562 เอง จีนก็มีปัญหาเรื่องเทรดวอร์กับสหรัฐอยู่แล้ว ซึ่งทำให้จีนเริ่มส่งออกได้ยากขึ้น เมื่อผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการปิดประเทศ งดการเดินทางระหว่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้จีนส่งออกสินค้าได้น้อยลงกว่าเดิมมาก สอดคล้องกับดีมานด์ของโลกที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงปี 2563 ด้วย
ในปี 2564 ที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ยังอยู่ภายใต้ความเปราะบางนั้น จีนเองก็ยังคงได้รับผลกระทบใน 2 ประเทศ นั่นคือ สถานการณ์โควิด-19 และปัญหาเรื่องเทรดวอร์ โดยหากมองภาพที่แท้จริงจะพบว่า เศรษฐกิจจีนเพิ่งจะเริ่มมีการฟื้นตัวได้ในช่วงปี 2565 แต่ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะในปีดังกล่าวจีนก็มาเจอสถานการณ์ใหม่ นั่นคือ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ต่อเนื่องมาถึงสงครามระหว่างอิสราเองและฮามาส ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงซึมตัวต่อเนื่อง ก็ยิ่งส่งผลทำให้จีนยังคงส่งออกสินค้าได้น้อยลงเช่นเดิม นั่นทำให้จีนเองยังคงมีสัญญาณเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ในระดับต่ำ จนหลายฝ่ายมองว่ามีโอกาสที่จะโตได้ต่ำกว่า 5% ด้วยซ้ำ

DCIM/106MEDIA/DJI_0114.JPG

แต่ที่ผ่านมาจีนพยายามแก้เกมด้วยการใช้นโยบายการคลังในการประคับประคองเศรษฐกิจ ผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ จนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในปี 2566 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.2% ซึ่งดีกว่าที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะขยายตัวได้เพียง 4.5% เท่านั้น ส่วนในปี 2567 นั้น หลายฝ่ายยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 4.5% แต่ทางการจีนยังออกมายืนยันชัดเจนว่าปีนี้จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 5% ไม่ผิดเพี้ยน

“จีนได้ใช้นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังผสมผสานกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอัตราส่วนเงินสำรองทางกฎหมาย ที่จีนตั้งเป้าหมายลดจาก 11% เหลือ 10% ภายใน 1 ปี ซึ่งจะมีเม็ดเงินอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจีนเพิ่มเติมประมาณ 2.8 ล้านดอลลาร์ หรือถ้าเทียบเป็นเงินบาทจะเท่ากับราว 1-2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ทางการจีนยังมีการลดอัตราดอกเบี้ยหลายส่วน โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี 5 ปี (5 Year-Loan Prime Rate) ลงมาถึง 3% และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีก ดังนั้นทิศทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้จึงน่าจะเชื่อได้ว่าจะมีการเติบโตได้ 5% เพราะว่ากำลังซื้อภายในประเทศได้มีการฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน”

ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า จากการที่ได้มาเห็นบรรยากาศในประเทศจีนโดยตรง จะพบว่ากำลังซื้อของจีนโดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ๆ น่าจะมีสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ จากมาตรการเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและส่งออกได้ดีขึ้น เพราะตอนนี้ทิศทางการส่งออกของโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย มีการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 5-6 เดือน ซึ่งเศรษฐกิจจีนก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น ในปีนี้การที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ 5% นั้น ก็น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้ เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกไปด้วย นักท่องเที่ยวของจีนในปีนี้ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเป็นอันดับ 1 แทนที่มาเลเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากปี 2565 นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้าไทยเป็นอันดับ 1 โดยจากข้อมูลพบว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเติบโตเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น แต่ปีนี้ดูจากสัญญาณของการเข้ามาแล้ว น่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยราว 5-6 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการวีซ่าฟรีระหว่างไทย-จีน ก็น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน สัญญาณเรื่องการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายประมาณ 4.2 หมื่นบาทต่อคนในช่วงเวลา 9 วัน แต่ในปีนี้ จากสัญญาณต้นปีทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 หมื่นบาทต่อคน ดังนั้นจึงคาดว่านักท่องเที่ยวจีนมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างน้อย 5-6 ล้านคน ก็น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดที่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย 2-2.5 แสนล้านบาท และที่สำคัญเมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณของการเติบโตอย่างคงเส้นคงวาแล้ว ไทยก็น่าจะมีฐานของการส่งออกมายังประเทศจีนในปี 2567 ที่จะเติบโตได้ตามไปด้วย โดยคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของสินค้าไทยมายังจีนอย่างน้อยประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยสินค้าส่งออกหลักๆ ของไทยจะยังคงเป็นผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทุเรียน” และ “มังคุด” และที่สำคัญคือ “ผลิตภัณฑ์ยางพารา”

ธนวรรธน์ มองอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกที่จะเป็นผลต่อเศรษฐกิจไทยคือ เศรษฐกิจจีนที่กำลังฟื้นตัวอย่างคงเส้นคงวา จากการเริ่มใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยผ่อนคลายเป็นตัวนำ ขณะเดียวกันก็คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นจากคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยประมาณเดือน มิ.ย.นี้ และจะมีการลดอย่างน้อย 3 ครั้งโดยประมาณ ซึ่งก็จะเป็นอีกแรงที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในปี 2567 เติบโตได้ประมาณ 2.3-2.5% และเป็นปีของการเลือกตั้งในช่วงปลายปี เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น

เมื่อบรรยากาศของเศรษฐกิจสหรัฐค่อยๆ ฟื้นขึ้น บวกกับบรรยากาศที่เศรษฐกิจจีนเองก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้น สัญญาณของเศรษฐกิจยุโรปก็จะได้อานิสงส์ของการฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นเองในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 น่าจะมีสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จากการที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งจะทำให้ทิศทางหลักของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น มีทิศทางการฟื้นตัวขึ้นในช่วงของไตรมาสที่ 3/2567 เป็นต้นไป เหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยจะมีบรรยากาศของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ปีนี้หอการค้าไทยยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสที่จะลุ้น 3% ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. และที่สำคัญจะต้องจับตาดูว่ามาตรการ Digital Wallet จะถูกใช้เมื่อไหร่ เพราะว่าทางฝั่งรัฐบาลยืนยันจะใช้มาตรการดังกล่าวแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะรวดเร็วแค่ไหน ซึ่งก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะลุ้นเติบโตได้ถึง 3% แต่ตอนนี้หลายฝ่ายยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 2.6-2.8% ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน

ส่วนประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ธนวรรธน์ ระบุว่า การปรับ ครม.คงไม่ได้ถือเป็นการคำนวณไว้ แต่หอการค้าไทยประเมินว่าเสถียรภาพทางการเมืองยังเป็นเหมือนเดิม และยังไม่มีเหตุการณ์อะไรที่บ่งชี้ว่าการเมืองของไทยไร้เสถียรภาพ คงไม่มีภาพของการยุบสภา และก็ไม่มีภาพของการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง นโยบายสำคัญของรัฐบาลเองยังคงดำรงอยู่

ทั้งนี้ สมมุติฐานสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตน้อยหรือโตต่ำ หรือโตมากกว่า 3% นั้น จะขึ้นอยู่กับ 1.การขับเคลื่อนเม็ดเงินงบประมาณเร็วแค่ไหน 2.นโยบาย Digital Wallet จะถูกนำมาใช้ได้เมื่อไหร่ ถ้านโยบายดังกล่าวไม่ถูกใช้ และการขับเคลื่อนงบประมาณค่อนข้างช้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3% อย่างแน่นอน

ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ตลอดจนปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ (Geo politics) ระหว่างสหรัฐและจีนเอง ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูกันต่อไป โดยเชื่อว่าหากสถานการณ์ดังกล่าวสามารถคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีได้ ก็จะส่งผลต่อบรรยากาศสงครามของโลกให้เริ่มคลี่คลายลง เศรษฐกิจของโลกก็จะกลับมาเติบโตโดดเด่นขึ้น ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2568 ของโลกน่าจะดีขึ้น และทำให้ไทยมีโอกาสเติบโตได้ใกล้เคียง 4% มากขึ้นหากบรรยากาศเศรษฐกิจโลกเป็นใจ!!.

เพิ่มเพื่อน