'คมนาคม' เร่งสรรหาผู้ว่า 'รฟท-รฟม' สานต่องานระบบราง

‘คมนาคม’ เดินหน้าสรรหาผู้ว่าการ ‘รฟม.-รฟท.’ หลังครบวาระ มั่นใจได้ผู้บริหารระดับสูงรัฐวิสาหกิจจะได้เดินหน้าระบบรางที่ค้างให้ได้ไปต่อทั้ง รถไฟสายสีส้ม-รถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนผู้ว่า ฯกทพ.ไร้ปัญหาเจ้ากระทรวงไฟเขียวต่อให้นั่งแท่นผู้ว่าฯอีก1วาระหวังสานงานสร้างทางด่วนในภูมิภาคต่อ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสรรหา ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคมที่ครบวาระ4ปีในปีนี้ว่า จากที่ได้รับรายงานขณะนี้ กระทรวงคมนาคมจะต้องมีการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯในรัฐวิสาหกิจถึง 3 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ที่ครบวาระเมื่อเมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมา และ ตำแหน่งผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ซึ่ง ตำแหน่งนี้จะครบวาระในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนตำแหน่งผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)จะครบวาระในเดือน ส.ค.นี้

ล่าสุดทาง คณะกรรมการ รฟท. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ผู้ที่จะมาดำตำแหน่งผู้ว่า รฟท. คนใหม่ แล้วโดยมีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในฐานะกรรมการบอร์ด รฟท. เป็นประธาน ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาเพื่อกำหนดคุณสมบัติต่างๆ และประกาศสรรหา ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อไป ส่วนรฟม. นั้น ขณะนี้ได้รับรายงานว่าบอร์ด รฟม. ยังไม่มีการดำเนินการ แต่อย่างใด เชื่อว่าทางผู้ที่เกี่ยวข้องคงกำลังดำเนินการ โดยตนจะมีการหารือกับนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เพื่อกำหนดนโยบายในเรื่องนี้ต่อไป

ส่วนตำแหน่งผู้ว่า กทพ. ที่ปัจจุบันมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข เป็นผู้ว่าการ กทพ.นั้นปัจจุบันยังไม่หมดวาระและจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในช่วงเดือน ส.ค.67 นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่านายสุรเชษฐ์ จะได้ต่อวาระการเำรงตำแหน่งผู้ว่า กทพ. ไปอีก 1สมัย เนื่องจากงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ ยังมีโครงการทางด่วนทั้งใน กทม. ปริมณฑล รวมถึง ในต่างจังหวัดมีโครงการที่มีความสำคัญจะะต้องเร่งสานต่ออีกหลายโครงการ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในปีนี้กระทรวงคมนาคมพร้อมเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2  จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวม 275,303.78 ล้านบาท ,รถไฟความเร็วสูง ช่วงโคราช-หนองคาย เพื่อเสริมศักยภาพโครงข่ายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และรองรับการเชื่อมต่อระบบรางในภูมิภาคอาเซียน ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้นั้น คงต้องรอให้กระบวนการศาลฯให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะเดินหน้าต่อได้

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2  จำนวน 7 เส้นทาง ปัจจุบันออกแบบเสร็จแล้วทั้ง 7 เส้นทาง ประกอบด้วย1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ถือเป็นเส้นทางในเฟส 2 ที่มีความสำคัญในลำดับแรก เนื่องจากเป็นเส้นทางตามยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้ 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 3. ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ,4. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ,5. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 6. ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และ 7. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์

โดยโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 3 เส้นทาง วงเงินรวม 133,146 ล้านบาทนั้นทาง  คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติเห็นชอบดำเนินการ ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ราชธานี ระยะทาง 308 กม.วงเงิน 44,103 ล้านบาทและ 3.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์  ระยะทาง 45 กม. วงเงิน  7,900 ล้านบาท โดยทั้ง 3 เส้นทาง อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการฯ หลังจากนั้นรฟท.จะเสนอรายงานผลการประชุมคณะกรรมการฯในครั้งนี้ต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนระบบรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดไทย-จีน) ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 341,351 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการบอร์ด รฟท.พิจารณาภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้  ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำเล่มรายงานวิเคาะห์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (อีไอเอ) ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณเห็นชอบต่อไป สำหรับโครงการดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน ธ.ค.67 พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ธ.ค. 73

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้า ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงินค่าทดแทน เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

'รัดเกล้า' เผย คค. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน