เอาด้วย! 'สมาคมแบงก์รัฐ' ลดดอกเบี้ย 0.25% นาน 6 เดือน

‘สมาคมแบงก์รัฐ’ เด้งรับนโยบายรัฐบาล เอาด้วย!! ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% นาน 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบาง ด้าน ‘แบงก์รัฐ’ พาเหรดหั่นดอกเบี้ยเต็มสูบ

26 เม.ย. 2567 – นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีนโยบายช่วยเหลือบรรเทาภาระของลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในขณะนี้นั้น ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล

โดยธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ ไอแบงก์ ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เอ็กซอมแบงก์ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้าเอสเอ็มอี เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์) นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2567

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส. เปิดเผยว่า ธอส. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.795% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.545% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี รวมถึงลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย และลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ให้มีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ธอส. ยังพร้อมสนับสนุนการออมภาคประชาชน ให้มีวินัยทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการออมเงินที่ได้รับผลตอบแทนสูง จึงได้จัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” เพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป และมีวงเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 200,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อปี พิเศษ! ดอกเบี้ยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากปีละ 2 ครั้ง (29 มิ.ย. และ 29 ธ.ค.) โดยสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” ได้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. – 30 ธ.ค. 2567 หรือจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงินโครงการ ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ

ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า บสย. พร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โดยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 0.25% เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย และกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง มีผล 1 พ.ค. นี้

สำหรับผลดำเนินงาน บสย. ไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) สามารถอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวมกว่า 14,432 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 36,142 ราย โดยประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 5 ลำดับแรกได้แก่ 1.ภาคบริการ 29% วงเงิน4,287 ล้านบาท 2. ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 14% วงเงิน 2,085 บาท 3.ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค 11% วงเงิน1,490 ล้านบาท 4.ภาคธุรกิจสินค้าและเครื่องดื่ม 9% วงเงิน1,288 ล้านบาท และ 5.ภาคเกษตรกรรม 8% วงเงิน1,168 ล้านบาท

ขณะที่การดำเนินงานในไตรมาส 2 ยังคงเน้นนโยบายเชิงรุก ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ บสย. ดำเนินการเองรองรับความต้องการสินเชื่อ ได้แก่ โครงการ BI 7 (Bilateral) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Hybrid Guarantee โครงการค้ำประกันสินเชื่อค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Pricing : RBP)

อย่างไรก็ดี บสย. อยู่ในระหว่างการนำเสนอโครงการต่าง ๆ ต่อกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.โครงการตามนโยบายรัฐ IGNITE Thailand วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท ร่วมกับธนาคารพันธมิตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างเสนอต่อ ครม. 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุมัติและเสนอ ครม. คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs กว่า 76,000 ราย 3.โครงการแก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง การกำหนดให้นิติบุคคลผู้ให้บริการสินเชื่อเป็นสถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าในระบบได้มากกว่า 400,000 ราย และ4.โครงการร่วมลงทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (JV AMC) อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบความร่วมมือ เพื่อดำเนินการ ภายใต้กรอบเวลาตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรุงไทยขยับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ช่วยลูกค้าเปราะบาง 3 แสนบัญชี

“กรุงไทย” ขานรับมาตรการภาครัฐ ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME รายย่อย ลดภาระทางการเงิน เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-15 พ.ย.67 ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบางกว่า 3 แสนบัญชี วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ให้มีโอกาสปรับตัวและฟื้นตัว

นายกฯปลื้มแบงก์รัฐขานรับลดดอกเบี้ย 0.25%

นายกฯ ชื่นชมมาตรการสถาบันการเงินของรัฐ ขานรับนโยบายประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบาง เป็นระยะเวลานาน 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เชื่อมั่นเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชน