ธ.ก.ส. จ่อขยายวงเงิน 'โครงการล้านละร้อย' พร้อมตั้งเป้าปีบัญชี 67/68 ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 9 หมื่นล้าน

ธ.ก.ส.จ่อขยายวงเงิน ‘โครงการล้านละร้อย’ เพิ่มหากเต็ม 5 หมื่นล้าน เผยปีบัญชี 67/68 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 9 หมื่นล้าน เดินหน้าลด NPL เหลือ 3.69%

6 พ.ค. 2567 – นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการ “สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย” (โครงการล้านละร้อย) วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท โดยยืนยันว่า ธนาคารพร้อมจะขยายวงเงินอย่างแน่นอน เนื่องจากโครงการดังกล่าว ช่วยลดต้นทุนเกษตรกรที่เริ่มลงทุน หรือ diversified หรือยกระดับผลิตภัณฑ์ได้อย่างมาก ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรการเกษตร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงแค่ 0.01% ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี โดยเริ่มต้นโครงการครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนทั้งมิติของเงินทุนให้กับ กลุ่มเกษตรกรหัวขบวน รวมถึงมูลค่าเพิ่ม (value added) แต่จะทำอย่างไร เกษตรกรแต่ละส่วนจะต้องมีมุมมองเองประกอบด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของแต่ละเกษตรกรมีความแตกต่างกัน เช่น เรื่องอุตสาหกรรมดอกไม้ ไทยยังเป็นในรูปแบบการปลูกและส่งออกไปขาย ทำให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องการขนส่ง และการทำการตลาดค่อนข้างสูงมาก สุดท้ายเกษตรกรต้นน้ำได้เม็ดเงินน้อยมาก แต่หากสามารถทำได้ตั้งแต่การผลิต ไม่ใช่แค่การส่งดอกไม้ไปยังตลาดกลาง แต่สามารถส่งตรงไปถึงคนใช้ดอกไม้จริงๆ โดยไม่ผ่านคนกลาง มีการปลูกแบบพรีออเดอร์ หรือทำการท่องเที่ยวไปด้วย หรือเรียกว่า การเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว จึงมองว่า อุตสาหกรรมภาคการเกษตรจะต้องทำครบวงจร

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ด้านแผนการดำเนินงานของธนาคาร ในรอบปีบัญชี 67/68 (1 เม.ย. 67 – 31 มี.ค. 68) ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มอีก 90,000 ล้านบาท หรือ เติบโต 5.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการผลิตการเกษตรที่ฟื้นตัวขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเป้าหมายหลักในการปล่อยสินเชื่อปีนี้จะเน้นไปที่กลุ่มเกษตรกรรายกลางและรายใหญ่ประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อต้องการให้เกษตรกรที่แข็งแรงมาช่วยพัฒนารายย่อย ส่วนที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย

ขณะเดียวกันปีนี้ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เช่น โครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit), โครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน (Go Green : Forest Credit) เป็นต้น

ส่วนเงินฝากตั้งเป้าที่จะระดมเงินฝากปีนี้เพิ่มอีกประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือ เติบโต 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ สิ้นปีบัญชี 66/67 (1 เม.ย. 66 – 31 มี.ค. 67) ธนาคารมียอดสินเชื่ออยู่ 1.69 ล้านล้านบาท และเงินฝาก 1.89 ล้านล้านบาท หรือมีเงินฝากมากกว่าสินเชื่อประมาณ 2 แสนล้านบาท ถือเป็นการดำรงสภาพคล่องเพื่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และเป็นไปตามเกณฑ์อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปิดสิ้นปีบัญชี 66/67 อยู่ที่ 5.41% มูลหนี้ประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยในปีบัญชี 67/68 ตั้งเป้าจะลดหนี้เสียลงเหลือ 3.69% โดยหากการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามแผน จะช่วยให้ NPL ลดลงได้ ประกอบกับเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน ธ.ก.ส. ก็จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็น NPL ด้วย

ด้านโครงการล้านละร้อย วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ที่ปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรการเกษตร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงแค่ 0.01% ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี โดยเริ่มต้นโครงการครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าชุมชนฐานรากต้องการได้รับการส่งเสริมเรื่องของแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้คนที่มีแรงมีไอเดียเป็นหัวขบวนในการดึงพี่น้องเกษตรกรที่เป็นรายย่อยเข้ามาร่วมขบวนเพื่อร่วมกันทำธุรกิจชุมชนเพื่อขยับเศรษฐกิจฐานรากให้โตขึ้น โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยชดเชยดอกเบี้ยและ ธ.ก.ส. ลดดอกเบี้ยให้อีกส่วนหนึ่ง

“โครงการนี้ธ.ก.ส.และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย ล้านละร้อยในช่วง 3 ปีแรก เพื่อให้ชุมชนนั้นสามารถพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งโครงการในระยะที่ 1 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วประมาณ 2-3 พันราย วงเงินเฉลี่ย 3-5 ล้านบาทต่อราย คิดเป็นวงเงินรวมเกือบ -30,000 ล้านบาท และ ครม. ได้อนุมัติโครงการระยะที่ 2 เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 1 พันราย คิดเป็นวงเงินรวมอีก 5,800 ล้านบาท เท่ากับว่ายังเหลือวงเงินอีกประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งสำหรับเกษตรกรหัวขบวนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 68 โดยให้วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย” นายฉัตรชัย กล่าว

สำหรับผู้ที่จะขอสินเชื่อในโครงการดังกล่าวจะต้องมีแผนธุรกิจ มีทีมลูกไร่ หรือลูกขบวนสนับสนุนโครงการด้วย เพื่อให้โครงการนี้ถึงมือเกษตรกร และช่วยขยับรายย่อยจริงๆ โดยแผนธุรกิจจะถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อของธ.ก.ส.แต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเฟสที่ 1 และอยากต่อเฟส 2 มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าต้องเป็นโครงการใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเดิม หรือ เป็นการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการเดิม โดยที่ผ่านมา NPL ของโครงการอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 0.1% เท่านั้น โดย ธ.ก.ส. พร้อมที่จะขออนุมัติจากรัฐบาลเพื่อขยายโครงการในเฟสที่ 3 ต่อไป หากวงเงินที่เหลืออยู่หมดลง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชาชนสะท้อนปัญหาแก๊งดูดเงิน หวัง ธนาคาร-ธปท. รับผิดชอบเพิ่มขึ้น

นายนพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมการ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และอาจารย์ประจำหลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยความร่วมมือของสองสำนักโพลระหว่าง สยามเทคโนโพล และ ซูเปอร์โพล